ในช่วงปลายของคริสต์ศตวรรษที่
๒๐ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้พัฒนาก้าวหน้า
และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจในด้านพันธุกรรมได้ก้าวล้ำหน้าไปอย่างมาก
จนนำไปสู่ “การปฏิวัติทางพันธุกรรม (genetic revolution)”
ดังจะเห็นได้จากข่าวความสำเร็จในวงการวิจัยทางชีววิทยา
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสายพันธุ์ข้าวทอง
ที่เสริมคุณค่าทางโภชนาการให้แก่ชาวโลก ที่ยากจน หรือการสร้างลิงกะพรุน
ที่เกิดจากการนำยีนของแมงกะพรุนซึ่งเป็นสัตว์ทะเล
มาตัดต่อกับยีนของลิงซึ่งเป็นสัตว์ที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด
|
|
ความสำเร็จต่างๆ
เหล่านี้ เป็นผลมาจากการวิจัย และพัฒนาความรู้พื้นฐานทางด้านพันธุศาสตร์
เริ่มจากการค้นพบหน่วยพันธุกรรมหรือยีน (gene)
ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมลักษณะกรรมพันธุ์ต่างๆ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต
และมีสมบัติถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูกได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
หน่วยพันธุกรรมดังกล่าวจะอยู่เป็นคู่ๆ มากมายหลายคู่ด้วยกัน
แต่ละคู่ควบคุมลักษณะกรรมพันธุ์ในแต่ละอย่างที่มีความแตกต่างตรงข้ามกัน
เช่น ลักษณะความสูงหรือเตี้ยในพืช ตาสีฟ้า หรือตาสีน้ำตาลในคน เป็นต้น
หน่วยพันธุกรรมจำนวนมากมาย และหลากหลายรูปแบบ
จะอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
โดยจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มอยู่ในโครงสร้างที่เรียกว่า โครโมโซม (chromosome)
และเรียกยีนทั้งหมดที่อยู่ในโครโมโซมต่างๆ รวมกันว่า จีโนม (genome)
การศึกษาวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์มาถึงจุดสำคัญ
เมื่อมีการค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของดีเอ็นเอ (DNA = deoxyribonucleic
acid) ซึ่งก็คือ ยีนนั่นเอง การค้นพบดังกล่าว
นอกจากทำให้มนุษย์สามารถทราบขั้นตอน
และกระบวนการทำงานของสิ่งมีชีวิตในการควบคุม
และถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมได้อย่างละเอียดลึกซึ้งแล้ว
ยังเปิดทางให้มีการศึกษาวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์ในระดับโมเลกุล เรียกว่า
การศึกษาด้านอณูพันธุศาสตร์ หรือพันธุศาสตร์เชิงโมเลกุล (molecular
genetics) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาวิจัยพันธุศาสตร์แขนงใหม่ๆ
จำนวนมาก
|
|
ความสำเร็จทางด้านอณูพันธุศาสตร์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถโยกย้ายถ่ายโอนหน่วยพันธุกรรม
เพื่อตัดแต่งดัดแปลงองค์ประกอบทางพันธุกรรม หรือจีโนมของสิ่งมีชีวิต
ทั้งภายในสายพันธุ์เดียวกัน และข้ามสายพันธุ์ได้
หรือแม้กระทั่งระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกัน
ซึ่งส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จ ในการสร้างสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
(Genetically Modified Organisms) ที่เรียกโดยย่อว่า GMOs ที่คาดว่า
จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ทางด้านการแพทย์ เศรษฐกิจ สังคม
และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติได้ เช่น การสร้างสายพันธุ์ ข้าวทอง
โดยการถ่ายโอน ยีนควบคุมการสร้างสารบีตาแคโรทีน
ซึ่งเป็นสารตัวสำคัญ ในการสังเคราะห์วิตามินเอ ให้เข้าไปอยู่ในข้าว
เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวิตามินเอในอาหารจากธัญพืช
หรือความสำเร็จในการถ่ายโอนยีนจากแมงกะพรุน มาใส่ไว้ในเซลล์ของลิงรีซัส
(Rhesus monkey) เพื่อปูทางไปสู่การตัดแต่งดัดแปลงพันธุกรรมในมนุษย์
สำหรับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บยุคใหม่ที่เรียกว่า พันธุกรรมบำบัด (gene
therapy)
ดีเอ็นเอ
การสร้างสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
เพื่อใช้ประโยชน์ในทางเกษตรกรรมได้ดำเนินการกันอย่างแพร่หลาย
ตัวอย่างที่รู้จักกันดี ได้แก่
การถ่ายโอนยีนที่ควบคุมการสร้างสารพิษต่อแมลงศัตรูพืช
ซึ่งได้มาจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ให้เข้าไปอยู่ในจีโนมของพืชบางชนิด เช่น
ข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ ถั่วเหลือง ฝ้าย เป็นต้น
เมื่อแมลงศัตรูพืชกัดกินพืชดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้
ก็จะรับเอาสารพิษดังกล่าวเข้าไป และถูกทำลายในที่สุด
|
| นักพัฒนา และนักเทคโนโลยีชีวภาพคาดหวังไว้ว่า
การพัฒนาสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ตามที่กล่าวมาข้างต้น
จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม
และสิ่งแวดล้อมของชาวโลกให้ดีขึ้น และอาจนำพามนุษยชาติไปสู่โลกใหม่
ที่สามารถใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เอาชนะกฎเกณฑ์ธรรมชาติได้
แต่แล้วความคาดหวังดังกล่าว ก็ต้องสะดุดหยุดลง
เมื่อมีรายงานผลการวิจัยออกมาว่า
ผลิตภัณฑ์อาหารจากมันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรม มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน และสุขภาพของหนูทดลอง |
ทำให้นักวิชาการหลายกลุ่มเกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการบริโภค
และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยพืชดัดแปลงพันธุกรรม
จนกลายเป็นข้อถกเถียงกันโดยทั่วๆ ไป
ระหว่างผู้ที่เห็นด้วยกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย
|
| ความหลากหลายในธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ในทุกระดับ
ตลอดจนความหลากหลายทางระบบนิเวศ ในแต่ละพื้นที่
ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น
ล้วนเป็นผลมาจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการทั้งสิ้น
เราเรียกสภาพความหลากหลายในระดับต่างๆ โดยรวมว่า ความหลากหลาย ทางชีวภาพ
ทรัพยากรชีวภาพอันล้ำค่าเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับการดำรงชีวิต และการอยู่รอดของมนุษย์
และอาจนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม
และด้านการแพทย์ได้อีกนานัปการ |