ฤดูการผลิตทุเรียนของประเทศไทย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 28
เล่มที่ ๒๘
เรื่องที่ ๑ วัดไทย
เรื่องที่ ๒ ประชุมจารึก
วัดพระเชตุพน
เรื่องที่ ๓ ตลาด
เรื่องที่ ๔ ทุเรียน
เรื่องที่ ๕ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
เรื่องที่ ๖ พิษภัยของบุหรี่
เรื่องที่ ๗ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เรื่องที่ ๘พลาสติกกับชีวิตในปัจจุบัน
เรื่องที่ ๙ แผ่นดินไหว
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๘ / เรื่องที่ ๔ ทุเรียน / ฤดูการผลิตทุเรียนของประเทศไทย

 ฤดูการผลิตทุเรียนของประเทศไทย

ฤดูการผลิตทุเรียนของประเทศไทย

ในอดีต ประเทศไทยสามารถผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ ๔ เดือนต่อปี เริ่มจากเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ซึ่งเป็นผลผลิตที่ผลิตได้ในภาคตะวันออก แล้วต่อช่วงฤดูการผลิตโดยผลผลิตจากภาคใต้ ระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ ๙ เดือนต่อปี เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม โดยแบ่งเป็นผลผลิตจากพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
  • ทุเรียนก่อนฤดูในพื้นที่จังหวัดระยอง และจันทบุรี เกษตรกรประสบความสำเร็จ ในการผลิตทุเรียนก่อนฤดูในเชิงการค้า โดยใช้สารแพกโคลบิวทราโซล เร่งให้ทุเรียนออกดอกได้ ในเดือนสิงหาคม และสามารถเก็บเกี่ยวได้ ในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ ยังทำให้มีผลผลิต ออกสู่ตลาดในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ก่อนที่ผลผลิตตามฤดูกาลปกติ จะออกสู่ตลาด ในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน
  • ทุเรียนล่าในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และชุมพร เกษตรกรในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน ประสบความสำเร็จในการผลิตทุเรียนล่า และมีผลผลิตออกสู่ตลาดในเดือนกรกฎาคม -สิงหาคมได้ เช่นกันกับเกษตรกรในจังหวัดชุมพรสามารถผลิตทุเรียนล่าออกสู่ตลาดได้ ในเดือนกันยายน - ตุลาคม
  • ทุเรียนทวาย เกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนทวาย สามารถทยอยตัดผลผลิตสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี โดยพิจารณาจากภาวะการตลาด เช่น เทศกาลต่างๆ และพยายามหลีกเลี่ยงการผลิต มิให้ผลผลิตออกมาในช่วงที่เป็นฤดูการผลิตปกติระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาผลิตผลทุเรียนตกต่ำ
๑. การผลิตทุเรียนก่อนฤดู

การผลิตทุเรียนก่อนฤดู ทำได้โดยการฉีดพ่นต้นทุเรียน ด้วยสารแพกโคลบิวทราโซล ความเข้มข้น ๑,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ส่วนต่อล้านส่วน ความเข้มข้นของสารที่ใช้ขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมของต้นทุเรียน ถ้าต้นมีความสมบูรณ์มาก ซึ่งจะสังเกตได้จากใบแก่มีขนาดใบใหญ่ สีเขียวเข้มเป็นมัน มีการแตกใบอ่อนมากหลายชั้นใบในช่วงที่ผ่านมา ความยาวข้อระหว่างใบแต่ละชั้นมาก ให้ฉีดพ่นด้วยความเข้มข้นสูง ในการฉีดพ่นต้องใช้สารจับใบทุกครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมสารแพกโคลบิวทราโซลของพืชให้ดีขึ้น

๒. การผลิตทุเรียนล่า

การผลิตทุเรียนล่า คือ การควบคุมให้ผลทุเรียนสุกแก่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายฤดู การผลิต เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาราคาผลิตผลตกต่ำ ในช่วงที่ผลผลิตทุเรียนโดยทั่วไปจะออกมาชุก ในระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน (ภาคตะวันออก) หรือระหว่างเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม (ภาคใต้) วิธีการผลิตทุเรียนล่าอาจกระทำได้โดย

(ก) ยืดเวลาสุกแก่ของผลที่เกิดจากดอกที่ออกตามฤดูปกติ

(ข) โดยการทำลายดอกรุ่นแรก ด้วยการเด็ดดอกทิ้ง หรือใช้สารเคมี แล้วรักษาดอกรุ่นที่ ๒ หรือรุ่นที่ ๓ ที่ออกตามมาในระยะหลัง

(ค) เลื่อนการออกดอกรุ่นแรกให้ล่ากว่าปกติ โดยวิธีการให้น้ำและปุ๋ยแก่ต้นทุเรียน ในขณะที่สภาพภูมิอากาศเริ่มแล้ง พร้อมจะชักนำการออกดอกตามฤดูกาลปกติ หรืออาจใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตพืช

๓. การผลิตทุเรียนทวาย

ทุเรียนทวาย คือ ทุเรียนที่ทยอยสุกแก่ออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนทวาย โดยใช้หลักการดังนี้

๑) ราดสารแพกโคลบิวทราโซลลงดิน ในอัตรา ๒๐ - ๘๐ กรัม/ต้น ทุเรียนจะทยอยออกดอก ตามกิ่งประเภทต่างๆ ทั้งปี

๒) เลือกกิ่ง เพื่อใช้ในการติดผลตามสภาพความพร้อมของต้น และสภาพความพร้อมของกิ่งประเภทต่างๆ

๓) จัดการปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย น้ำ การอารักขาพืช การผสมเกสร และการตัดแต่งดอก ผล ฯลฯ ตามขั้นตอนของเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนให้สอดคล้องกับสภาพต้น และความพร้อมด้านต่างๆ ของแต่ละกิ่ง

๔) จากการใช้สารแพกโคลบิวทราโซลราดดิน ต้นทุเรียนจะมีสภาพใบเล็กและข้อสั้นตลอดเวลา ซึ่งสภาพดังกล่าวสามารถฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้โดยการฉีดพ่นสารที่มีส่วนประกอบของไซโตไคนิน (Cytokinin) อยู่ด้วย ๒ - ๓ ครั้ง รวมทั้งการจัดการปัจจัยการผลิตด้านต่างๆควบคู่ไปด้วย เช่น การตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ และการอารักขาพืชด้านโรคและแมลง
หัวข้อก่อนหน้า