รูปแบบของตลาด - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 28
เล่มที่ ๒๘
เรื่องที่ ๑ วัดไทย
เรื่องที่ ๒ ประชุมจารึก
วัดพระเชตุพน
เรื่องที่ ๓ ตลาด
เรื่องที่ ๔ ทุเรียน
เรื่องที่ ๕ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
เรื่องที่ ๖ พิษภัยของบุหรี่
เรื่องที่ ๗ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เรื่องที่ ๘พลาสติกกับชีวิตในปัจจุบัน
เรื่องที่ ๙ แผ่นดินไหว
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๘ / เรื่องที่ ๓ ตลาด / รูปแบบของตลาด

 รูปแบบของตลาด




รูปแบบของตลาด

นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยมา จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตลาดคงยังไม่มีรูปแบบที่แน่นอน สถานที่ที่ใช้จัดวางสินค้า น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเรือน ที่พักอาศัย หมายความว่า ที่พักอาศัยเป็นที่ขายของด้วย โดยตั้งแคร่วางขายสินค้าหน้าบ้าน และมีฝาทำเป็นแผงกั้นไว้สำหรับปิด - เปิด

ตลาดบกที่เป็นตลาดสด จะตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง ซึ่งอาจเป็นลานวัด หรือลานกลางหมู่บ้าน ตลาดแบบนี้มีลักษณะเป็นแผงติดพื้นดิน โดยใช้ใบตองปูรองสินค้าไว้ ส่วนตลาดน้ำ ส่วนใหญ่ใช้เรือและแพ เป็นที่จัดวางสินค้า พวกพ่อค้าแม่ค้า จะพายเรือไปตามแม่น้ำลำคลอง คลองแยก และคลองซอยต่างๆ เพื่อเร่ขายสินค้า ส่วนที่เป็นเรือนแพ ส่วนมากจะจอดริมตลิ่ง ใช้เป็นทั้งที่อยู่อาศัย และที่ขายสินค้าไปในตัว ทั้งตลาดบก และตลาดน้ำ จะมีเป็นย่านๆ ไป

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองไทยเริ่มมีการปรับตัวให้ทันสมัย ตามแบบตะวันตก มีการสร้างถนนและขุดคลองขึ้นใหม่หลายสาย เพื่อขยายอาณาเขตของเมืองให้กว้างออกไป ถนนที่ตัดใหม่ในสมัยนั้น ได้แก่ ถนนตรง ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร ส่วนคลองที่ขุดในรัชกาลนี้คือ คลองถนนตรง คลองสีลม คลองเจดีย์บูชา คลองภาษีเจริญ คลองมหาสวัสดิ์ คลองดำเนินสะดวก คลองบางลี่ คลองวัดขุน และคลองผดุงกรุงเกษม เมื่อเมืองขยายออกไปทางใด ชุมชนก็มักจะตามไปด้วยเสมอ อาคารบ้านเรือน และร้านค้า ที่สร้างขึ้นในระยะนี้ มีรูปแบบการก่อสร้าง ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก คือ เป็นตึกแถว ๑ หรือ ๒ ชั้น ที่มีหลังคาสูงเสมอกัน




เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ประเทศไทยได้รับการพัฒนา และปรับปรุงประเทศหลายด้าน เพื่อให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ การซ่อมแซม และตัดถนนใหม่ ทั้งในและนอกเขตพระนคร ก็เป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญเช่นกัน อาคารร้านค้าของเอกชน ที่เกิดขึ้นใหม่ตามสองฟากถนน ต้องสร้างขึ้นตามรูปแบบที่ราชการกำหนด โดยพระราชทานเงินทุนพระคลังข้างที่ ให้เป็นค่าก่อสร้างก่อน และทางราชการ จะเก็บเงินค่าเช่า ไปจนกว่าจะครบเงินทุน โดยไม่คิดกำไรและดอกเบี้ย เมื่อครบทุนแล้ว จึงคืนสิทธิให้แก่เจ้าของเดิม ถนนที่มีอาคารร้านค้าเช่นนี้ ได้แก่ ถนนราชดำเนินใน ราชดำเนินกลาง ราชดำเนินนอก สามเสน ราชวิถี มหาไชย มหาราช ดินสอ อุณากรรณ จักรเพชร ตรีเพชร ตีทอง พาหุรัด ราชวงศ์ ทรงวาด ข้าวสาร ตะนาว

อาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา สังคมไทยเกิดชุมชน ที่เป็นย่านตลาดถาวรตามที่ต่างๆ ในระดับอำเภอเกือบทั่วประเทศ ชุมชนที่เป็นย่านตลาด มีผู้คนหลากหลายอาชีพมารวมกัน กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการคมนาคม สินค้าที่นำมาขายจึงไม่เพียงแต่เป็นของใช้ที่จำเป็น ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงของสวยงาม ซึ่งไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอีกด้วย

นับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา บ้านเมืองมีความเจริญขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ ตลาดและย่านการค้าใหม่ๆ เกิดขึ้น ตามเส้นทางคมนาคมทางบกเป็นหลัก และพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ตามสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

ปัจจุบัน เมืองและชุมชนมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นวิถีการดำเนินชีวิต ลักษณะของอาคารบ้านเรือน วิธีการผลิต การขายสินค้า ส่งผลให้ตลาดมีลักษณะรูปแบบต่างๆ กัน เริ่มจากตลาดสดขนาดเล็กๆ ในหมู่บ้าน มาเป็นตลาดระดับกลาง หรือตลาดระดับชุมชน ริมถนนสายสำคัญๆ ที่มีกิจการต่างๆ มากขึ้น คือ ประกอบด้วยอาคารตลาดสด ตึกแถว อาคารพาณิชย์ และหาบเร่แผงลอย สินค้า และการบริการ ก็มีหลากหลายมากขึ้น ตลาดในลักษณะนี้ ได้แก่ ตลาดพงษ์เพชร ตลาดบางกะปิ ตลาดสะพานควาย ตลาดคลองเตย เป็นต้น

ตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่าตลาด ๒ แบบ ข้างต้นคือ ตลาดระดับ ๔ มุมเมือง หมายถึง ตลาดที่เป็นศูนย์กลางของพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น ที่รังสิต จังหวัดปทุมธานี ที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ตลาดสี่มุมเมืองนี้ มิได้หมายความว่า มีตลาดอยู่ทั้ง ๔ ทิศของเมือง แต่มีนัยว่า เป็นตลาดที่แบ่งเป็นส่วนๆ เป็นทิศเป็นทางกันได้ มักประกอบด้วยตลาดสดหลายๆ ตลาด ตึกแถวอาคารพาณิชย์นับเป็นร้อยๆ ห้อง ตลอดจนหาบเร่แผงลอยจำนวนมาก การค้าขาย และการบริการ มีตลอดทั้งวัน ในระดับที่มากกว่าตลาดระดับกลาง
หัวข้อก่อนหน้า