สำหรับเด็กระดับเล็ก - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 27
เล่มที่ ๒๗
เรื่องที่ ๑ ลิเก
เรื่องที่ ๒ การบริหารราชการ
แผ่นดิน
เรื่องที่ ๓ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
เรื่องที่ ๔ เทคนิคการผลิต
ไม้ผลนอกฤดู
เรื่องที่ ๕ ไฮโดรพอนิกส์
เรื่องที่ ๖ พิษภัยของแอลกอฮอล์
เรื่องที่ ๗ ผู้สูงอายุ
เรื่องที่ ๘ พลังงานนิวเคลียร์
เรื่องที่ ๙ การปฏิวัติทางพันธุกรรม
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๗ / เรื่องที่ ๗ ผู้สูงอายุ / สำหรับเด็กระดับเล็ก

 สำหรับเด็กระดับเล็ก ฟังเสียงอ่าน => บันทึกเสียง
เด็กๆ คงเคยได้ยินคำว่า “สูง” แล้วใช่ไหม คำคำนี้มีที่ใช้ที่หลากหลาย เช่น ถ้าเราจะพูดถึงขนาด หรือรูปร่าง เราก็พูดว่า คนสูง ต้นไม้สูง ตึกสูง ถ้าเราจะพูดถึงสถานที่ เราก็พูดว่า ที่ราบสูง ฟ้าสูง ภูเขาสูง ถ้าเราจะพูดถึงอากาศ เราก็พูดว่า ความกดอากาศสูง ถ้าเราจะพูดถึงสถานะของบุคคล เราก็พูดว่า เบื้องสูง หรือที่สูง ซึ่งหมายถึง อะไรก็ตามที่เราต้องเงยขึ้นไปมองก็ใช้คำว่า ที่สูง ทั้งนั้น
คำว่า “สูง” ยังมีอีกความหมายหนึ่งที่ใช้กับอายุของบุคคล โดยใช้ในความหมายว่ายาวนาน คนที่มีอายุมากๆ หลายๆ ปี เราไม่เรียกว่า ผู้มากอายุ หรือผู้หลายอายุ แต่เราใช้คำว่า ผู้สูงอายุ แม้แต่ผู้ที่มีอายุยืน ท่านก็เป็นผู้สูงอายุ เด็กๆ คงจะสงสัยว่า เราจะตัดสินได้อย่างไรว่า ใครบ้างเป็นผู้สูงอายุ
ตามที่ยึดถือกันทั่วไปประเทศต่างๆ ได้แบ่งประชากรออก เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ ตามช่วงอายุ คือ อายุตั้งแต่แรกเกิด – ๑๔ ปี เป็นประชากรวัยเด็ก อายุตั้งแต่ ๑๔–๕๙ ปี เป็นประชากรวัยทำงาน และอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป เป็นประชากรวัยสูงอายุ

ต่อจากนี้ไป เมื่อเด็กๆ ทราบอายุของผู้ใหญ่แล้ว คงจะบอกได้แล้วใช่ไหมว่า ญาติผู้ใหญ่ของเรานั้น ท่านเป็นผู้สูงอายุหรือไม่
ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มากทั้งอายุ และประสบการณ์ ท่านได้ผ่านชีวิตมายาวนาน จึงสามารถจะบอกเล่าความหลัง ให้ข้อคิด และข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ ท่านมักจะมีคำแนะนำที่ดีให้แก่เด็กๆ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ท่านจะมีความรัก และความเมตตาต่อเด็กๆ เสมอ เมื่ออยู่ใกล้ท่าน เด็กๆ ก็จะได้รับความรู้ และความอบอุ่นใจ เด็กๆ จึงควรจะดูแล และเอาใจใส่ผู้สูงอายุในครอบครัว
หัวข้อถัดไป