ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 27
เล่มที่ ๒๗
เรื่องที่ ๑ ลิเก
เรื่องที่ ๒ การบริหารราชการ
แผ่นดิน
เรื่องที่ ๓ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
เรื่องที่ ๔ เทคนิคการผลิต
ไม้ผลนอกฤดู
เรื่องที่ ๕ ไฮโดรพอนิกส์
เรื่องที่ ๖ พิษภัยของแอลกอฮอล์
เรื่องที่ ๗ ผู้สูงอายุ
เรื่องที่ ๘ พลังงานนิวเคลียร์
เรื่องที่ ๙ การปฏิวัติทางพันธุกรรม
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๗ / เรื่องที่ ๖ พิษภัยของแอลกอฮอล์ / ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแอลกอฮอล์

 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์ หรือที่คนไทยเรียกว่า สุราหรือเหล้า เป็นสารธรรมชาติที่ได้มาจากกระบวนการหมักน้ำตาล (เช่น จากข้าว องุ่น ข้าวโพด) กับยีสต์ เกิดเป็นสารที่เรียกว่า เอทานอล* (ethanol) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในเครื่องดื่มประเภทสุรา แต่การที่จะดื่มเอทานอลที่บริสุทธิ์เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่ สามารถดื่มได้ เพราะรสชาติแรงบาดคอ จึง ต้องมีส่วนผสมเพื่อให้รสชาติดีขึ้น เราเรียก ส่วนผสมนั้นว่า คอนจีเนอร์ (congener)

ตามหลักสากลทั่วไป คำว่า ๑ ดริงก์ (drink) นั้น หมายถึง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ ๑๒ กรัม ซึ่งเทียบเท่ากับเบียร์ (๓.๖% เอทานอล) ขนาด ๑๒ ออนซ์ (๑ ออนซ์ เท่ากับ ๓๐ มิลลิลิตร) ๑ กระป๋อง หรือวิสกี้ ๘๐ ดีกรี (๔๐% เอทานอล) ๑ ออนซ์ (๓๐ มิลลิลิตร)

คำว่า ดีกรี หมายถึง ความเข้มข้น เช่น เหล้า ๑๐๐ ดีกรี หมายถึง เหล้าที่มีแอลกอฮอล์ ๑๐๐ ส่วน ผสมน้ำ ๑๐๐ ส่วน เหล้า ๘๐ ดีกรี หมายถึง เหล้าที่มีแอลกอฮอล์ ๘๐ ส่วน ผสมน้ำ ๑๐๐ ส่วน

โดยทั่วๆ ไปแล้วได้มีการกำหนดอย่างคร่าวๆสำหรับชาวเอเชียว่า ผู้ชายที่ติดเหล้าคือ ผู้ที่ดื่ม ๔ ดริงก์ต่อวัน และถ้าเป็นผู้หญิงที่ติดเหล้าคือ ผู้ที่ดื่ม ๓ ดริงก์ต่อวัน

แอลกอฮอล์ที่คนบริโภคเข้าไปนั้น ประมาณร้อยละ ๙๐ จะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว โดยลำไส้เล็กส่วนต้น และภายในเวลา ๓๐ - ๙๐ นาที ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะ ขึ้นสูงสุด แอลกอฮอล์จะกระจายในร่างกาย ได้อย่างรวดเร็ว ผลที่เห็นได้อย่างชัดเจนลำดับแรกคือ ฤทธิ์ต่อสมอง ในระยะแรกจะทำให้ผู้ดื่มเกิดความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า คึกคะนอง แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีผลต่อการตัดสินใจ การพูด ความว่องไวในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อจะช้าลง ทำให้มีผลต่อการขับขี่ยานพาหนะ และเมื่อระดับของแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นอีก จะทำให้สูญเสียด้านการทรงตัว การมองเห็น สมาธิความจำ และอาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติได้ นอกจากนี้ การดูดซึมของแอลกอฮอล์ที่บริเวณลำไส้เล็กก็จะทำให้การดูดซึมของวิตามินบีชนิดต่างๆลดลงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินบี ๑ โดยภาวะพร่องวิตามินบี ๑ จะทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมขึ้นได้ และจะเป็นอย่างถาวรถ้าแก้ไขไม่ทัน และแน่นอน ที่สุด แอลกอฮอล์จะไปมีผลทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับ ก่อให้เกิดตับอักเสบ ไขมันสะสมในตับ และตับแข็งได้ แอลกอฮอล์ยังมีผลต่อหลอดเลือดและหัวใจได้ โดยทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ระดับคอเลสเทอรอลและไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาด เลือดเนื่องจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังเป็นพิษโดยตรงต่อกล้ามเนื้อหัวใจอีกด้วย จึงเห็นได้ว่า แอลกอฮอล์นั้นมีผลต่อระบบภายในร่างกายหลายระบบ ยิ่งบริโภคในปริมาณที่มากและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็ยิ่งเสี่ยงต่ออันตรายต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป