ลิเกยุคต่างๆ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 27
เล่มที่ ๒๗
เรื่องที่ ๑ ลิเก
เรื่องที่ ๒ การบริหารราชการ
แผ่นดิน
เรื่องที่ ๓ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
เรื่องที่ ๔ เทคนิคการผลิต
ไม้ผลนอกฤดู
เรื่องที่ ๕ ไฮโดรพอนิกส์
เรื่องที่ ๖ พิษภัยของแอลกอฮอล์
เรื่องที่ ๗ ผู้สูงอายุ
เรื่องที่ ๘ พลังงานนิวเคลียร์
เรื่องที่ ๙ การปฏิวัติทางพันธุกรรม
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๗ / เรื่องที่ ๑ ลิเก / ลิเกยุคต่างๆ

 ลิเกยุคต่างๆ
ลิเกยุคต่างๆ

ยุค
ลิเกสวดแขก 

คือ ยุคที่ชาวไทยมุสลิมเดินทางจากภาคใต้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพมหานคร ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แล้วได้นำการสวดสรรเสริญพระเจ้าประกอบการตีรำมะนา (กลองหน้าเดียวตีประกอบลำตัดในปัจจุบัน) เข้ามาด้วย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ลูกหลานชาวไทยมุสลิม ก็ใช้ภาษาไทยแทนภาษามลายู สำหรับการแสดงลิเกสวดแขกนั้น ผู้แสดงชายนั่งล้อมเป็นวงกลม มีคนตีรำมะนาเสียงทุ้มและแหลม ๔ ใบ หรือ ๑ สำรับ การแสดงเริ่มด้วยการสวดสรรเสริญพระเจ้าเป็นภาษามลายู จากนั้นก็ร้องเพลงด้นกลอนภาษามลายูตอนใต้ เรียกกันว่า ปันตุน หรือ ลิเกบันตน ต่อมาแปลงจากภาษามลายูเป็นภาษาไทย การแสดงบางครั้งมีการประชันวงร้องตอบโต้กัน จนกลายมาเป็นลำตัดในปัจจุบัน
การสวดคฤหัสถ์แสดง
การสวดคฤหัสถ์แสดง
ยุคลิเกออกภาษา

คือ ยุคที่ลิเกนำเพลงออกภาษาของการบรรเลงปี่พาทย์ และการสวดคฤหัสถ์ในงานศพสมัยรัชกาลที่ ๕ มาเพิ่มเข้าไปในการแสดงลิเก เพลงออกภาษาเป็นการแสดงล้อเลียนชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครในขณะนั้น ด้วยการนำการแต่งกาย น้ำเสียงในการพูดภาษาไทย ปนกับภาษาของตน และเพลงที่ขับร้องในหมู่ชาวต่างชาติเหล่านั้น มาล้อเลียนเป็นที่สนุกสนาน ผู้ชมนิยมกันมาก เมื่อลิเกนำมาใช้ก็เริ่มต้นการแสดงด้วยการสวดแขกเป็นการออกภาษามลายู เพราะถือว่าเป็นการแสดงที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสิริมงคล แล้วจึงต่อด้วยภาษาอื่นๆ เช่น มอญ จีน ลาว ญวน พม่า เขมร ญี่ปุ่น ฝรั่ง ชวา อินเดีย ตะลุง (ปักษ์ใต้) การแสดงออกภาษาเป็นการแสดงตลกชุดสั้นๆติดต่อกันไป ต่อมาปรับปรุงการแสดงมาเป็นเริ่มต้นด้วยสวดแขก แล้วต่อด้วยชุดออกภาษาแสดงเป็นละครเรื่องยาวอีก ๑ ชุด
ลิเกทรงเครื่องยุคต้นๆ
ลิเกทรงเครื่องยุคต้นๆ

นายหอมหวล นาคศิริ
นายหอมหวล นาคศิริ
ยุคลิเกทรงเครื่อง 

การแสดงลิเกออกภาษาในส่วนที่เป็นสวดแขก กลายเป็นการออกแขก มีผู้แสดงแต่งกายเลียนแบบชาวมลายูออกมาร้องเพลงอำนวยพร มีตัวตลกถือขันน้ำตามออกมาให้ผู้แสดงเป็นแขกประพรมน้ำมนต์ เพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนที่เป็นชุดออกภาษา กลายเป็นละครเต็มรูปแบบ ซึ่งวงรำมะนายังคงใช้บรรเลงตอนออกแขก แต่ใช้ปี่พาทย์บรรเลงในช่วงละคร เครื่องแต่งกายหรูหราเลียนแบบข้าราชสำนัก ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงเรียกว่า ลิเกทรงเครื่อง ลิเกทรงเครื่องแสดงในโรง (วิก) และเก็บค่าเข้าชม เกิดขึ้นโดยคณะของพระยาเพชรปาณี ข้าราชการกระทรวงวัง ซึ่งนำแสดงโดยภรรยา ของตน วิกพระยาเพชรปาณีตั้งอยู่นอกกำแพง เมือง หน้าวัดราชนัดดาราม ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๐ ลิเกทรงเครื่องแพร่หลายไปทั่วภาคกลางอย่างรวดเร็ว มีวิกลิเกเกิดขึ้นมากมาย ต่อมามีการนำเนื้อเรื่องและขนบธรรมเนียมของละครรำมาใช้ จนถึงขั้นแสดงเรื่องอิเหนา ตามบทพระราชนิพนธ์ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ลิเกทรงเครื่อง ก็ประสบปัญหาการขาดแคลนวัสดุเครื่องแต่งกายซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ผ้าและเพชรเทียม จนในที่สุดการแต่งกายชุดลิเกทรงเครื่องก็หมดไป วงรำมะนาที่ใช้กับการออกแขกก็เปลี่ยนไปใช้วงปี่พาทย์แทนเพื่อเป็นการประหยัด เพลงรานิเกลิงหรือเพลงลิเก เกิดขึ้นโดย นายดอกดิน เสือสง่า ในยุคลิเกทรงเครื่องนี้เอง และต่อมา นายหอมหวล นาคศิริ ได้นำเพลงรานิเกลิงไปร้องด้นกลอนสดอย่างยาวหลายคำกลอน ทำให้มีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์มากมาย ช่วงปลายยุคนี้เริ่มมีการออกอากาศลิเกทางวิทยุ
ยุคลิเกลูกบท

อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงช่วงภายหลังสงคราม รวมเวลานานประมาณ ๑๐ ปี ลิเกในยุคนี้แต่งกายแบบสามัญคือ เสื้อคอกลมแขนสั้น โจงกระเบน มีผ้าคาดพุง คล้ายเครื่องแต่งกายของลำตัดในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะเป็นช่วงที่อยู่ในสภาวะขาดแคลน แต่การแสดงลิเกก็ยังเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง เนื้อเรื่องที่แสดงเปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ ซึ่งอาศัยพื้นฐานของบทละครนอก และละครพันทางอยู่มาก
ยุคลิเกเพชร

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ ก็มีการตกแต่งเครื่องแต่งกายลิเกตัวพระให้หรูหราอีกครั้ง แต่มิได้กลับไปใช้รูปแบบลิเกทรงเครื่อง เริ่มต้นด้วยการสวมเสื้อกั๊กปักเพชรทับเสื้อคอกลม สวมสนับเพลา แล้วนุ่งผ้าโจงทับอย่างตัวพระของละครรำ สวมถุงน่องสีขาวเหมือนลิเกทรงเครื่อง เอาแถบเพชรหรือ “เพชรหลา” มาทำสังเวียนคาดศีรษะประดับขนนกสีขาวของลิเกทรงเครื่อง คาดสะเอวเพชร แถบเชิงสนับเพลาเพชร ฯลฯ มาเป็นลำดับ ส่วนผ้านุ่งใช้ผ้าไหมที่นำเข้ามา จากเมืองจีน เพราะเนื้อแข็งนุ่งแล้วอยู่ทรงไม่ยับ สำหรับชุดลิเกตัวนางไม่ค่อยมีแบบแผน ส่วนใหญ่เป็นชุดราตรียาวสมัยนิยม มีเครื่องประดับ เช่น มงกุฎ สายสร้อย กำไล ฯลฯ แต่ไม่หรูหราเท่าตัวพระ การแสดงลิเกยุคนี้มีความหลากหลาย เพราะพยายามนำการแสดงประเภทอื่นๆเข้ามาเสริม เพื่อให้การแสดงเป็นที่นิยมอยู่เสมอ เช่น เพลงลูกทุ่งยอดนิยม เพลงจากภาพยนตร์อินเดีย การเต้นอะโกโก้ การนำม้าขึ้นมาขี่รบกันบนเวที การทำฉากสามมิติให้ดูสมจริง เป็นต้น ลิเกได้มีการแพร่ภาพทางโทรทัศน์เป็นประจำ หนังสือพิมพ์ให้ความสนใจเสนอข่าวเรื่องลิเก โรงละครแห่งชาติให้การยอมรับและจัดให้มีการแสดงลิเกขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยคณะลิเกของนายสมศักดิ์ ภักดี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เริ่มขยายหน้าเวทีให้กว้างออกไปกว่าเดิมเกือบ ๒ เท่า
ยุคลิเกลอยฟ้า

เป็นยุคที่เวทีลิเกเปลี่ยนจากรูปแบบเดิม ที่มีเวทีดนตรีอยู่ทางขวาของผู้แสดง มาเป็นเวทีที่วางเครื่องดนตรี อยู่บนยกพื้นหลังเวทีการแสดง ให้ผู้ชมได้เห็นวงดนตรีทั้งวง และได้ขยายขนาดเวทีการแสดงออกไปจากประมาณ ๖ เมตรเป็น ๑๒ เมตร แต่ไม่มีหลังคา จึงเรียกว่า ลิเกลอยฟ้า เครื่องแต่งกายตัวพระในยุคนี้เพิ่มเครื่องเพชรมากขึ้นคือ มีแผงประดับศีรษะเพชรแทนขนนก เสื้อรัดรูปปักเพชรที่เกิดขึ้นในปลายยุคลิเกเพชร ก็เพิ่มจำนวนเพชรจนเต็มไปทั้งตัว ผ้านุ่งกลายเป็นแบบสำเร็จรูป ปักเพชรทั้งผืน ส่วนเครื่องประดับต่างๆ ก็เพิ่มจำนวนเพชรขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา เริ่มมีการนำเรื่องผู้ชนะสิบทิศ บทละครพันทางของอาจารย์เสรี หวังในธรรม ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในขณะนั้น มาแสดงเป็นลิเก และแต่งตัวแบบละครพันทางลิเกเป็นการแสดง เพื่อเลี้ยงชีพ ผู้ชมชอบอย่างไร ก็แสดงอย่างนั้น ดังนั้นรูปแบบการแสดงลิเกในแต่ละยุค จึงมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่คงอยู่คือ ปฏิภาณศิลป์ ที่ทำให้ลิเกยังคงมีความแปลกใหม่ สำหรับให้ความบันเทิงแก่คนในสังคมไทยตลอดไป
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป