สิ่งปลูกสร้างในเขตสังฆาวาส - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 28
เล่มที่ ๒๘
เรื่องที่ ๑ วัดไทย
เรื่องที่ ๒ ประชุมจารึก
วัดพระเชตุพน
เรื่องที่ ๓ ตลาด
เรื่องที่ ๔ ทุเรียน
เรื่องที่ ๕ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
เรื่องที่ ๖ พิษภัยของบุหรี่
เรื่องที่ ๗ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เรื่องที่ ๘พลาสติกกับชีวิตในปัจจุบัน
เรื่องที่ ๙ แผ่นดินไหว
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๘ / เรื่องที่ ๑ วัดไทย / สิ่งปลูกสร้างในเขตสังฆาวาส

 สิ่งปลูกสร้างในเขตสังฆาวาส





สิ่งปลูกสร้างในเขตสังฆาวาส

ในเขตสังฆาวาสมีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. กุฏิ

คือ เรือนหรือตึก สำหรับเป็นที่อยู่ของพระภิกษุ และสามเณร กุฏิทั่วไปมีลักษณะคล้ายกับเรือนทรงไทย ปลูกเป็นหลังยาวๆ แล้วกั้นฝาประจันแบ่งเป็นห้องๆ เพื่อให้พระภิกษุ หรือสามเณร อยู่ห้องละองค์ ตามวินัยบัญญัติ กุฏิแต่ละหลัง มักปลูกขึ้นเป็นหมู่ โดยหันด้านหน้าเข้าหากัน มีชานนอกเป็นพื้นโล่ง เชื่อมถึงหน้ากุฏิทุกหลัง พื้นที่ตรงกลางชานนอกมักสร้างเรือนโถงขึ้น หลังหนึ่งเรียกว่า “หอฉัน” สำหรับพระภิกษุ และสามเณร ปฏิบัติภัตกิจแต่ละวัน กุฏิที่ปลูกสร้างเป็นลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า “คณะหมู่” นิยมสร้างขึ้นให้เป็นที่อยู่ สำหรับคณะสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ คือ คณะสงฆ์ที่เล่าเรียนพระคัมภีร์ หรือการศึกษาพระปริยัติธรรม กับกุฏิอีกลักษณะหนึ่ง ปลูกสร้างขึ้นแบบเรือนทรงไทย เป็นหลังโดดๆ และมีขนาดเล็ก มีพื้นที่ภายในกว้างพอ สำหรับพระภิกษุรูปเดียวพำนักอยู่ได้ กุฏิลักษณะนี้อาจสร้างขึ้นได้หลายๆ หลัง แต่จัดให้อยู่ห่างๆ กันในบริเวณเดียวกัน หมู่กุฏิลักษณะนี้เรียกว่า “คณะกุฎิ์” นิยมสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นที่อยู่สำหรับคณะสงฆ์ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือ คณะสงฆ์ที่ศึกษาด้านการเจริญวิปัสสนา หรือกิจการพระศาสนา ในด้านการบำเพ็ญกรรมฐาน วัดแห่งหนึ่ง อาจมีทั้งคณะหมู่ และคณะกุฎิ แต่บางวัด อาจมีเพียงคณะเดียวเท่านั้น

๒. ศาลาการเปรียญ

คือ สิ่งปลูกสร้างลักษณะคล้ายเรือนหลังใหญ่ ยกพื้นสูงเสมอ ศีรษะคนยืน มีเฉลียงโดยรอบ กั้นฝาแต่ละด้านเป็นฝาโปร่งๆ ภายในศาลาตอนที่อยู่ชิดฝา ด้านหนึ่งทำยกพื้นเป็น “อาสน์สงฆ์” สำหรับพระสงฆ์ขึ้นนั่งเจริญพระพุทธมนต์ ตรงหัวอาสน์สงฆ์ด้านหนึ่ง เป็นที่ตั้งพระพุทธรูป และเครื่องบูชา

ศาลาการเปรียญได้รับการสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาพระพุทธศาสนา สำหรับพระสงฆ์ในวันธรรมดา กับบรรดาพุทธศาสนิกชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในการบำเพ็ญกุศลในวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา

๓. หอกลอง - หอระฆัง

คือ สิ่งปลูกสร้าง ที่มีลักษณะเป็นหอสูง ประกอบด้วยเสา ๔ ต้น ตั้งขึ้นไปรับพื้นหอ มีหลังคาคลุม ตัวหอเปิดโล่งทั้ง ๔ ด้าน ทำพื้นเป็นชั้น และทำบันไดขึ้นไปจนสุดชั้นบน ที่เพดานชั้น บนแขวนระฆังไว้ ๑ ลูก ส่วนชั้นล่างลงมาแขวนกลองขนาดย่อมไว้ ๑ ลูก บางวัดอาจสร้างหอขึ้น สำหรับไว้กลองโดยเฉพาะ

หอกลอง - หอระฆังนี้ สร้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นสถานที่สำหรับตีระฆัง และตีกลอง เพื่อแจ้งเวลาแก่พระสงฆ์ให้ทราบ สำหรับทำ “วัตรปฏิบัติ” ประจำวัน ตามปกติ ในเวลากลางวันจะตีกลอง ส่วนกลางคืนจะตีระฆัง สาเหตุที่ต้องทำเป็นหอสูงๆ ก็เพื่อให้เสียงดังไปไกลๆ บรรดาชาวบ้าน ในละแวกวัด จะได้ทราบเวลาระหว่างวันและคืนด้วย

๔. ศาลาบาตร

คือ สิ่งปลูกสร้างขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นแคร่ หรือฐานก่ออิฐยกพื้น มีความสูงเสมอเอว และกว้างพอตั้งบาตรได้ ความยาวไม่จำกัด แต่ต้องมีหลังคาคลุมตลอด ศาลาบาตรนี้มักสร้างไว้ใกล้กับศาลาการเปรียญ สำหรับเป็นที่ตั้งบาตรเรียงรายเป็นแถว เพื่อรอรับบรรดาพุทธศาสนิกชน มาตักบาตรในวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา

๕. เว็จกุฎี

คือ สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับพระสงฆ์ และสามเณรถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ แต่เดิมสร้างขึ้นลักษณะคล้ายเรือนทรงไทย โดยทำเป็นหลังยาวๆ ขนาดเล็ก ยกพื้นสูง หน้าเรือนมีระเบียงแคบทอดไปตามยาว ภายในเรือนกั้นฝาแบ่งเป็นห้องเล็กๆ พอนั่งถ่ายทุกข์ได้เฉพาะตัว ด้านหน้าเปิดเป็นช่องประตูแต่ไม่มีบานปิด มีแต่แผงไม้ขนาดสูงเสมอหัวเข่ากั้นขวางไว้ เพื่อกันไม่ให้คนภายนอกมองเห็นคนที่อยู่ภายในได้ พื้นตรงกลางห้องเจาะทำช่องกลมๆ ไว้ สำหรับถ่ายอุจจาระ และมีแผ่นไม้เซาะเป็นราง รองรับปัสสาวะให้ไหลไปตามราง ซึ่งยาวลอดรูฝาด้านหลัง ไปตกข้างนอกห้อง ใต้ถุนเว็จกุฎีก่ออิฐเป็นฝาล้อมไว้กันอุจาด เว็จกุฎีลักษณะที่อธิบายมานี้ ปัจจุบันไม่ค่อย มีให้เห็น เนื่องจากเปลี่ยนมาใช้ส้วมแบบสมัยใหม่กันเป็นส่วนมาก
หัวข้อก่อนหน้า