สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 26
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๖ / เรื่องที่ ๗ ส้ม / โรคและแมลงศัตรูสำคัญของส้ม
โรคและแมลงศัตรูสำคัญของส้ม





|
โรคและแมลงศัตรูสำคัญของส้ม
โรคสำคัญของส้มที่เข้าทำลาย
และพบระบาดในแหล่งปลูกส้มต่างๆ ได้แก่ โรคแคงเกอร์ โรครากเน่าและโคนเน่า
โรคใบเปื้อนน้ำหมาก หรือโรคเมลาโนส โรคแผลสะเก็ด หรือโรคสแค็บ โรคผลร่วง
หรือโรคขั้วผลเน่า โรคทริสเตซา โรคกรีนนิง
และอาการผิดปกติที่เกิดจากการขาดธาตุอาหาร ส่วนแมลงและไรศัตรูส้มที่สำคัญ
ซึ่งทำลาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่การปลูกส้ม ได้แก่ หนอนชอนใบส้ม
หนอนแก้วส้ม เพลี้ยไฟ ไรแดง และไรสนิม
โรคและแมลงศัตรูส้มสำคัญบางชนิดที่เกษตรกรควรรู้ ได้แก่
๑. โรคแคงเกอร์
เป็นโรค
ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. citri
มักพบการระบาดในระยะที่ส้มแตก หรือผลิใบอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน คือ
ประมาณเดือนมิถุนายนจนถึงตุลาคม หรือพฤศจิกายน แต่อาจพบโรคนี้ได้ประปราย
ในช่วงระยะเวลาอื่นๆ บริเวณที่พบโรคนี้มาก ได้แก่ สวนที่ค่อนข้างรกทึบ
มีการระบาดของหนอนชอนใบมาก หรืออาจพบในสวนส้มที่ปลูกในพื้นที่โล่งแจ้ง
ไม่มีต้นไม้ใหญ่ล้อมสวนก็ได้ นอกจากนี้ ยังพบมากในสวนส้มที่มีการปลูกมะนาว
หรือมะกรูดไว้ตามคันล้อมอีกด้วย การป้องกันกำจัดโรคนี้สามารถปฏิบัติได้โดย
๑. ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ไม้ผลชนิดต่างๆ สน กระถินเทพา หรือไม้โตเร็วอื่นๆ ล้อมรอบสวนหรือแปลงปลูกเพื่อเป็นแนวกำบังลม
๒.
ไม่ควรปลูกมะนาว หรือมะกรูดในแปลงปลูกส้มเขียวหวาน หรือส้มโอ เพราะมะนาว
และมะกรูด เป็นส้มพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์
และมักเป็นแหล่งสะสมเชื้อสาเหตุของโรค
๓. ป้องกันกำจัดหนอนชอนใบส้ม ซึ่งส่งเสริมการแพร่ระบาดของโรค
๔.
โรคแคงเกอร์สามารถป้องกันได้โดยการใช้สารประกอบของทองแดง เช่น
คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ หรือคอปเปอร์ในรูปของบอร์โดมิกซ์เจอร์
(จุนสีผสมกับปูนขาวในอัตรา ๖๐ - ๘๐ กรัม ต่อ ๘๐ - ๑๐๐ กรัม ละลายในน้ำ ๒๐
ลิตร) หรือคิวปริกไฮดรอกไซด์ ในอัตรา ๑๐ - ๒๐ กรัมผสมน้ำ ๒๐ ลิตร
ฉีดพ่นในระยะส้มแตกใบอ่อน หรือในช่วงระยะเวลาต้นฤดูฝน
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ฉีดพ่นประมาณ ๑๐ - ๑๕
วัน / ครั้ง เพื่อป้องกันโรค และ ๕ - ๗ วัน / ครั้ง โดยฉีดพ่น ๒ - ๓ ครั้ง
ติดต่อกันเพื่อควบคุมรักษาโรค
๕. การระบาดของโรคแคงเกอร์
หากรุนแรงมากจนการใช้สารประกอบของทองแดง หรือคอปเปอร์ไม่ได้ผล
ก็จำเป็นต้องใช้สารปฏิชีวนะประเภทสเตร็ปโตไมซิน ในอัตรา ๓๐๐ - ๕๐๐
ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) ฉีดพ่นประมาณ ๗ - ๑๐ วัน / ครั้ง
แต่การใช้สารปฏิชีวนะมีข้อจำกัด และข้อควรระมัดระวังมาก
๒. โรคเมลาโนส หรือโรคราน้ำหมาก
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา
Cercospora citri พบระบาดมากในฤดูแล้ง หรือประมาณเดือนตุลาคมถึงเมษายน
โรคนี้มักเกิดกับใบที่เริ่มเพสลาด โดยเกิดตุ่มคล้ายกระดาษทรายน้ำ
หรือเกิดรอยเปื้อนคล้ายน้ำหมากบนใบ โดยเฉพาะด้านใต้ใบ และอาจเกิดกับกิ่ง
ทำให้แห้งตายจากปลายกิ่งได้ สามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้โดย
๑. ตัดแต่งกิ่ง และทรงพุ่มของต้นส้มไม่ให้รกทึบ
๒.
หากพบโรคในระยะแรกเริ่ม และไม่มีการระบาดมาก
ควรรีบตัดกิ่งที่เป็นโรคและเผาทำลาย ฉีดสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น
ซีเนบ มาเนบ หรือแมนโคเซบ เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
๓.
ในกรณีที่เกิดการระบาดของโรค ควรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราโพรพิเนบ
คลอโรทาโลนิล หรือคาร์เบนดาซิม ฉีดพ่น ประมาณ ๗ - ๑๐ วัน/ครั้ง ฉีดพ่น ๒ -
๓ ครั้งติดต่อกัน
๓. โรครากเน่าและโคนเน่า
จัดเป็นโรคที่รุนแรงมากอย่างหนึ่ง
สำหรับการปลูกส้ม เกิดจากการทำลายของเชื้อรา Phytophthora parasitica
ทำให้เกิดอาการแผลเน่าสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลแดงบริเวณโคนต้น กิ่ง
และรากของต้นส้ม อาจพบอาการยางไหลจากแผลบริเวณโคนต้น
ต้นส้มที่เป็นโรคมักมีสภาพทรุดโทรมไม่สมบูรณ์แข็งแรง มีการแตกใบน้อย
ใบมักมีสีเหลืองซีด ต้นที่เป็นโรครุนแรงจะมีอาการคล้ายต้นพืชที่ขาดน้ำ
มักระบาดรุนแรงมากกับต้นส้มที่ปลูกในดินเปรี้ยว การป้องกัน และกำจัดโรคนี้
สามารถปฏิบัติได้โดย
๑. การใช้พันธุ์ส้มที่มีความต้านทาน
หรือทนต่อโรค และการเข้าทำลายของเชื้อราสาเหตุ เช่น ส้มพันธุ์ทรอยเยอร์
(troyer) พันธุ์คาริโซ (carizo)
เป็นต้นตอสำหรับการติดตาด้วยยอดพันธุ์ดีหรือพันธุ์ที่ต้องการ
๒.
การปรับปรุงคุณภาพของดิน และความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยการใช้อินทรียวัตถุ
และปรับความเปรี้ยวของดิน โดยการใช้วัสดุประเภทปูนที่ใช้ในทางการเกษตร
เช่น ปูนมาร์ล ปูนโดโลไมต์
๓. ดินที่ปลูกส้มต้องมีการระบายน้ำดี
ไม่มีสภาพขังน้ำ บริเวณโคนต้นส้มต้องมีลักษณะเป็นเนินไม่เป็นแอ่ง ทรงพุ่ม
และภายในเรือนพุ่มต้นส้ม ต้องไม่รกทึบ เพื่อให้อากาศ
และแสงแดดผ่านได้สะดวก
๔. หากพบแผลของโรคที่บริเวณโคนต้นส้ม
ให้ถากเปลือกลำต้นที่เป็นแผลออก
แล้วทาแผลด้วยสารละลายของสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น บอร์โดมิกซ์เจอร์
โฟซทิลอัล หรือฟอสฟอรัส แอซิด
๕. การใช้จุลินทรีย์ควบคุม
และป้องกันโรค เช่น การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.)
โรยดินบริเวณทรงพุ่ม เพื่อควบคุม และกำจัดเชื้อรา สาเหตุของโรค
๔. โรคทริสเตซา
โรคนี้เกิดจากการทำลายของเชื้อไวรัส
ที่เรียกว่า Citrus tristeza virus หรือ CTV พบว่า
โรคนี้เข้าทำลายส้มได้ทุกสายพันธุ์ แต่มะนาวเป็นพันธุ์ส้มที่อ่อนแอต่อโรค
และแสดงอาการของโรคได้รุนแรงมากกว่าส้มพันธุ์อื่นๆ ต้นส้มที่เป็นโรคนี้
จะมีใบอ่อนที่มีสีเขียวซีดหรือด่าง เส้นใบมีอาการโปร่งแสงเป็นขีดสั้นๆ
ใบมีขนาดเล็กผิดปกติ มีการติดผลมาก แต่ผลมักหลุดร่วงง่าย ผลมีขนาดเล็ก
บริเวณลำต้น หรือกิ่งใหญ่ๆ มีลักษณะไม่เรียบ คล้ายบิดเป็นคลื่น
หรือเป็นร่องยาว ขนานกับลำต้นหรือกิ่ง
และเมื่อเปิดเปลือกบริเวณที่เป็นร่องออก จะพบว่า
เนื้อไม้เป็นร่องเว้าบุ๋มลึกลงไป โรคนี้ระบาด
โดยการขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง หรือติดตาจากต้นพันธุ์ที่เป็นโรค
และมีแมลงพาหะนำโรค คือ เพลี้ยอ่อน สำหรับการหลีกเลี่ยง
และป้องกันโรคนี้ควรปฏิบัติ ดังนี้
๑. เลือกต้นพันธุ์ หรือขยายพันธุ์ ต้นส้มจากต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป็นโรค หรือเป็นต้นพันธุ์ส้มที่ปลอดโรค
๒. ดูแลให้ต้นส้มสมบูรณ์แข็งแรงด้วยการให้ธาตุอาหารและน้ำอย่างเหมาะสมกับความต้องการของต้นส้ม
๓. ป้องกันและควบคุมกำจัดเพลี้ยอ่อนซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรค
๕. โรคที่เกิดจากการขาดธาตุอาหาร
เนื่องจากต้นส้มต้องการธาตุอาหารครบทั้ง
๑๖ ธาตุ และมีความอ่อนแอต่อการขาดธาตุอาหารรอง คือ ธาตุแมกนีเซียม
ธาตุสังกะสี และธาตุเหล็ก ต้นส้มที่ขาดธาตุอาหารต่างๆ
จึงมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ขนาดของใบเล็กลง ใบมีสีเหลืองเขียวซีดต่างๆ
กัน การขาดธาตุแมกนีเซียมทำให้ใบส้มมีสีเหลือง โดยเส้นกลางใบ และพื้นที่ใบ
บริเวณโคนใบ มีสีเขียวเป็นรูปลิ่ม หรือตัววี (V) กลับหัว
แต่ถ้าต้นส้มขาดธาตุสังกะสี ใบส้มจะเขียวซีดหรือเหลือง โดยที่เส้นกลางใบ
และเส้นแขนงมีสีเขียว โรคที่เกิดจากการขาดธาตุอาหารนี้
เกิดจากการที่ต้นส้มได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ
หรือต้นส้มไม่สามารถดูดธาตุอาหาร ที่มีอยู่ในดินไปใช้ประโยชน์ได้
การปรับปรุงสภาพ และคุณสมบัติของดินที่ปลูก ให้มีความอุดมสมบูรณ์
และเหมาะสม โดยการใช้อินทรียวัตถุ การให้ธาตุอาหารอย่างสมดุล
และเพียงพอแก่ต้นส้ม จะสามารถป้องกัน และแก้ไขโรคนี้ได้
๖. หนอนชอนใบ
เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก
ตัวหนอนมีสีเหลืองอ่อน มักเข้าทำลายใบอ่อนโดยการชอนไชอยู่ใต้บริเวณผิวใบ
และดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบส้มเกิดร่องรอยคดเคี้ยวเป็นทาง และบิดเบี้ยว
ม้วนงอ นอกจากจะทำให้ต้นส้มแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตแล้ว
บาดแผลที่เกิดจากการทำลายของหนอนชอนใบ
จะเป็นช่องทางให้โรคแคงเกอร์เข้าทำลายซ้ำอีกด้วย
หนอนชอนใบสามารถระบาดในสวนส้มได้ตลอดปี หรือทุกครั้งที่ต้นส้มแตก
หรือผลิใบอ่อน แต่มักมีการระบาดรุนแรงมาก ในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม -
เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่มีโรคแคงเกอร์ระบาด
สามารถป้องกัน และกำจัดหนอนชอนใบส้มได้ โดยการใช้แมลงห้ำ และแมลงเบียน
หรือการใช้สารเคมีในกลุ่มของไดเมทโทเอท ฟลูเฟนนอกซูรอน อิมิดาโคลปริก
หรือสารเคมี ตามคำแนะนำของนักวิชาการ บางครั้งหากหนอนมีการระบาดรุนแรงมาก
หรือเมื่อฉีดสารเคมีทั่วไปตามที่แนะนำแล้ว
แต่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ก็จำเป็นต้องใช้เมทโทมิล เปอร์เมทริน
ไซเปอร์เมทริน ไซเปอร์เมทรินแอลฟา
๗. เพลี้ยไฟ
เป็นแมลงศัตรูที่มีขนาดเล็ก
พบระบาดในสวนส้มทั่วไป ทำลายยอดอ่อน และใบอ่อน ทำให้ยอดอ่อนหงิกงอ
ใบอ่อนบิดเบี้ยว เพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยงของดอก และทำให้ดอกร่วงได้
พบการระบาดทำลายของเพลี้ยไฟในช่วงฤดูหนาว - ฤดูร้อน คือ
ประมาณตั้งแต่เดือนตุลาคม - เดือนเมษายน
และอาจพบการระบาดในฤดูฝนในระยะเวลาที่ฝนทิ้งช่วงได้เช่นกัน การป้องกัน
และกำจัดเพลี้ยไฟ สามารถใช้วิธีการให้น้ำ เหนือยอดต้นส้ม
และเลือกใช้สารเคมี เพื่อการควบคุม และกำจัด เช่น
อิมิดาโคลปริกฟลูเฟนนอกซูรอน ให้เหมาะสม และถูกต้อง
ภายใต้คำแนะนำของนักวิชาการ สำหรับสารเคมีประเภทกำมะถันผง
ก็สามารถใช้ในการฉีดพ่น เพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟได้ แต่ต้องระมัดระวัง
ไม่ควรฉีดพ่นในระยะใบอ่อน และระยะดอก เพราะกำมะถันผงอาจทำให้ใบอ่อนไหม้
และดอกร่วงได้
๘. หนอนแก้วส้ม
เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางวันที่มีลายสีดำเหลือง
ไข่มีรูปร่างกลมสีเหลือง ขนาดประมาณหัวเข็มหมุดเป็นฟองเดี่ยวๆ บนใบส้ม
หนอนแก้วส้มระยะวัยแรกๆ เมื่อฟักออกจากไข่ จนถึงระยะวัยที่ ๔
มีสีดำขาวคล้ายขี้นก หรือขี้หนอน มีลักษณะคล้ายหนามบนลำตัว
เมื่อโตขึ้นเป็นหนอนระยะวัยที่ ๕ ลำตัวหนอนจะมีสีเขียวแกมสีเหลือง
และมีขนาดค่อนข้างใหญ่
หนอนแก้วส้มจะเริ่มกัดกินใบอ่อนตั้งแต่ระยะที่เพิ่งฟักออกจากไข่
เมื่อมีขนาดโตขึ้น จะกัดกินทำลายใบส้ม ทั้งใบอ่อน และใบแก่ได้รวดเร็วมาก
ทำให้ยอดส้มโกร๋น เหลือแต่ก้านใบ หรือกิ่งก้าน
เป็นแมลงศัตรูที่ระบาดทำลายส้มในฤดูฝน คือ ประมาณตั้งแต่เดือนพฤษภาคม -
ตุลาคม หากพบผีเสื้อกลางวันตัวแม่เริ่มวางไข่
ต้องเฝ้าระวังการทำลายของหนอน อาจป้องกัน โดยการใช้กับดักแสงไฟ
เมื่อพบหนอนหรือการทำลายยังไม่มาก ให้ใช้วิธีจับตัวหนอนออกจากต้นส้ม
หรือการฉีดพ่นด้วยสารสกัดจากสะเดา
หรือสารป้องกันกำจัดแมลงที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
๙. ไรแดงหรือไรแดงแอฟริกัน
เป็นศัตรูพืชที่มีขนาดเล็ก
ต้องใช้แว่นขยายส่องดู จึงจะมองเห็นได้ชัดเจน
จัดเป็นสัตว์จำพวกเดียวกับแมงมุม ไม่จัดเป็นแมลง ลำตัวกลมค่อนข้างแบน
มีสีน้ำตาลหรือสีแดงเข้ม มีขา ๔ คู่ ทั้งตัวอ่อน และตัวแก่
เข้าทำลายใบและผลอ่อนของส้ม โดยทำลายเซลล์ผิวหน้าใบ
ทำให้สีใบเปลี่ยนเป็นสีเขียวจางหรือซีด และหน้าใบไม่เป็นมัน
มีลักษณะเป็นคราบผงคล้ายฝุ่น หรือผงสีขาวอยู่บนใบ
ผิวของผลที่ถูกดูดกินน้ำเลี้ยง จะมีสีเขียวซีด และกระด้าง
ผลจะมีการเจริญเติบโตน้อยลง หรือไม่มีการเจริญเติบโต แคระแกร็น
ทำให้ผลมีขนาดเล็ก และไม่สมบูรณ์ ไรแดงมีการระบาดทำลายส้มมาก ในฤดูแล้ง
หรือในระยะเวลาที่ฝนทิ้งช่วง
๑๐. ไรสนิม
เป็นศัตรูพืชที่มีขนาดเล็กเช่นเดียวกันกับไรแดงแอฟริกัน
ตัวอ่อนเมื่อฟักออกมาใหม่ๆ มีสีน้ำตาลอ่อน และเมื่อมีอายุมากขึ้น
ลำตัวจะมีสีเข้มมากขึ้น จนมีสีเหลืองเข้ม หรือสีเหลืองปนน้ำตาล มีขา ๔ คู่
โดยขา ๒ คู่อยู่ทางด้านหน้าลำตัว และอีก ๒ คู่อยู่ทางด้านหลังของลำตัว
ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของไรสนิม สามารถเข้าทำลายส้มได้ ทั้งบนใบและผล
โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ผิวใบ และเปลือกผล ทำให้ใบมีลักษณะกระด้าง
หน้าใบไม่มัน และมีสีเขียวคล้ำ เปลือกของผลส้มที่ถูกไรสนิมดูดกินน้ำเลี้ยง
จะเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลแดง หรือสีแดงคล้ำคล้ายสนิมเหล็ก
เมื่อผลส้มสุก โดยเฉพาะส้มเขียวหวาน เปลือกผลจะเปลี่ยน เป็นสีเหลือง
หรือสีส้ม บริเวณเปลือกส้มที่ถูกไรสนิมทำลายยังคงมีสีน้ำตาลแดง
หรือสีแดงคล้ำ เรียกกันว่า ผิวส้มแบบบางมด และเรียกส้มเขียวหวาน
ที่มีลักษณะดังกล่าวว่า “ส้มบางมด” การระบาดทำลายของไรสนิม เกิดในฤดูแล้งเหมือนกับไรแดงแอฟริกัน
|
|