สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 27
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๗ / เรื่องที่ ๓ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ / กลยุทธ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
กลยุทธ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
การปลูกป่าชายเลน เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในบริเวณชายฝั่งทะเลให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์
การให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม |
กลยุทธ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้เสนอกลยุทธ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ควบคู่ไปกับนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อให้เป็นแนวทาง ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำไปพิจารณาดำเนินการด้วยเช่นกัน โดยแบ่ง กลยุทธ์ออกเป็น ๖ ด้าน ดังนี้
๑. กลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม
ประกอบด้วยวิธีการที่สำคัญ คือ
- การสงวนรักษา ฟื้นฟู ควบคุมดูแลทรัพยากรในระบบนิเวศให้คงสภาพไว้ เพื่อสามารถนำมาเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวได้นานที่สุด หรือตลอดไป
- ทรัพยากรการท่องเที่ยว จำเป็นต้องได้รับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย โดยป้องกัน และลดสาเหตุ ที่อาจทำให้เกิดปัญหามลพิษ
- เจ้าของพื้นที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว สถาบันต่างๆ ในสังคม องค์กรประชาชน และประชาชนในท้องถิ่น ต้องร่วมมือกันในการอนุรักษ์ รักษาสภาพ ไม่ทำลาย หรือสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
๒. กลยุทธ์ด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและบริการการท่องเที่ยว
มีวิธีการที่สำคัญ คือ
- มีความเข้มงวดในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งทางธรรมชาติ และทางสังคม โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการการท่องเที่ยวนั้น จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรการท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม และมีความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เส้นทางคมนาคมเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว เส้นทางศึกษาธรรมชาติ การบริการที่พัก การบริการอาหาร และเครื่องดื่ม
๓. กลยุทธ์ด้านการศึกษาและสื่อความหมายธรรมชาติ
ประกอบด้วยวิธีการที่สำคัญ คือ
- เป็นสื่อกลางทางการศึกษา และการเรียนรู้ด้านระบบนิเวศของนักท่องเที่ยว เพื่อที่จะสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- มีการให้ข้อมูลก่อนการท่องเที่ยว การศึกษาระหว่างการท่องเที่ยว รวมทั้งการให้การศึกษาเพิ่มเติมในภายหลังด้วย
- ให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง และได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้นั้นๆ เช่น การสื่อความหมายธรรมชาติ การฝึกอบรม การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง กรณีศึกษา การเล่นเกม บทบาทสมมติ การอภิปราย
๔. กลยุทธ์ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น
ประกอบด้วยวิธีการที่สำคัญ คือ - ให้ความสำคัญแก่ประชาชนในท้องถิ่น ในด้านที่จะมีบทบาทในการกำกับดูแล และควบคุมการท่องเที่ยวได้มากขึ้น และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
- ส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาตนเองเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานของรัฐกับชุมชน และระหว่างชุมชนกับเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น ร่วมพัฒนาจุดขายต่างๆ ได้แก่ ที่พักอาศัย ภัตตาคาร การนำเสนอลูกค้าด้านวัฒนธรรม ศิลปะและประเพณีต่างๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว
๕. กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการตลาดและบริการนำเที่ยว
ด้วยวิธีการที่สำคัญ คือ
- จัดให้เกิดความสมดุลระหว่างความสามารถในการรองรับของพื้นที่กับปริมาณนักท่องเที่ยว เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นทรัพยากรที่มีความอ่อนไหว อาจได้รับผลกระทบได้ง่าย หากมีนักท่องเที่ยวมากเกินไป
- มุ่งส่งเสริมให้พัฒนาเป็นตลาดที่มีคุณภาพ ไม่ใช่พยายามเพิ่มปริมาณของนักท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว
- ให้มีการจัดบริการนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ โดยให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว และควบคุมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวให้อยู่ในกรอบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
๖. กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการลงทุน
มีวิธีการที่สำคัญ คือ
- รัฐบาลกลาง และหน่วยงานของรัฐจะต้องมีส่วนสนับสนุนอย่างแข็งขัน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น
|
|