อันตรายจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 28
เล่มที่ ๒๘
เรื่องที่ ๑ วัดไทย
เรื่องที่ ๒ ประชุมจารึก
วัดพระเชตุพน
เรื่องที่ ๓ ตลาด
เรื่องที่ ๔ ทุเรียน
เรื่องที่ ๕ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
เรื่องที่ ๖ พิษภัยของบุหรี่
เรื่องที่ ๗ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เรื่องที่ ๘พลาสติกกับชีวิตในปัจจุบัน
เรื่องที่ ๙ แผ่นดินไหว
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๘ / เรื่องที่ ๙ แผ่นดินไหว / อันตรายจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย

อันตรายจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย
อันตราย จากแผ่นดินไหวในประเทศไทย

นับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีขีดความสามารถในการตรวจวัดแผ่นดินไหว ที่เกิดขึ้นในประเทศ ก็ได้มีการตรวจพบแผ่นดินไหวขนาดกลาง (ประมาณ ๕ริกเตอร์) จำนวน ๘ ครั้ง  และในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านธรณีวิทยาของโครงการก่อสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้มีการศึกษารอยเลื่อนที่มีพลัง ในเขตจังหวัดแพร่ โดยกรมทรัพยากรธรณีและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พบรอยเลื่อนที่มีพลัง ที่อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึง ๗ ตามมาตราริกเตอร์อันตรายจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามไปได้
ภาพแสดงตำแหน่งและขนาดของแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้ในประเทศไทย และในประเทศใกล้เคียงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕ - ๒๕๔๒
ภาพแสดงตำแหน่งและขนาดของแผ่นดินไหว ที่ตรวจวัดได้ในประเทศไทย และในประเทศใกล้เคียงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕ - ๒๕๔๒

ตารางแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ ๕ ริกเตอร์ขึ้นไปที่เคยตรวจวัดได้ในประเทศไทย
วัน-เดือน-ปี
สถานที่เกิด
มาตราริกเตอร์
๑๓ พ.ค. พ.ศ. ๒๔๗๘
จ.น่าน
๖.๕
๑๗ ก.พ. พ.ศ. ๒๕๑๘
อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
๕.๖
๑๕ - ๒๒ เม.ย. พ.ศ. ๒๕๒๖
อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
๕.๓, ๕.๙, ๕.๒
๑๑ ก.ย. พ.ศ. ๒๕๓๗
อ.พาน จ.เชียงราย
๕.๑
๙ ธ.ค. พ.ศ. ๒๕๓๘
อ.ร้องกวาง จ.แพร่
๕.๑
๒๑ ธ.ค. พ.ศ. ๒๕๓๘
อ.พร้าว จ.เชียงราย
๕.๒
๒๒ ธ.ค. พ.ศ. ๒๕๓๙
พรมแดนไทย-ลาว-พม่า
(ใกล้ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย)
๕.๕

ก. อันตรายจากแผ่นดินไหวขนาดกลาง

ในช่วง ๘๐ ปีที่ผ่านมา ได้มีการตรวจพบแผ่นดินไหวขนาดกลางถึง ๘ ครั้ง แผ่นดินไหวขนาดกลางนี้ สามารถทำลายอาคารบ้านเรือนในรัศมี ๑๐ - ๑๕ กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง หากเกิดขึ้นในบริเวณเมืองใหญ่ที่มีประชากร หนาแน่น ตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหวในประเทศอียิปต์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ มีขนาด ๕.๒ ริกเตอร์ มีศูนย์กลางห่างจากกรุงไคโร ๒๐ กิโลเมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๕๙๓ คน บาดเจ็บมากกว่า ๖๐๐ คน อาคารเสียหายมากถึง ๑๔,๐๐๐ หลัง แต่แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในประเทศไทยมักเกิดห่างไกลจากแหล่งชุมชน จึงไม่เกิดภัยพิบัติแต่ประการใด อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมืองอาจทำให้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ ในบริเวณพื้นที่ที่อาจเป็นศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว จึงเป็นเรื่องที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องให้ความสนใจกำกับดูแล

ภาพแสดงบริเวณที่มีความ เสี่ยงภัยต่อแผ่นดินไหวมากน้อยแตกต่างกันในประเทศไทย และประเทศ ใกล้เคียงโดยตัวเลขที่มีค่าสูงกว่าแสดงว่ามีความ เสี่ยงภัยมากกว่า
ข. อันตรายจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่

แผ่นดินไหวขนาดใหญ่หมายถึง แผ่นดินไหวขนาด ๖.๕ ริกเตอร์ขึ้นไป ตั้งแต่ได้มีการวัดขนาดแผ่นดินไหวในยุคใหม่ ในประเทศไทย ก็ไม่เคยปรากฏเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่า ประเทศไทยจะไม่มีอันตรายจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่

ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมทรัพยากรธรณี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านธรณีวิทยา ของโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และส่วนหนึ่งของการศึกษานี้ จึงได้มีการสำรวจรอยเลื่อนที่อยู่ในรัศมี ๑๕๐ กิโลเมตร จากตำแหน่งเขื่อน ผลการสำรวจแสดงว่า มีรอยเลื่อนที่มีพลังถึง ๗ รอย ที่อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึง ๗ ริกเตอร์ รอยเลื่อนหลายรอยมีตำแหน่งอยู่ใกล้ตัวเมือง ของจังหวัดลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา อย่างไรก็ดี คาบของการเกิดซ้ำ (Return Period) ของรอยเลื่อนแต่ละรอยอาจยาวนานนับ ๑,๐๐๐ ปีหรือ ๑๐,๐๐๐ ปี

ค. อันตรายที่อาจเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และหนาแน่น มีประชากรอยู่อาศัยกว่า ๘ ล้านคน มีอาคารสูงเป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลา ๒ ศตวรรษที่ผ่านมา มีการบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่สามารถรู้สึกได้มากกว่า ๒๐ ครั้ง ถึงแม้ว่า บางครั้งอาจทำให้ตระหนกตกใจ แต่ก็ยังไม่เคยสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง เมื่อพิจารณาด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหวต่ำ รอยเลื่อนที่มีพลังที่ใกล้ที่สุด อยู่ห่างออกไป ๑๒๐ - ๓๐๐ กิโลเมตร แต่ก็เป็นรอยเลื่อนที่มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างน้อย ส่วนรอยเลื่อนที่มีการเคลื่อนไหวบ้าง อยู่ห่างออกไป ๔๐๐ - ๑,๐๐๐ กิโลเมตร และที่ผ่านมาอาคารสูงส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ไม่ได้ถูกออกแบบให้ต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้
หัว ข้อก่อนหน้า หัว ข้อถัดไป