 |
ถ้าเราจะตั้งคำถามลูกหลานที่บ้านหรือเด็กที่โรงเรียนว่า “ไปตลาดกันไหม” หรือ “หนูอยากได้อะไรที่ตลาด” คำตอบที่ได้รับ ย่อมเป็นไปในแนวเดียวกันว่า “หนูอยากซื้อขนม อยากซื้อของเล่น”
ถ้าถามต่อไปว่า “หนูชอบตลาดแบบไหน” เด็กทั่วไปมักจะตอบคล้ายๆ กันว่า “หนูชอบตลาดใกล้บ้าน เพราะไม่ต้องเดินไกล” หรือ “หนูชอบตลาดนัด เพราะมีของหลายอย่าง ทั้งของกินและของเล่น” หรือ “หนูชอบตลาดใหญ่ๆ เพราะมีทั้งขนม ของเล่น และดินสอสี”
|
 |
แต่ถ้าเป็นเด็กในเมืองใหญ่ๆ ที่มีแหล่งการค้าขายหลากหลายอาจตอบว่า “หนูชอบซูเปอร์มาร์เกต เพราะมีของครบทุกอย่าง แล้วยังมีสวนสนุกให้เล่นอีกด้วย”
สำหรับวัยรุ่นในเมืองใหญ่ ที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีสูง ก็มักจะตอบว่า “พวกเราชอบตลาด ที่มีสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์”
|
 |
ในความเข้าใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับตลาด
ไม่ว่าจะเป็นยุคใด สมัยใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
ล้วนแต่มีความเข้าใจในแนวเดียวกันว่า ตลาดเป็นที่รวมของผู้คนทั้งในชุมชน
และต่างชุมชน ที่มุ่งมาสถานที่เดียวกัน และในเวลาเดียวกัน
เพื่อแสวงหาอาหาร และเครื่องใช้สอยในการดำรงชีวิต เพราะว่า
ตลาดก่อกำเนิดจากชุมชน ที่มีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง
แต่ละคนมีสิ่งของคนละอย่างสองอย่าง เมื่อต้องการสิ่งอื่นที่ตนไม่มี
ก็จะนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกัน
อาจเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างอาหารกับเครื่องใช้สอย
หรือระหว่างสัตว์พาหนะกับเครื่องใช้สอย ครั้นเมื่อชุมชน หรือถิ่นฐานนั้นๆ
เจริญขึ้น จนถึงขั้นมีเงินตราใช้ เช่น เงินพดด้วง
ก็จะมีการประเมินค่าสิ่งของที่จะแลกกับค่าของเงินตรานั้นๆ
จึงทำให้เกิดคำว่า “ซื้อ - ขาย” กันขึ้นแทนการแลกเปลี่ยนสิ่งของ |
 |
เราคงเคยได้ยินเพลงที่ชาวบ้านมักจะร้องกันในงานรื่นเริง
มีเนื้อร้องที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคม
และการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันของคนในสังคมไทยว่า
“ใครมีมะกรูดมาแลกมะนาว ใครมีลูกสาวมาแลกลูกเขย…”
ฉะนั้น
จึงสรุปได้ว่า ตลาดคือ สถานที่ หรือแหล่งรวมผู้คนทั้งหลาย ให้มาพบปะกัน
เพื่อซื้อหาอาหารการกิน และเครื่องใช้สอยต่างๆ ถึงแม้ว่าสถานที่ตั้ง
และรูปแบบของตลาด จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นตลาดไทย ตลาดจีน
ตลาดมอญ หรือตลาดฝรั่งก็ตาม
แต่ตลาดก็จะยังคงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชน ในทุกสังคมตลอดไป |