เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 28
เล่มที่ ๒๘
เรื่องที่ ๑ วัดไทย
เรื่องที่ ๒ ประชุมจารึก
วัดพระเชตุพน
เรื่องที่ ๓ ตลาด
เรื่องที่ ๔ ทุเรียน
เรื่องที่ ๕ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
เรื่องที่ ๖ พิษภัยของบุหรี่
เรื่องที่ ๗ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เรื่องที่ ๘พลาสติกกับชีวิตในปัจจุบัน
เรื่องที่ ๙ แผ่นดินไหว
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๘ / เรื่องที่ ๗ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ / เชื้อเพลิงนิวเคลียร์

 เชื้อเพลิงนิวเคลียร์

เชื้อเพลิงนิวเคลียร์

หมายถึง วัสดุเชื้อเพลิงที่ใช้เป็นต้นกำเนิดพลังงานความร้อน ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งความร้อนที่ได้ เกิดจากปฏิกิริยาแตกตัว แล้วถ่ายเทความร้อนให้แก่น้ำระบายความร้อน เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า ดังได้กล่าวมาแล้ว เชื้อเพลิงนิวเคลียร์แตกต่างจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ (fossil fuel) ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั่วไป ซึ่งใช้การเผาไหม้ของถ่านหิน ก๊าซ หรือน้ำมัน เป็นต้นกำเนิดพลังงานความร้อน

ข้อแตกต่างระหว่างเชื้อเพลิงนิวเคลียร์กับเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์

เชื้อเพลิงนิวเคลียร์

๑. ใช้หลักปฏิกิริยาแตกตัวทางนิวเคลียร์ในการผลิตความร้อน ไม่มีเขม่าควัน หรือก๊าซจากการแตกตัวออกสู่บรรยากาศ

๒. โรงไฟฟ้าขนาด ๑,๐๐๐ เมกะวัตต์ ใช้ปริมาณเชื้อเพลิงประมาณ ๓๐ ตัน/ปี

๓. ราคาเชื้อเพลิงไม่ผันผวน เพราะใน ๑ รอบการเดินเครื่อง (cycle) จะใช้เชื้อเพลิงประมาณ ๑ ใน ๓ ของทั้งหมดที่อยู่ในเครื่องปฏิกรณ์ เมื่อรวมกับเชื้อเพลิงสำรอง อีกประมาณ ๑.๕ เท่า จะทำให้สามารถเดินเครื่องได้ไม่ต่ำกว่า ๔ รอบ โดยต้นทุน เชื้อเพลิงไม่เปลี่ยนแปลงเลย (๑ รอบการเดินเครื่อง = ๑๘ เดือน)

๔. ต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะด้านในการผลิตเชื้อเพลิง

๕. กากเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นถูกกักอยู่ในแท่งเชื้อเพลิง เมื่อเลิกใช้งานแล้ว เชื้อเพลิง ยังคงสภาพทางกายภาพในลักษณะเดิม

๖. เชื้อเพลิงกลายเป็นกากกัมมันตรังสีสูง ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะด้านในการจัดการ แต่ใช้พื้นที่ไม่มาก

๗. ปริมาณสำรองเชื้อเพลิง (ธาตุยูเรเนียม/ทอเรียม) ในโลกเท่าที่สำรวจพบ มีอยู่ประมาณ ๖๐๐ Q ในกว่า ๒๐ ประเทศ (๑ Q ป ๑๐๒๑ จูล)

เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์

๑. ใช้หลักการเผาไหม้ในการผลิตความร้อน ทำให้เกิดเขม่าควัน ก๊าซเรือนกระจก จากการเผาไหม้ของสารไฮโดรคาร์บอน

๒. ใช้ปริมาณถ่านหิน ๒.๖ ล้านตัน หรือน้ำมัน ๒ ล้านตัน/ปี สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเดียวกัน

๓. หากเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาถ่านหินอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเทียบกับรอบการเดินเครื่องที่เท่ากัน

๔. ใช้เทคโนโลยีทั่วไปในการผลิตเชื้อเพลิง

๕. เปลี่ยนรูปเป็นเถ้าปริมาณมากในกรณีของถ่านหิน

๖. ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการจัดการกากเถ้าของถ่านหิน แต่ต้องใช้พื้นที่มาก

๗. ปริมาณสำรองเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ ๑๓๘ Q (ถ่านหิน ๑๓๒ Q น้ำมันและก๊าซ ๖ Q)

หมายเหตุ : ข้อมูลจาก Sustainable Development & Nuclear Power, IAEA, November 1997. 97-04710 IAEA/PI/A/55E.
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป