การจำแนกระบบนิเวศ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 27
เล่มที่ ๒๗
เรื่องที่ ๑ ลิเก
เรื่องที่ ๒ การบริหารราชการ
แผ่นดิน
เรื่องที่ ๓ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
เรื่องที่ ๔ เทคนิคการผลิต
ไม้ผลนอกฤดู
เรื่องที่ ๕ ไฮโดรพอนิกส์
เรื่องที่ ๖ พิษภัยของแอลกอฮอล์
เรื่องที่ ๗ ผู้สูงอายุ
เรื่องที่ ๘ พลังงานนิวเคลียร์
เรื่องที่ ๙ การปฏิวัติทางพันธุกรรม
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๗ / เรื่องที่ ๓ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ / การจำแนกระบบนิเวศ

 การจำแนกระบบนิเวศ
บริเวณป่าชายเลนหรือป่าพรุมีการสร้างสะพานไม้เป็นทางเดินสำหรับนักท่องเที่ยว
บริเวณป่าชายเลนหรือป่าพรุมีการสร้างสะพานไม้เป็นทางเดินสำหรับนักท่องเที่ยว

ถ้ำลำคลองงู อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
ถ้ำลำคลองงู อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

การล่องแก่งในลำน้ำที่มีน้ำเชี่ยวให้ความตื่นเต้นเร้าใจแก่นักท่องเที่ยว
การล่องแก่งในลำน้ำที่มีน้ำเชี่ยวให้ความตื่นเต้นเร้าใจแก่นักท่องเที่ยว
การจำแนกระบบนิเวศ

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะทางธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จึงขออธิบายถึงวิธีการจำแนกระบบนิเวศออกเป็นระบบใหญ่ๆ โดยแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแต่ละแห่ง อาจจัดอยู่ในระบบนิเวศอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. ระบบนิเวศทางบก (land ecosystem)

หมายถึง ระบบนิเวศที่ปรากฏอยู่บนพื้นแผ่นดิน ซึ่งเป็นภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบ หุบเขา ในบริเวณดังกล่าว ถ้าหากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยมนุษย์ไม่เข้าไปดัดแปลง หรือทำลาย ก็จะมีพืชพรรณธรรมชาติ และสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ในประเทศไทย ระบบนิเวศทางบกที่ยังคงสภาพตามธรรมชาติ ดั้งเดิม ส่วนใหญ่พบอยู่ตามบริเวณป่าเขา ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้ตามกฎหมาย เช่น อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า

๒. ระบบนิเวศทางทะเล (marine ecosystem)

หมายถึง ระบบนิเวศที่ปรากฏอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเล และในท้องทะเล ได้แก่ เกาะ สันดอน และสันทรายชายฝั่ง หาดปะการัง ปะการังใต้น้ำ ในประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศทางทะเลอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งทางด้านอ่าวไทย และทางด้านทะเลอันดามัน เป็นตัวอย่างของระบบนิเวศทางทะเล ในเขตภูมิอากาศร้อน ซึ่งยังคงมีความอุดมสมบูรณ์และ ความงดงามตามธรรมชาติอยู่มาก เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

๓. ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland ecosystem)

ระบบนี้ได้รับการกำหนดขึ้นใหม่ ต่างหากจากระบบนิเวศทางบก และระบบนิเวศทางทะเล เมื่อมีการประชุมระหว่างประเทศ ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน รับรองข้อตกลงระหว่างประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก เรียกว่า อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) เมื่อแรกบังคับใช้อนุสัญญา มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นภาคี ๗ ประเทศ หลังจากนั้นจำนวนภาคีได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ จนถึงจำนวน ๑๒๓ ประเทศ เมื่อสิ้น พ.ศ. ๒๕๔๓ ประเทศไทยได้เข้าร่วม เป็นภาคีใน พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นลำดับที่ ๑๑๐

คำจำกัดความของพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ คือ "ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขัง หรือท่วมอยู่ถาวร และชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงที่ชายฝั่งทะเล และที่ในทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน ๖ เมตร" (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, ๒๕๔๔)

ในประเทศไทย พื้นที่ชุ่มน้ำประกอบด้วยป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ ในบริเวณดังกล่าวมีพืชพรรณ และสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ ทั้งที่เป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และนก ฉะนั้น ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงมีความหลากหลายทางด้านธรรมชาติอยู่มาก ตามอนุสัญญาแรมซาร์จะกำหนดให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญในประเทศต่างๆ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่ได้รับการรับรอง ในกรณีของประเทศไทยได้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำ และได้รับการรับรองเป็นแห่งแรก พร้อมกับการเข้าเป็นภาคีสมาชิกใน พ.ศ. ๒๕๔๑ คือ พรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีนกน้ำอาศัยอยู่มากที่สุด ในประเทศไทย คือ ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ชนิด
หัวข้อก่อนหน้าหัวข้อถัดไป