การปรับปรุงพันธุ์กับความหลากหลายทางพันธุกรรม - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 27
เล่มที่ ๒๗
เรื่องที่ ๑ ลิเก
เรื่องที่ ๒ การบริหารราชการ
แผ่นดิน
เรื่องที่ ๓ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
เรื่องที่ ๔ เทคนิคการผลิต
ไม้ผลนอกฤดู
เรื่องที่ ๕ ไฮโดรพอนิกส์
เรื่องที่ ๖ พิษภัยของแอลกอฮอล์
เรื่องที่ ๗ ผู้สูงอายุ
เรื่องที่ ๘ พลังงานนิวเคลียร์
เรื่องที่ ๙ การปฏิวัติทางพันธุกรรม
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๗ / เรื่องที่ ๙ การปฏิวัติทางพันธุกรรม / การปรับปรุงพันธุ์กับความหลากหลายทางพันธุกรรม

 การปรับปรุงพันธุ์กับความหลากหลายทางพันธุกรรม
การปรับปรุงพันธุ์กับความหลากหลายทางพันธุกรรม  

มนุษย์ได้พัฒนาการปรับปรุงพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์เลี้ยง มาช้านานหลายร้อยปี โดยผสมข้ามสายพันธุ์ และการคัดเลือกสายพันธุ์ตามวิธีการดั้งเดิม จนเมื่อมีการศึกษา และพัฒนาทางด้านพันธุศาสตร์เชิงปริมาณ (quantitative genetics) ในช่วง ๕๐ - ๖๐ ปีที่แล้วมา จึงได้มีการพัฒนาการคัดเลือกลักษณะพันธุกรรมอันพึงประสงค์ ให้สอดแทรกผสมผสานเข้าไป ในจีโนมของพืชผลเป้าหมาย โดยอาศัยข้อมูลจากการสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นสมบัติสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นจุลินทรีย์ พืช สัตว์ รวมทั้งมนุษย์ ความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้น เกิดจากปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่เรียกว่า การกลายพันธุ์ หรือมิวเทชัน (mutation) และปรากฏการณ์ ครอสซิงโอเวอร์ (crossing-over) ที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอในกระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ของสิ่งมีชีวิตที่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ทำให้เกิดการสลับที่และรวมตัวกันใหม่ของพันธุกรรมที่เรียกว่า ยีนรีคอมบิเนชัน (gene recombination) ทำให้เกิดองค์ประกอบทางพันธุกรรมในจีโนมในรูปแบบต่างๆกัน อาจเปรียบเทียบได้ว่า ยีนรีคอมบิเนชันเป็นกระบวนการ “พันธุวิศวกรรมโดยธรรมชาติ” อย่างแท้จริง รูปแบบของความแปรผันทางพันธุกรรมในจีโนม จะผ่านกระบวนการคัดเลือก โดยธรรมชาติ (natural selection) การอพยพ (migration) พันธุกรรมผกผัน (genetic drift) ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงขนาดประชากร และปัจจัยทางชีวภาพอื่นๆ ที่เป็นพลังผลักดันทางวิวัฒนาการ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากร ซึ่งเป็นการปรับตัว เพื่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต เราสามารถตรวจสอบ ความหลากหลายทางพันธุกรรม ในประชากรธรรมชาติได้ โดยใช้วิธีการต่างๆ ทั้งในระดับโครโมโซม และระดับยีน โดยใช้กรรมวิธีดีเอ็นเอเทคโนโลยียุคใหม่
หัวข้อก่อนหน้า