สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 28
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๘ / เรื่องที่ ๖ พิษภัยของบุหรี่ / การเลิกสูบบุหรี่
การเลิกสูบบุหรี่
การเลิกสูบบุหรี่
ผู้ที่สูบบุหรี่ร้อยละ
๘๐ ต้องการเลิกสูบบุหรี่ เหตุที่การเลิกสูบบุหรี่ทำได้ยาก
เพราะว่าบุหรี่มีนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติด ผู้ที่เสพติดบุหรี่แล้ว
จะต้องมีความตั้งใจจริง และมีความพยายาม จึงจะเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างถาวร
เคล็ดลับในการเลิกสูบบุหรี่
คือ
- ขอคำปรึกษา จากผู้ที่เชี่ยวชาญ หรือจากบุคลากรทางการแพทย์
- หากำลังใจ จากคนใกล้ชิด เพื่อให้ช่วยเป็นกำลังใจ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องต่อสู้กับอาการขาดนิโคติน
- วางเป้าหมายไว้ล่วงหน้า
เตรียมตัวให้พร้อมในการเลิกสูบบุหรี่ และการปฏิบัติตนขณะเลิกสูบบุหรี่
โดยกำหนดวันที่ที่จะเลิกสูบ อาจเลือกวันสำคัญของครอบครัว ของชาติ
ของตัวเอง หรือวันสำคัญทางศาสนา โดยควรกำหนดวันที่ใกล้ที่สุด
- ลงมือปฏิบัติ
โดยการทิ้งบุหรี่ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เตรียมน้ำและผลไม้
หรือของขบเคี้ยวที่ไม่หวาน เพื่อช่วยลดความอยากสูบบุหรี่
รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่ทำให้อยากสูบบุหรี่ เช่น อ่านหนังสือ
แทนการสูบบุหรี่ ระหว่างเข้าห้องน้ำ
ลุกจากโต๊ะอาหารทันทีที่รับประทานอาหารอิ่ม
แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร เมื่อเครียดหรือหงุดหงิด ก็อาบน้ำ
หรือใช้ผ้าเย็นเช็ดหน้า ดื่มน้ำมากๆ หากิจกรรมอื่นทำ
เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ หรือคลายเครียด
- ถือคำมั่น ไม่หวั่นไหว ต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวกับคำล้อเลียน หรือคำชักชวน
- ห่างไกลสิ่งกระตุ้น
ต้องเลิกหรืออยู่ให้ห่างจากกิจกรรม ที่ทำให้อยากสูบบุหรี่ เช่น
การดื่มกาแฟ หรือดื่มแอลกอฮอล์ แล้วต้องสูบบุหรี่
ก็ควรงดหรือเปลี่ยนพฤติกรรม ในระยะแรกที่เลิกสูบบุหรี่
ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในกลุ่มผู้สูบบุหรี่
- ไม่หมกมุ่นความเครียด พึงระลึกไว้เสมอว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ใช้วิธีคลายเครียดด้วยวิธีอื่น ที่ไม่ใช้บุหรี่
- จัดเวลาสำหรับการออกกำลังกาย
อย่างน้อยวันละ ๑๕ - ๒๐ นาที เพราะนอกจากจะเป็นการควบคุมน้ำหนักแล้ว
ยังทำให้สมองปลอดโปร่ง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดและหัวใจ
- ไม่ท้าทายบุหรี่ อย่าคิดว่า ลองแค่เพียงมวนเดียว เพราะจะทำให้หวนกลับไปติดได้อีก
- อย่าท้อใจ ถ้าต้องเริ่มต้นใหม่ ขอให้พยายาม และทำให้สำเร็จ
โดยเฉลี่ยคนไทยที่สูบบุหรี่จะเลิกสูบ
เมื่ออายุ ๔๑ ปี สาเหตุส่วนใหญ่ที่เลิก เพราะห่วงสุขภาพ และรู้สึกว่า
ไม่เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง
ผลดีที่เกิดจากการเลิกสูบบุหรี่
ทันทีที่ผู้สูบบุหรี่เริ่มหยุดสูบบุหรี่
จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อร่างกาย และจิตใจ คือ
ระหว่างระยะเวลา ๑๒ - ๒๔ ชั่วโมง
ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่จับแน่นอยู่กับเม็ดเลือดแดง จะถูกขจัดออกไป
ปอดจะกลับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนรู้สึกว่า อาการเหนื่อยหอบง่าย
จะค่อยๆ หายไป และกำลังวังชาดีขึ้น ภายใน ๓ - ๔ วัน จะรู้สึกสดชื่นขึ้น
ความรู้สึกรู้รสและกลิ่น จะกลับคืนมา กลิ่นตัวปลอดกลิ่นบุหรี่ ภายใน ๓
สัปดาห์ การทำงานของปอดจะดีขึ้น ทำให้สามารถออกกำลังกายได้มากขึ้น ภายใน ๒
เดือน เลือดจะไหลเวียนไปสู่แขนขาได้ดีขึ้น ทำให้รู้สึกมีกำลังมากขึ้น
ภายใน ๓ เดือน ระบบขจัดสิ่งสกปรกในปอดจะทำงานได้เป็นปกติ
และสำหรับผู้สูบบุหรี่ที่เป็นเพศชาย
เชื้ออสุจิจะกลับเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติ และจำนวนเชื้ออสุจิ
ก็เพิ่มขึ้นด้วย ภายใน ๕ ปี
อัตราเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจขาดเลือดจะลดลง
จนเกือบเท่ากับคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย ภายใน ๑๐ - ๑๕ ปี
อัตราเสี่ยงต่อการตายด้วยโรคต่างๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่
รวมทั้งมะเร็งปอด จะใกล้เคียงกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่
|
|