พลังงานเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตมนุษย์
พลังงานที่มนุษย์ใช้กันอยู่มีหลายรูปแบบ
เช่น พลังงานจลน์ ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของสิ่งต่างๆ
เช่น อากาศและน้ำ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์
พลังงานความร้อน และแสงสว่าง
ที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง
ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเคมี
มีการเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของธาตุ
หรือสารประกอบ
|

พลังงานในรูปแบบต่างๆ
|
พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของนิวเคลียสของอะตอมของธาตุบางธาตุ
พลังงานนิวเคลียร์สามารถปลดปล่อยรังสี และอนุภาคต่างๆ เช่น รังสีเอกซ์
รังสีแกมมา อนุภาคแอลฟา อนุภาคบีตา อนุภาคโปรตอน
และถ้ามีการปลดปล่อยอนุภาคอิเล็กตรอนที่อยู่รอบนิวเคลียสด้วย
ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของอะตอมซึ่งมีชื่อภาษาไทยว่า ปรมาณู
จึงเรียกพลังงานชนิดนี้ว่า พลังงานปรมาณู
พลังงานนิวเคลียร์มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
เช่น ในดวงอาทิตย์ ในพื้นดิน และที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
พลังงานนิวเคลียร์นอกจากสามารถปลดปล่อยออกมาในรูปของรังสี
และอนุภาค ซึ่งบางครั้งเราเรียกรวมๆ กันว่า รังสี ตามที่กล่าวมาแล้ว
ยังสามารถปลดปล่อยพลังงานชนิดอื่นออกมาด้วย เช่น พลังงานความร้อน
พลังงานแสง วิธีการปลดปล่อยพลังงานมี ๓ ลักษณะ คือ
พลังงานนิวเคลียร์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาในลักษณะเฉียบพลัน
พลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ซึ่งควบคุมได้
และพลังงานนิวเคลียร์จากสารกัมมันตรังสี
เราจึงเลือกใช้ลักษณะการปลดปล่อยพลังงานให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น
การปลดปล่อยแบบเฉียบพลัน ใช้ในการขุดหลุมลึกขนาดใหญ่ การขุดทำโพรงใต้ดิน
สำหรับการกระตุ้นแหล่งน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ
พลังงานนิวเคลียร์ที่ควบคุมได้ เช่น เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู
หรือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่ใช้ผลิตสารกัมมันตรังสี
และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
|

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่แสดง ให้เห็นปล่องละอองน้ำจาก เครื่องหล่อเย็น
ที่ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์
|
ประเทศไทยเป็นประเทศแรก
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย
โดยมีการใช้ประโยชน์ จากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยดังกล่าวนี้ ในด้านต่างๆ
คือ |
- การวิจัยด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ อันได้แก่
ปฏิกิริยานิวเคลียร์ ที่เกิดจากนิวตรอน ในนิวเคลียสของธาตุต่างๆ
- งานผลิตไอโซโทปรังสี เพื่อใช้ในการแพทย์
โดยการใช้รังสีจากไอโซโทป สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรค และการบำบัดรักษาโรค
- งานถ่ายภาพวัสดุ
เพื่อการถ่ายภาพดูลักษณะภายในของวัสดุว่า เป็นโพรง มีฟองอากาศ รอยร้าว
รอยรั่ว โดยไม่ต้องทำลายชิ้นงาน
- งานเปลี่ยนสีของอัญมณี เช่น พลอยประเภทโทแพซ
และทัวร์มาลีน เพื่อเพิ่มมูลค่า
|
 |
ได้มีการนำรังสี
หรือสารกัมมันตรังสี
โดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ได้มีการคิดค้น และปรับปรุง
เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ
คือ การแพทย์ และอนามัย อุตสาหกรรม การเกษตร และสิ่งแวดล้อม
ดังตัวอย่างต่อไปนี้
การใช้ประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์ในทางการแพทย์
มีดังนี้
- ด้านการตรวจและวินิจฉัยโรค เช่น การถ่ายเอกซเรย์
เพื่อตรวจความผิดปกติของอวัยวะ การตรวจการทำงานระบบอวัยวะ
โดยให้ผู้ป่วยรับประทาน หรือฉีดสารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกาย
แล้วทำการถ่ายภาพอวัยวะ อาทิ ใช้ไอโอดีน-๑๓๑ ตรวจความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
- ด้านการบำบัดรักษาโรค
โดยทั่วไปใช้รังสีในการรักษาโรคมะเร็ง และเนื้องอก เช่น ใช้ฟอสฟอรัส-๓๒
ในการรักษาภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงมากเกินไป
- ด้านการทำให้ปลอดเชื้อของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น
ใช้รังสีแกมมาจากโคบอลต์-๖๐
ในการทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทนความร้อน มีรูปร่างสลับซับซ้อน
หรืออยู่ในภาชนะบรรจุขั้นสุดท้ายปลอดเชื้อ
วิธีนี้จะช่วยป้องกันการปนเปื้อนที่เกิดจากการบรรจุหีบห่อ
มีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน และคนไข้
|
 |
การใช้ประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์ในด้านอุตสาหกรรม
ได้มีการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย
จำแนกได้ ๓ แบบ ตามวิธีการของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ดังนี้
- อุตสาหกรรมด้านพลังงาน เช่น
การผลิตเรือสินค้า เรือตัดน้ำแข็ง การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
- อุตสาหกรรมการฉายรังสี เช่น
การฉายรังสีอาหาร และผลิตผลการเกษตร
การทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ปลอดเชื้อโรค การผลิตสารพวกพอลิเมอร์ต่างๆ
- การตรวจวัดและควบคุมในโรงงานอุตสาหกรรม
โดยการใช้เทคนิคนิวเคลียร์
ด้วยการใช้วัสดุกัมมันตรังสี และเทคนิคทางรังสี ซึ่งเรียกว่า
“เทคนิคนิวเคลียร์”
มาใช้ประโยชน์ในระบบวัดและควบคุมของโรงงานอุตสาหกรรม
|

การเอกซเรย์กระดูก
|
การใช้ประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์ทางด้านการเกษตร
มีการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อกิจการต่างๆ เช่น
ส่งเสริมการเกษตร เพื่อเพิ่มปริมาณเพิ่มคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร เช่น
ปรับปรุงพันธุ์พืช การถนอมอาหารด้วยรังสี
ศึกษาเกี่ยวกับการดูดซึมแร่ธาตุและปุ๋ยของต้นไม้และพืชเศรษฐกิจต่างๆ
เพื่อปรับปรุงการใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การใช้ประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์ทางด้านสิ่งแวดล้อม
มี ๒ ทาง คือ
การรักษา และพัฒนาสภาพของสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
และการตรวจและควบคุมปริมาณรังสี ที่มีอยู่ในธรรมชาติ
ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อมนุษย์ เช่น การใช้รังสีแกมมาจากโคบอลต์-๖๐
ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ในน้ำทิ้งจากชุมชน และโรงพยาบาล เพื่อป้องกันโรคระบาด |

เจ้าหน้าที่กำลังควบคุมการฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตร |
รังสีจากพลังงานนิวเคลียร์มีประโยชน์มากมายตามที่กล่าวมาแล้ว
แต่ก็มีพิษภัยด้วยคือ สามารถก่อให้เกิดความเสียหายของเซลล์สิ่งมีชีวิต
ถ้าได้รับรังสีมาก อาจทำให้มีการป่วยทางรังสีจนเสียชีวิตได้ เช่น
ถ้าได้รับถึง ๖,๐๐๐ มิลลิซีเวิร์ต จะทำให้อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องร่วง
ภายใน ๑ - ๒ ชั่วโมง เม็ดเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว ผมร่วง มีไข้
อักเสบบริเวณปากและลำคออย่างรุนแรง มีเลือดออก
และมีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ ๕๐ ภายในเวลา ๒ - ๖ สัปดาห์
จึงต้องมีการตราพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติออกบังคับใช้
ให้ผู้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ทราบ และปฏิบัติตาม มีการออกกฎเกณฑ์ ระเบียบ
ข้อบังคับต่างๆที่กำหนดไว้
ตัวอย่างสาระสำคัญของพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้
- ผู้ผลิต ผู้ใช้ ผู้ครอบครอง การขนย้าย
หรือนำเข้า และส่งออกสารกัมมันตรังสี
และต้นกำเนิดพลังงานนิวเคลียร์ชนิดอื่นใด
จะต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
- ต้องมีผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิคในเรื่องรังสี
มีเครื่องมือตรวจรังสี และเครื่องมือระงับ หรือป้องกันอันตรายจากรังสี
- ต้องติดป้ายเตือนภัยอันตรายจากรังสีอย่างชัดเจน
- การทิ้งหรือกำจัดวัสดุกัมมันตรังสีต้องปฏิบัติตามวิธีที่คณะกรรมการฯ
เห็นชอบ
|

โรงเก็บกากกัมมันตรังสี |