กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน
มีหลักการคือ ใช้เชื้อเพลิง ต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอน้ำ
แล้วส่งไอน้ำไปหมุนกังหันไอน้ำ
ซึ่งเชื่อมต่อเพลาอยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
หลังจากปรับแรงดันไฟฟ้าให้เหมาะสม ก็ส่งกระแสไฟฟ้าไปตามสายส่ง
เพื่อใช้งานตามบ้านเรือน สำนักงาน และโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป
เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีอยู่หลายชนิด ได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน
ก๊าซธรรมชาติ และธาตุยูเรเนียม
|

| โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนชนิดหนึ่ง
โดยเป็นความร้อน ที่เกิดจากปฏิกิริยาแตกตัวทางนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง
หรือเรียกว่า ปฏิกิริยาลูกโซ่ นิวเคลียร์ ซึ่งเกิดจากการใช้อนุภาคนิวตรอน
วิ่งชนนิวเคลียสของเชื้อเพลิง (ธาตุยูเรเนียม) ให้แตก และเกิดความร้อน
จากนั้น จึงถ่ายเทความร้อนที่เกิดขึ้น ให้น้ำกลายเป็นไอน้ำ
เพื่อไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีหลายแบบ
ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ในปัจจุบันมี ๓ แบบ ได้แก่
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์ความดันสูง
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์น้ำเดือด และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบแคนดู |
ส่วนสำคัญของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือ
เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
ซึ่งปฏิกิริยาแตกตัวทางนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นอยู่ภายในถังปฏิกรณ์
เพื่อผลิตความร้อน แล้วใช้สารระบายความร้อน (น้ำหรือน้ำมวลหนัก)
ถ่ายเทออกไป เพื่อผลิตไอน้ำส่งเข้าระบบกังหันไอน้ำให้หมุน
และพาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนตาม ทำการผลิตไฟฟ้าออกมาใช้งาน
เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะมีสารหน่วงนิวตรอน (น้ำ หรือน้ำมวลหนัก
หรือแกรไฟต์) เพื่อลดพลังงานของนิวตรอน ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาแตกตัว
ซึ่งมีพลังงานสูงมาก ให้เป็นนิวตรอนที่มีพลังงานต่ำลง
ทั้งนี้เพื่อให้นิวตรอนทำปฏิกิริยานิวเคลียร์ได้ต่อไปอย่างเต็มที่
และต่อเนื่อง |
|
นอกจากนี้ ต้องมีแท่งควบคุม
ซึ่งทำด้วยสารที่ดูดจับนิวตรอนได้ดี
ทำหน้าที่ควบคุมการเกิดปฏิกิริยาแตกตัวให้เพิ่มขึ้น คงที่ ลดลง
หรือหยุดการเดินเครื่อง แท่งควบคุมนี้ สามารถดำเนินการได้โดยอัตโนมัติ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เน้นหนักในเรื่องความปลอดภัยมาก จึงได้รับการออกแบบ
ให้มีระบบความปลอดภัยหลายระบบ เพื่อป้องกัน และรองรับอุบัติเหตุ
ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยยึดหลักการป้องกันหลายชั้น
การดำเนินงานเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์
ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ แห่งสหประชาชาติ
นับตั้งแต่การเลือกสถานที่ตั้ง การออกแบบ การก่อสร้าง
และการทดสอบการเดินเครื่อง การบำรุงรักษา จนกระทั่งการเปลี่ยนเชื้อเพลิง
|
เชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนมาก
ผลิตจากแร่ยูเรเนียม ซึ่งมีธาตุที่สามารถแตกตัวได้ผสมอยู่ เช่น
ยูเรเนียม-๒๓๘ ยูเรเนียม-๒๓๕ และบางกรณีอาจใช้พลูโตเนียม-๒๓๙
ธาตุที่นิยมใช้มากที่สุดคือ ยูเรเนียม-๒๓๕
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบแคนดูสามารถใช้ธาตุยูเรเนียมจากธรรมชาติมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงได้
แต่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงบ่อยมากทุกวัน หรือทุกสัปดาห์
ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์ความดันสูง และแบบปฏิกรณ์น้ำเดือดนั้น
ต้องนำธาตุยูเรเนียมธรรมชาติซึ่งมีส่วนผสมของธาตุที่แตกตัวได้ (ยูเรเนียม-๒๓๕) ประมาณร้อยละ ๐.๗
มาผ่านกระบวนการเพิ่มสัดส่วนให้ได้ความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๒.๘ -
๓.๒ แล้วแปลงสภาพให้เป็นเม็ดรูปทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๘
เซนติเมตร และยาว ๑.๕ เซนติเมตร นำไปบรรจุเรียงกันในแท่งโลหะ
แล้วมัดรวมกันเป็นมัดเชื้อเพลิงเพื่อนำไปใช้งาน ประมาณ ๑๒ - ๑๘ เดือน
จึงเปลี่ยนเชื้อเพลิง
เชื้อเพลิงที่ใช้แล้วยังสามารถนำมาสกัดเอาธาตุยูเรเนียม-๒๓๕
ที่เหลือเพื่อทำเป็นเม็ดเชื้อเพลิงนำมาใช้ใหม่ได้อีก |
 |
เชื้อเพลิงที่ใช้แล้วยังไม่ถือว่า
เป็นกากอย่างแท้จริง
เพราะมีธาตุที่มีค่าเกิดขึ้นปนอยู่ภายในเม็ดเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว
ซึ่งประกอบด้วยไอโซโทปของธาตุต่างๆ เกือบ ๒๐๐ ชนิด เชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว
โดยปกติจะเก็บอยู่ในรูปของมัดเชื้อเพลิง
และนำไปบรรจุอยู่ในที่เก็บซึ่งแช่อยู่ในบ่อน้ำภายในโรงไฟฟ้า
มีพื้นที่ประมาณสระว่ายน้ำมาตรฐานทั่วๆ ไป
โดยสามารถเก็บเชื้อเพลิงจากการใช้งานได้นานตลอดอายุการใช้งานโรงไฟฟ้า
เพื่อรอการตัดสินใจในนโยบายขั้นสุดท้ายว่า จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
หรือฝังเก็บถาวร
ในบางประเทศมีนโยบายสกัดเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว
นำกลับมาใช้งานอีกครั้ง ดังนั้น
หลังจากมัดเชื้อเพลิงถูกแช่ในบ่อน้ำไม่ต่ำกว่า ๒ ปี จะถูกนำขึ้นมาบรรจุถัง
เพื่อลำเลียงไปยังโรงงานสกัดเชื้อเพลิง
สำหรับประเทศที่มีนโยบายฝังเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้วแบบถาวร
ถังบรรจุมัดเชื้อเพลิงจะถูกนำไปฝังเก็บอย่างถาวร
ในลักษณะเดียวกับกากกัมมันตรังสีระดับสูง
กากกัมมันตรังสีในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เกิดจากการทำงานในส่วนต่างๆ
ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยทางตรงจะเกี่ยวข้องกับระบบปฏิกรณ์นิวเคลียร์
เช่น ไส้กรองสารรังสี น้ำล้างทำความสะอาดโรงไฟฟ้า และเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว
ส่วนทางอ้อม ได้แก่ ถุงมือ และเสื้อผ้าของผู้ปฏิบัติงาน
การจัดการกากกัมมันตรังสีจากโรงงานสกัดเชื้อเพลิงมีหลายวิธี
โดยขึ้นอยู่กับระดับ ความแรงของรังสี สำหรับเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว
จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
|
 |
เมื่อนำไปสกัดท่อหุ้มมัดเชื้อเพลิงออกแล้ว
จะได้รับการจัดการเช่นเดียวกับกากอื่นๆ จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ส่วนกากที่ได้จากการสกัดแยกยูเรนียม และพลูโตเนียมออกแล้ว
ถือเป็นกากกัมมันตรังสีระดับสูง ซึ่งจะนำไปผสมรวมตัวกับแก้วหลอมชนิดพิเศษ
(บอโรซิลิเคต) ให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วบรรจุกากนี้ลงในถัง
และนำไปจัดเก็บในสถานที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ต่อไป
การเก็บกากกัมมันตรังสีระดับสูงที่เหมาะสม และได้รับความนิยมว่า
มีความปลอดภัยที่สุดในปัจจุบันคือ การฝังลงในชั้นหินแข็ง เช่น หินแกรนิต
หรือหินชนิดอื่นที่มีความแข็งใกล้เคียงกัน มีความลึกจากระดับผิวดินกว่า
๕๐๐ เมตรขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความลึกของชั้นหินแข็งในแต่ละสถานที่นั้น |