สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 25
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๕ / เรื่องที่ ๕ โครงข่ายประสาทเทียม / การเรียนรู้ของโครงข่ายประสาทเทียม
การเรียนรู้ของโครงข่ายประสาทเทียม

โครงข่ายประสาทเทียมใช้ในการควบคุมการบินของอากาศยาน |
การเรียนรู้ของโครงข่ายประสาทเทียม
ผลการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์พบว่า การเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ
นั้น มีกระบวนการแตกต่างกันไปหลายๆ แบบ
แต่ละแบบก็อาจเหมาะสมกับแต่ละเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ
ในสาขาโครงข่ายประสาทเทียมนั้น
แนวคิดของกระบวนการเรียนรู้ จะประยุกต์มาจากผลการศึกษาทางพฤติกรรมศาสตร์
อาจกล่าวโดยทั่วไปได้ว่า การเรียนรู้คือ
กระบวนการซึ่งระบบประสาทปรับตัวเองไปตามสิ่งเร้า
จนกระทั่งสามารถให้ผลตอบได้ตามต้องการ
โดยใช้การปรับตัวแปรที่ควบคุมสภาพของตัวระบบเอง
การเรียนรู้ยังสามารถถูกมองได้ว่า
เป็นกระบวนการจัดชนิดของสิ่งเร้าทั้งหลาย ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วย
นั่นคือ เมื่อได้รับสิ่งเร้า หากระบบประสาทรู้จักสิ่งเร้านั้น
ก็จะให้ผลตอบได้ตามที่เคยเข้าใจไว้ แต่หากไม่รู้จัก
ก็พยายามปรับความเข้าใจในการจัดชนิดขึ้นใหม่ ในทางปฏิบัตินั้น
ระบบประสาทของสิ่งมีชีวิต จะปรับความเหนียวแน่นของการเชื่อมต่อ ที่ไซแนปส์
จนสร้างผลตอบต่อสิ่งเร้าได้ตามที่ต้องการ
สถานะที่กระบวนการของการเรียนรู้ ก็จะสิ้นสุดลง
เป็นสถานะที่ถือว่า ระบบประสาทได้รับความรู้ไปแล้ว
คำจำกัดความของกระบวนการเรียนรู้หมายถึงขั้นตอนต่อไปนี้
ขั้นที่ ๑
โครงข่ายประสาทถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อม
ขั้นที่ ๒
โครงข่ายประสาทเกิดการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลมาจากการกระตุ้นดังกล่าว
ขั้นที่ ๓
โครงข่ายประสาทตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมในแนวทางใหม่
อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้น ในโครงสร้างภายในโครงข่าย
เมื่อพิจารณาไปที่เฉพาะบริเวณหนึ่งๆ ของโครงข่ายประสาท
จะพบว่า การเชื่อมต่อของเซลล์ประสาท ที่บริเวณต่างๆ
นั้น สามารถมีรูปแบบที่แตกต่างกันได้หลายๆ แบบ
และกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละบริเวณ ก็ไม่เหมือนกันด้วย ในทำนองเดียวกัน
เทคนิคการเรียนรู้ของโครงข่ายประสาทเทียม ก็แตกต่างกันไป สำหรับแต่ละชนิดของโครงข่าย
|
|