การใช้สารเคมีบางประเภท - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 27
เล่มที่ ๒๗
เรื่องที่ ๑ ลิเก
เรื่องที่ ๒ การบริหารราชการ
แผ่นดิน
เรื่องที่ ๓ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
เรื่องที่ ๔ เทคนิคการผลิต
ไม้ผลนอกฤดู
เรื่องที่ ๕ ไฮโดรพอนิกส์
เรื่องที่ ๖ พิษภัยของแอลกอฮอล์
เรื่องที่ ๗ ผู้สูงอายุ
เรื่องที่ ๘ พลังงานนิวเคลียร์
เรื่องที่ ๙ การปฏิวัติทางพันธุกรรม
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๗ / เรื่องที่ ๔ เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู / การใช้สารเคมีบางประเภท

 การใช้สารเคมีบางประเภท

การใช้สารเคมีบางประเภท

เราทราบว่า มีฮอร์โมนบางชนิดควบคุมการออกดอกของไม้ผลหลายชนิดได้ ฉะนั้น ถ้าเราสามารถที่จะควบคุมปริมาณฮอร์โมนดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ก็จะสามารถควบคุมการออกดอกของไม้ผลชนิดนั้นได้ เช่น ในกรณีการควบคุมการออกดอกของมะม่วง พบว่า หากต้นมะม่วงมีปริมาณสารจิบเบอเรลลิน ในกิ่งยอดมาก ก็จะทำให้กิ่งนั้นไม่ออกดอก ดังนั้น ถ้าสามารถลดปริมาณ สารจิบเบอเรลลินในกิ่งยอดมะม่วงลงได้ ก็จะทำให้กิ่งนั้นออกดอกได้ จากหลักการนี้เอง จึงได้มีการใช้สารเคมีชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อใส่ให้แก่ต้นไม้แล้ว สารเคมีชนิดนี้จะไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนจิบเบอเรลลินได้ กลุ่มของสารดังกล่าวนี้เรียกรวมๆ ว่า สารชะลอการเจริญเติบโตของพืช (เหตุที่เรียกสารกลุ่มนี้ว่า สารชะลอการเจริญเติบโต ก็เนื่องจากสารจิบเบอเรลลินเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต หรือทำให้พืชมีการยืดตัวของกิ่งก้านต่างๆ ดังนั้น เมื่อมีการให้สารอื่นที่มีผลลดการสร้างสารจิบเบอเรลลินในพืชลงได้ ก็จะทำให้พืชนั้น มีการยืดตัวของกิ่งก้านน้อยลง จึงเรียกว่า สารชะลอการเจริญเติบโต) ตัวอย่างของสารที่ใช้กันมากในการควบคุมการออกดอกของไม้ผล โดยไปลดการสร้างสารจิบเบอเรลลินในพืช ได้แก่ สารแพกโคลบิวทราโซล (paclobutrazol) เมื่อมีการใช้สารนี้กับไม้ผลบางชนิด เช่น มะม่วง ทุเรียน มะนาว ก็จะชักนำให้พืชเหล่านี้ออกดอกได้ตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องรอสภาพอากาศ หรือสภาพแวดล้อมภายนอกอีกต่อไป
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป