สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 26
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๖ / เรื่องที่ ๑ นิทานพื้นบ้านไทย / นิทานชีวิต
นิทานชีวิต


|
นิทานชีวิต
นิทานชีวิตของไทยก็มีลักษณะเช่นเดียวกับนิทานชีวิตของชาติอื่นๆ
คือ เรื่องที่เล่า เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริง นอกเหนือจาก
จะบอกชื่อและฐานะตำแหน่งของตัวละครไว้อย่างชัดเจนแล้ว
ยังระบุสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ ด้วยเหตุที่สถานที่ในนิทานชีวิตคือ
สถานที่ในท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยนี่เอง ดังนั้น
นิทานชีวิตของไทยบางเรื่อง จึงมีลักษณะเป็นนิทานประจำถิ่นด้วย เช่น
เรื่องไกรทอง เป็นนิทานประจำถิ่นจังหวัดพิจิตร เรื่องขุนช้างขุนแผน
เป็นนิทานประจำถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
นิทานชีวิตมักเป็นเรื่องขนาดค่อนข้างยาว
ตัวละครส่วนใหญ่เป็นคน อาจมีตัวละครที่เป็นสัตว์และอมนุษย์ เช่น
ผีสางเทวดา บ้าง เรื่องเล่าที่อาจถือว่า เป็นนิทานชีวิตของไทย ได้แก่
เรื่องพระลอ ไกรทอง และขุนช้าง-ขุนแผน เป็นต้น
ตัวละครในนิทานชีวิตมีลักษณะเป็นมนุษย์ธรรมดา
ถ้าเทียบกับตัวละครในนิทานจักรๆ วงศ์ๆ พระเอก เช่น พระลอ ขุนแผน ไกรทอง
ไม่ใช่มนุษย์วิเศษที่เกิดมาพร้อมกับของวิเศษ มีพระอินทร์
หรือฤๅษีคอยช่วยเหลือ พระเอก และนางเอก ในนิทานชีวิต
มีความเป็นมนุษย์สามัญ อยู่ภายใต้อำนาจของความโลภ ความโกรธ และความหลง
เช่นเดียวกับมนุษย์ที่เป็นปุถุชนทั้งหลาย
ในนิทานชีวิตของไทยมีเหตุการณ์ที่เป็นความมหัศจรรย์อยู่หลายตอน
แต่ถ้าเปรียบเทียบกับความมหัศจรรย์ในนิทานจักรๆ วงศ์ๆ แล้ว จะเห็นว่า
มีลักษณะไม่เหมือนกันทีเดียว ความมหัศจรรย์ในนิทานจักรๆ วงศ์ๆ
มักเป็นสิ่งเหลือวิสัย
มากกว่าเป็นความมหัศจรรย์ที่บันดาลให้เกิดขึ้นโดยอมนุษย์ เช่น พระอินทร์
หรือเทวดาองค์อื่น หรือฤๅษี หรือเกิดขึ้นด้วยบุญบารมีของตัวละครเอง เช่น
การชุบชีวิต การเนรมิต และการเหาะเหินเดินอากาศ ฯลฯ ส่วนความมหัศจรรย์
ในนิทานชีวิต มักเกิดจากอำนาจไสยศาสตร์ เช่น ในเรื่อง ขุนแผน และไกรทอง
ในนิทานชีวิต อาจมีเรื่องของอำนาจพ่อมดหมอผี และผีสางประจำป่าเขาบ้าง เช่น
เรื่องพระลอ เรื่องของไสยศาสตร์ และผีสางประจำป่าประจำเขาเช่นนี้
เป็นสิ่งที่อยู่ในความเชื่อถือของคนไทยมาช้านาน
แม้ในปัจจุบันก็ยังมีผู้เชื่อถืออยู่ |
|