พระพุทธรูปสำคัญในสมัยต่างๆ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 29
เล่มที่ ๒๙
เรื่องที่ ๑ ศิลปาชีพ
เรื่องที่ ๒ พระพุทธรูป
เรื่องที่ ๓ การผลิตทองรูปพรรณ
เรื่องที่ ๔ อุทยาน ประวัติศาสตร์
ในประเทศไทย
เรื่องที่ ๕ สวนพฤกษาศาสตร์
เรื่องที่ ๖ เงินตรา
เรื่องที่ ๗ ปลาสวยงาม
เรื่องที่ ๘ ธาลัสซีเมีย
เรื่องที่ ๙ การดูแลสุขภาพ ที่บ้าน
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๙ / เรื่องที่ ๒ พระพุทธรูป / พระพุทธรูปสำคัญในสมัยต่างๆ

พระพุทธรูปสำคัญในสมัยต่างๆ

พระพุทธรูปศิลาปางทรงแสดงธรรม ศิลปะทวารวดี สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๕
ประดิษฐานที่บริเวณลานประทักษิณด้านทิศใต้ของพระปฐมเจดีย์
พระ พุทธรูปสำคัญในสมัยต่างๆ

พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี

เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ชุดหนึ่ง มี จำนวน ๕ องค์ สร้างเป็นหินทรายสีขาว ๔ องค์ และอีก ๑ องค์เป็นหินทรายสีเขียว แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม โดยเชื่อว่า ๔ องค์แรก ซึ่งมีลักษณะและขนาด เดียวกันประดิษฐานในจระนำของซุ้มเรือนธาตุทั้ง ๔ ด้าน ส่วนองค์ที่ ๕ อาจอยู่ในวิหาร พระพุทธรูปทั้งหมดอยู่ในสภาพชำรุดแตกหัก เป็นชิ้นส่วน ได้มีการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ใน ภายหลัง และเคลื่อนย้ายไปประดิษฐานตาม ที่ต่างๆ คือ องค์ที่ ๑ ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครปฐม เป็นองค์ที่ สมบูรณ์ที่สุด องค์ที่ ๒ ประดิษฐานที่บริเวณลานประทักษิณด้านทิศใต้ของพระปฐมเจดีย์ องค์ที่ ๓ จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร องค์ที่ ๔ จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และองค์ที่ ๕ ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ จังหวัด พระนครศรีอยุธยา

พระพุทธรูปศิลาทรายขาว หรือหินทรายสีขาวทั้ง ๔ องค์ เป็นปางทรงแสดงธรรม(วิตรรกมุทรา) ด้วยพระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา ประทับนั่งห้อยพระบาท ทั้งท่านั่งและการครองผ้าได้รับอิทธิพลทางด้านรูปแบบมาจากศิลปะ อินเดีย สมัยคุปตะและสมัยปาละ ส่วนลักษณะพระพักตร์สร้างเป็นแบบพื้นเมืองแล้ว

พระ พุทธรูปนาคปรก ปางมารวิชัย สมัยศรีวิชัย

พระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้พบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นพระพุทธรูปสมัยศรีวิชัยตอนปลาย ที่มีอิทธิพลของศิลปะขอมเข้ามาปะปนแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้มีความสำคัญคือ ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกที่กล่าวถึงผู้สร้างคือ เจ้าเมืองครหิ สร้างใน พ.ศ. ๑๗๒๖ สันนิษฐานว่า เมืองครหิคือ เมืองไชยาในปัจจุบัน ตามปกติพระพุทธรูปนาคปรกจะแสดงปางสมาธิ แต่พระพุทธรูปองค์นี้แสดงปางมารวิชัย

พระ พุทธรูปนาคปรก ศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย สมัยนครวัด

เป็นพระพุทธรูปนาคปรก สมัยนครวัด อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีลักษณะสำคัญคือ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ ประทับนั่งบนขนดนาค ๓ ชั้น มีเศียรนาค ๗ เศียร พระพักตร์สี่เหลี่ยมถมึงทึง พระเนตรเปิด ทรงเทริด และกรองศอ อันเป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะนครวัด
พระ พุทธรูปสมัยสุโขทัย

พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยมีที่สำคัญมากหลายองค์ ได้แก่

๑. พระพุทธชินราช

ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปสำคัญ และมีความงามมากที่สุดองค์หนึ่งในงานประติมากรรมไทยสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ราวๆต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐มีลักษณะเฉพาะของสกุลช่างสุโขทัยที่เรียกว่า หมวดพระพุทธชินราช คือ พระพักตร์รูปไข่ พระวรกายค่อนข้างอวบอ้วน นิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ ยาวเสมอกัน

พระพุทธชินสีห์ ศิลปะสุโขทัย ในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ(องค์ที่ประทับอยู่ด้านหน้า)


พระสุโขทัยไตรมิตร ศิลปะสุโขทัย ในพระวิหารวัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ
๒. พระพุทธชินสีห์

ประดิษฐานอยู่ ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เดิมประดิษฐานอยู่ที่พระวิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (ในรัชกาลที่ ๓) โปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปซึ่งมีรูปลักษณะงดงาม สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในคราวเดียวกับพระพุทธชินราช

๓. พระศรีศากยมุนี

ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๑ พระศรีศากยมุนีจัดเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่มากที่สุดองค์หนึ่ง และเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย รุ่นเดียวกับพระพุทธชินราช คงสร้างขึ้นในสมัยที่อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองสูงสุดในตอนต้นพุทธ ศตวรรษที่ ๒๐

๔. พระสุโขทัยไตรมิตร

ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓.๑๐ เมตร สูง ๓.๗๗ เมตร หล่อด้วยทองคำ ที่เรียกว่า ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา จัดเป็นเนื้อทองค่อนข้างบริสุทธิ์

เดิมพระพุทธรูปองค์นี้มีปูนหุ้มอยู่ทั่วทั้งองค์ และประดิษฐานอยู่ที่วัดโชตินาราม หรือวัดพระยาไกร มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปองค์นี้ไปไว้ที่ข้างพระเจดีย์ ในวัดสามจีน ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า วัดไตรมิตรวิทยาราม ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๙๘ จึงได้มีการสร้างพระวิหารหลังใหม่ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ ปรากฏว่า ในการเคลื่อนย้าย ปูนที่หุ้มองค์พระได้กะเทาะออก ทำให้เห็นว่า มีพระพุทธรูปองค์ในที่เป็นเนื้อทองคำทั้งองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่า พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร

ลักษณะศิลปกรรมของพระสุโขทัยไตรมิตรจัดเป็นพระพุทธรูปสุโขทัยในหมวด ใหญ่ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ชายสังฆาฏิเป็นเส้นเล็กยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายคล้ายเขี้ยวตะขาบ พระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่นิยมสร้างในราวๆ กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) เป็นต้นมา สำหรับพระสุโขทัยไตรมิตร นี้มีลักษณะที่สามารถเปรียบเทียบได้กับกลุ่มพระพุทธรูปที่มีจารึกที่ ฐาน เช่น พระพุทธรูป ทองโบราณ วัดหงส์รัตนาราม กรุงเทพมหา นคร ระบุศักราชที่สร้างคือ ๑๙๖๓ ดังนั้น พระสุโขทัยไตรมิตรจึงน่าจะสร้างขึ้นในราวๆ กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐

การที่พระสุโขทัยไตรมิตรมาประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครนั้น คงเกิดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองเหนือมาไว้ยังกรุงเทพมหานครเป็นจำนวน มาก และได้โปรดเกล้าฯให้นำไปประดิษฐานยังวัดต่างๆ ที่สร้างขึ้นใหม่ พระสุโขทัยไตรมิตรคงได้รับการอัญเชิญมาในคราวเดียวกันนี้ และนำมาประดิษฐานยังวัดโชตินาราม ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ดังกล่าวแล้วข้างต้น ส่วนการพอกปูนหุ้มทับองค์พระ พุทธรูปนั้น น่าจะเป็นการป้องกันอันตราย ในภาวะสงครามคราวใดคราวหนึ่ง

๕. พระพุทธรูปลีลาสมัยสุโขทัย

ประดิษฐานที่พระระเบียงวัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร มีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐

พระพุทธรูปลีลาถือเป็นประติมากรรมที่งามที่สุดแบบหนึ่งในศิลปกรรมไทย และเป็นรูปแบบที่เชื่อว่า ช่างไทยได้ประดิษฐ์ขึ้นเอง เพราะพระพุทธรูปลีลาลอยตัวไม่ปรากฏ ในศิลปะของชนชาติอื่นๆ ความเป็นมาของพระพุทธรูปลีลานั้น น่าจะมาจากพระพุทธรูปปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังการเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดา โดยเป็นตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงพระดำเนินลงมาตามบันได

พระเจ้าเก้าตื้อ ศิลปะล้านนา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๗ - ๒๐๕๓ วัดบุปผาราม จ.เชียงใหม่
พระ พุทธรูปสมัยล้านนา

ที่สำคัญ ได้แก่ พระเจ้าเก้าตื้อ และ พระเจ้าแข้งคม

๑. พระเจ้าเก้าตื้อ

ประดิษฐานในวิหารพระเจ้าเก้าตื้อ วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพระเมืองแก้ว (กษัตริย์ล้านนา พ.ศ. ๒๐๓๘ - ๒๐๖๘) โปรดให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๐๔๗ แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๐๕๓ จัดเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ล้านนาที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่ใหญ่ที่สุด หน้าตักกว้าง ๒.๙๐ เมตร สูง ๓.๘๙ เมตร เป็นพระพุทธรูปในกลุ่มที่มีอิทธิพลพระพุทธรูปหมวดใหญ่ในศิลปะสุโขทัย คือ ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ พระรัศมีเป็นเปลว แต่สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวลงมาจรดพระนาภี ซึ่งเป็นลักษณะอิทธิพลของศิลปะอยุธยาแล้ว

๒. พระเจ้าแข้งคม

ประดิษฐานที่วัดศรีเกิด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่มากองค์หนึ่งของล้านนา (หน้าตักกว้าง ๒.๓๒ เมตร สูง ๓.๖๕ เมตร) ตามประวัติกล่าวว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ โดยพระเจ้าติโลกราชโปรดให้หล่อขึ้น

ลักษณะของพระพุทธรูปแข้งคม มีความแตกต่างจากแบบแผนของศิลปะล้านนา ที่มีมาแต่เดิมอย่างเห็นได้ชัดคือ พระชงฆ์เป็นสัน (แข้งคม) พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระเนตรโปน พระโอษฐ์หนา ขอบพระโอษฐ์ซ้อนกัน ๒ เส้น มีไรพระศก ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง สังฆาฏิเป็นแผ่นขนาดใหญ่ยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายเป็นริ้วพับซ้อนกัน พระหัตถ์ขวาวางอยู่กึ่งกลางพระชงฆ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวไม่เสมอกัน ลักษณะดังกล่าวนี้สามารถ เปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ ๒ ที่มีอิทธิพลของศิลปะเขมรแบบบายน

พระ พุทธรูปแบบอู่ทอง (ศิลปะก่อนอยุธยา)

ที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธไตรรัตนนายก ประดิษฐานที่พระวิหารหลวง วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธา เรียกว่า “พระ โต” “หลวงพ่อโต” หรือ “หลวง พ่อพนัญเชิง” ชาวจีนเรียกว่า “ซำ ปอกง” ตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๘ ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ๒๖ ปี เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง สูงประมาณ ๑๙ เมตร ลักษณะพระพุทธรูปจัดเป็นแบบอู่ทองรุ่นที่ ๒ มีลักษณะพระพักตร์สี่เหลี่ยมเคร่งขรึม ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว

พระมงคลบพิตร วัดมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา
พระ พุทธรูปสมัยอยุธยา

ที่สำคัญคือ

๑. พระมงคลบพิตร

ประดิษฐานที่วิหาร วัดมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากพุทธลักษณะ และการค้นพบพระพุทธรูปขนาดเล็กแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง (ขัดสมาธิเพชร) บรรจุไว้ในพระอุระ แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยและศิลปะล้านนา แล้ว จึงเชื่อว่า พระมงคลบพิตรน่าจะสร้างขึ้น ในสมัยอยุธยาตอนต้น ประมาณพุทธศตวรรษ ที่ ๒๐ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน สูง ๑๒.๔๕ เมตร

๒. พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่

ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่นี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ในสมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในความหมายของปางทรมานพญามหาชมพู กษัตริย์ที่ถือพระองค์ว่า เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในจักรวาล พระพุทธองค์จึงเนรมิตพระองค์ ให้อยู่ในเครื่องทรงอย่างจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่กว่าพญามหาชมพู และทรงเทศนาโปรด จนกษัตริย์พระองค์นี้ ยอมผนวช และสำเร็จเป็นพระอรหันต์

ลักษณะพระพุทธรูปแสดงให้เห็นถึงงานช่างในสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ฉาบด้วยปูนปั้น ลงรักปิดทอง ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระราชทานนามว่า พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโพลี ศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ

พระพุทธรูป "พระ พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก"


พระพุทธไตรรัตนนายก "พระโต" วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้หล่อขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๘๐
พระ พุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์

๑. พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ประดิษฐานอยู่ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุง เทพมหานคร

พระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์นี้ พระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น ตามพระราชประเพณีนิยมที่เชื่อว่า มีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา คือ การสร้างรูปบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่อย่างพระมหาจักรพรรดิราชขึ้น ๒ องค์ เป็นพระพุทธรูปสำริดหุ้มด้วยทองคำ องค์หนึ่งจารึกพระนามว่า “พระ พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ถวายสมเด็จพระบรมอัยกา เพื่อใช้แทนพระนามเดิมว่า “แผ่น ดินต้น” อีกพระองค์หนึ่งจารึกพระนามว่า “พระ พุทธเลิศหล้าสุลาลัย” พระบรมชนกนาถ เพื่อใช้แทนพระนามที่เรียกมาแต่เดิมคือ “แผ่น ดินกลาง” ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเปลี่ยนเป็น “พระ พุทธเลิศหล้านภาลัย” ด้วยเหตุนี้ พระนามของพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ จึงกลายเป็นพระนามของรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ด้วยเหตุผลที่ไม่ประสงค์ให้เรียกพระนามรัชกาลที่ ๓ ว่า “แผ่น ดินปลาย”

พุทธลักษณะของพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ เหมือนกันคือ เป็นพระพุทธรูปยืน แสดงปางประทานอภัยทั้ง ๒ พระหัตถ์ (ห้ามสมุทร) ทรงเครื่องใหญ่อย่างพระมหาจักรพรรดิราชซึ่งมีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ตอนปลาย แต่ได้เพิ่มเครื่องทรงให้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น กรรเจียกจร กระหนกเหนือพระอังสา และเพิ่มชั้นของชายไหวชายแครง ลักษณะสำคัญคือ พระพักตร์แบบหุ่นที่เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูป ในรัชกาลที่ ๓

๒. พระพุทธไตรรัตนนายก

ประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารหลวง วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพมหานคร เดิมเรียกว่า “พระ โต” หรือ “หลวง พ่อโต” ชาวจีนเรียกว่า “ซำ ปอกง” หรือ “ซำ ปอฮุดกง” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายพระนามว่า “พระ พุทธไตรรัตนนายก” เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศที่ดินสร้างวัดกัลยาณมิตร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินช่วยสร้างพระวิหาร หลวง และพระพุทธรูปประธาน พร้อมทั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงก่อพระฤกษ์ พระโตสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๘๐

การสร้างพระโตซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีที่มาจากพระราชประสงค์สำคัญของรัชกาลที่ ๓ ซึ่งต้องการให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง เหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น การสร้างพระโตองค์นี้จึงน่าจะมีแรงบันดาลใจมาจากพระโต ที่วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลักษณะของพระโตเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัย พระพักตร์แบบหุ่น อันเป็นลักษณะเฉพาะของประติมากรรมในรัชกาลที่ ๓

๓. พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

ประดิษฐานบริเวณพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นพระพุทธรูปลีลาขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสำริดหนัก ๑๗,๕๔๓ กิโล กรัม โดยแบ่งหล่อเป็นชิ้นต่างๆ ขององค์พระ รวม ๑๓๗ ชิ้น แล้วจึงนำไปประกอบกับโครงเหล็กบนฐานพระพุทธรูป เพื่อเชื่อมรอยต่อ และปรับแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นพระพุทธรูปสูง ๑๕.๘๗๕ เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปลีลา หล่อด้วยทองสำริดที่มีลักษณะงดงาม และมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง เพื่อเป็นพระประธานของพุทธมณฑล พระพุทธรูปองค์นี้ออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ประติมากร ชาวอิตาลี ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทย และนายสาโรจ จารักษ์ จากกรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมการปั้นและขยายแบบ ได้หล่อขึ้นแล้วเสร็จ และนำขึ้นประดิษฐานใน พ.ศ. ๒๕๒๕

พุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากพระพุทธรูปลีลาสมัยสุโขทัย โดยมีส่วนที่เพิ่มเติมเข้าไป และถือเป็นงานประติมากรรมร่วมสมัย คือ การครองจีวรที่มีริ้วแบบเหมือนจริง
หัว ข้อก่อนหน้า หัว ข้อถัดไป