สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 3
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓ / เรื่องที่ ๑๐ ช้าง / การกินการนอน
การกินการนอน
การกินการนอน
การนอนหลับโดยปกติของช้าง
มีระยะเวลาสั้น ประมาณ
๓-๔ ชั่วโมง เวลานอนของมันอยู่ในระหว่าง ๒๓.๐๐-๐๓.๐๐
น. ของวันรุ่งขึ้น ลักษณะการนอน
ของช้างเมื่อหลับสนิท จะนอนตะแคงลำตัวข้างใดข้างหนึ่งลงกับพื้น
ช้างมีอาการหาวนอน และนอนกรน เช่นเดียวกับมนุษย์ ถ้าหากพบช้างนอนหลับในเวลากลางวัน ควรสันนิษฐานไว้ก่อนว่า
ช้างเชือกนั้นคงไม่สบาย หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เนื่องจากช้างมีเวลานอนน้อยนั่นเอง
มันจึงใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการกินอาหาร และเดินท่องเที่ยวไปในป่า
เวลาเดินไปก็กินหญ้าไปตลอดทาง กล่าวกันว่า ช้างเชือกหนึ่งจะกินอาหารและหญ้า คิดเป็นน้ำหนักประมาณ ๒๕๐ กิโลกรัมใน ๑ วัน
เนื่องจากช้างไม่มีกระเพาะพิเศษ
สำหรับเก็บอาหารไว้สำรอง แล้วสำรอกออกมาเคี้ยวเอื้องในยามว่าง
เหมือนดังเช่นวัวควาย
แต่ช้างก็มีวิธีเก็บสำรองอาหารไว้กินในระหว่างเดินทาง
หรือระหว่างทำงาน เช่น เอางวงกำหญ้าไว้ในขณะเดินทาง หรือเอาหญ้าและอาหาร เหน็บไว้ที่ซอกงาของมัน นอกจากนั้น
มันยังมีวิธีทำความสะอาดหญ้า ด้วยการใช้งวงจับหญ้าฟาด
ให้ดินหลุดหมดเสียก่อนที่มันจะกินด้วย ตามที่กล่าวมาแล้วว่า
ช้างเป็นสัตว์ที่กินอาหารมาก ดังนั้น ขณะที่ทำงาน หรือเดินทาง
มันจึงถ่ายมูลออกมาอยู่ตลอดเวลา
และมูลของมันนี้เองที่เจ้าของ หรือควาญ ใช้เป็นวิธีหนึ่ง
ในการนำทางไปตามจับช้างของตน สำหรับน้ำที่ช้างใช้ดื่มนั้น
โดยปกติช้างชอบดื่มน้ำสะอาด การดื่มใช้งวงดูดน้ำ แล้วพ่นเข้าปาก
กล่าวกันว่า ช้างที่ทำงานตัวหนึ่งๆ จะดื่มน้ำประมาณ ๖๐ แกลลอน หรือประมาณ
๑๕ ปีบ/วัน ดังนั้น การที่เราจะนำช้างจำนวนมากๆ มารวมอยู่ในที่เดียวกัน
ปัญหาเรื่องอาหารและน้ำ สำหรับช้างจึงเป็นเรื่อง ที่จะต้องพิจารณาก่อนอื่น
ตามปกติช้างเลี้ยง หรือช้างบ้าน เจ้าของมักจะปล่อยให้มันออกไปหากินเอง
แต่เพื่อมิให้ช้างเดินไปหาอาหารไกลๆ ทำให้ยากแก่การตามจับมาทำงานอีก
เจ้าของจึงมักจะใส่ปลอกที่ขาหน้าของมันไว้
ปลอกนี้อาจจะทำด้วยเหล็กหรือหวาย และเรียกกันในวงการทำไม้ว่า "จะแคะ"
ช้างที่ใส่ปลอกขาหน้าจะเดินได้ช้า และหากินได้ไม่ไกลนัก
|
ช้างใส่จะแคะ
|
ช้างเป็นสัตว์ที่ไม่กินเนื้อ (herbivorous) ฉะนั้น
อาหารของมันจึงเป็นพวกหญ้า และต้นไม้ หรือผลไม้ ซึ่งพอจะแบ่งแยกออกได้เป็น
๕ จำพวก คือ จำพวกหญ้า ได้แก่ พง แขม อ้อ กก หญ้าคา เอื้อง หมายนา
หญ้าแพรก หญ้ายอนหู หญ้าปล้อง หญ้า กระเดือยหนู หญ้าปากควาย หญ้าก๋งกาย
ฯลฯ จำพวก ไม้ไผ่ ไม้จำพวกนี้ช้างชอบกินใบยอดอ่อน และหน่อ ได้แก่
ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ป่า ไม้รวก ไม้ซาง ไม้ผาก ไม้ซางนวล ไม้ไผ่หอม ไม้บง ฯลฯ
จำพวกเถาวัลย์ ได้ แก่ สลอดน้ำ บอระเพ็ด หนามหัน ส้มป่อย เครือสะบ้า
กระทงลาย จิงจ้อ เล็บรอก หวายเครือ เขาน้ำ เครือเขา ขึ้น เถาวัลย์แดง ฯลฯ
จำพวกไม้ยืนต้น ช้างชอบกินทั้ง เปลือก ใบ และผล ได้แก่ ไทร มะเดื่อ กล้วย
ขนุน นางแย้มป่า ตุมกาขาว กุ่ม ส้มเสี้ยว สัก งิ้ว ถ่อน อ้อย ช้าง มะพร้าว
มะขาม มะขามป้อม มะเฟือง มะไฟ ปอสา จามจุรี มะยมป่า หว้า มะตูม มะขวิด
สมพง โพ เต่าร้าง กระพ้อ ค้อ ระกำ เป้ง ฯลฯ จำพวก พืชไร่สวน ได้แก่ ข้าว
เดือย ข้าวโพด อ้อย ข้าวฟ่าง สับปะรด ถั่วแระต้น ฟัก แตงต่างๆ มะพร้าว
มะละกอ กล้วย ฯลฯ อาหารเหล่านี้ ช้างจะหากินเอง เมื่อมันอยู่ในป่า
แต่ถ้านำมาเลี้ยงในหมู่บ้าน หรือนำมาทำงานใกล้บ้าน จำเป็นต้องหาอาหารพิเศษ
เช่น ข้าวเปลือก กล้วย อ้อย ทางมะพร้าว ผลมะละกอดิบ ฯลฯ ให้มันกินด้วย
ในเวลาที่ช้างไม่อาจไปหาอาหารในป่ากินเองได้
เจ้าของมักจะผสมเกลือลงไปในอาหารพิเศษ ที่จะให้มันกิน
เพื่อให้มันได้รับธาตุเกลือ แทนดินโป่ง ซึ่งเป็นดินเค็มที่มันเคยกินในป่า
นอกจากนั้น เจ้าของมักจะให้มะขามเปียกปั้นเป็นก้อนใส่เกลือไว้ข้างใน
ให้มันกินสัปดาห์ละครั้ง มะขามเปียกเป็นอาหารที่ช้างชอบมาก
และเป็นยาระบายอ่อนๆ เวลาจะให้ช้างกินยา
มักจะนำยาใส่ในก้อนมะขามเปียกให้มันกิน จะทำให้มันกินยาง่ายขึ้น
|
|