สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 27
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๗ / เรื่องที่ ๗ ผู้สูงอายุ / ระบบหายใจ
ระบบหายใจ

| ระบบหายใจ
ที่ทรวงอก
พบว่า กระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นแกนหลักของทรวงอกบางลงจากภาวะกระดูกพรุน
ทำให้กระดูกสันหลังคดงอ ขณะเดียวกันกระดูกซี่โครงยุบห่อตัวเข้าหากัน
รวมทั้งกำลังการหดตัวของกล้ามเนื้อหายใจโดยรวมก็ลดลง เพราะฉะนั้น
ผู้สูงอายุจะต้องออกแรงหายใจในขณะปกติมากขึ้น ทำให้การยืดขยายของทรวงอก
ขณะที่มีการหายใจเข้าไม่เต็มที่เท่าที่ควร จึงต้องอาศัยกะบังลม
และกล้ามเนื้อหน้าท้องช่วยในการหายใจ เพิ่มจากกล้ามเนื้อหน้าอก
ซึ่งเมื่อผู้สูงอายุได้รับการผ่าตัดช่องท้อง
จึงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางการหายใจหลังผ่าตัดได้ง่าย
และในขณะเดียวกันการหายใจออก
ซึ่งต้องอาศัยการดีดตัวกลับของเนื้อเยื่อบางชนิดในปอด ที่เสื่อมลง
ทำให้มีอากาศหลงเหลืออยู่ในปอดจำนวนมากกว่าปกติ
การแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนระหว่างอากาศที่หายใจ
เข้ากับเลือดที่ไหลเวียนมารับออกซิเจนที่ปอด จึงด้อยประสิทธิภาพลง
ระดับออกซิเจนในเลือดแดงจึงลดต่ำกว่าคนในวัยหนุ่มสาว
ที่หลอดลมไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ยกเว้นผู้สูบบุหรี่เรื้อรัง
ที่เนื้อปอดจะสูญเสียความยืดหยุ่นไป เนื่องจากความเสื่อมของสารโปรตีนในปอด
ร่วมกับสภาวะที่ทรวงอกขยายตัวไม่ได้เต็มที่
ทำให้การไหลเวียนของก๊าซในปอดไม่ดีเท่าที่ควร เกิดการคั่งของก๊าซในปอด
ส่วนที่ไม่มีการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังพบว่า ผนังของถุงลมที่เสื่อมและบางลง
ทำให้พื้นที่ผิวของถุงลม ที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซลดลง
และผนังที่เป็นทางผ่านของการแลกเปลี่ยนก๊าซที่เหลือ ก็หนาขึ้นด้วย
จึงทำให้ผู้สูงอายุทนต่อสภาวะที่ต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร
เช่น ในขณะที่ออกกำลังกาย ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ยังอาจเกิดจากการที่ปอด
ได้รับอันตรายจากสิ่งต่างๆ ในตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา เช่น จากควันบุหรี่
ฝุ่นละออง สารพิษจากการทำงาน ภาวะภูมิแพ้ และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
เป็นต้น การหายใจตอบสนองต่อภาวะ ที่ก๊าซออกซิเจนในเลือดลดลง
หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น
ก็จะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของคนหนุ่มสาว เชื่อว่า
อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสมอง ที่ควบคุมกล้ามเนื้อการหายใจ ขณะนอนหลับ
ลักษณะของการหายใจจะไม่สม่ำเสมอ จะมีช่วงหยุดหายใจยาวขึ้น
มักพบในผู้สูงอายุชาย โดยเฉพาะช่วงการหลับตื้นๆ ในช่วงหลับระยะแรก
|
|