สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 3
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓ / เรื่องที่ ๑๐ ช้าง / การตกลูก
การตกลูก
การตกลูก
ช้างพัง
หรีอช้างตัวเมียที่สมบูรณ์ จะมีลูกได้เมื่อมีอายุระหว่าง
๑๕-๕๐ ปี ในประเทศพม่ามีผู้เคยพบช้างพัง ซึ่งมีอายุเพียง
๙ ปี ๑ เดือน ตกลูกออกมา
แม้ว่าลูกช้างที่เกิดจากแม่ช้างที่มีอายุน้อยตัวนี้จะมีอวัยวะครบสมบูรณ์
แต่ก็ไม่สามารถเลี้ยงให้มีชีวิตรอดได้
ฉะนั้นเรื่องนี้จึงถือว่า เป็นกรณีพิเศษ
ซึ่งนานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง
การผสมพันธุ์ของช้างระหว่างช้างตัวผู้กับช้างตัวเมีย
เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกับม้า วัว และควาย คือ
ช้างตัวผู้ใช้ขาหน้าคร่อมหลังของช้างตัวเมีย
การผสมพันธุ์ของมันนั้นมิได้ซ่อนเร้น หรือกระดากอายอย่างที่มีคนเข้าใจกัน
แต่ที่เราไม่ใคร่ได้เห็นช้างผสมพันธุ์กันบ่อยๆ นั้น
เพราะช้างต้องทำงานอยู่ในป่าห่างไกลจากผู้คน
จึงไม่ค่อยมีคนพบเห็นกันบ่อยนัก
อวัยวะเพศของช้างตัวเมียมีลักษณะเป็นถุงห้อยยานลงมา
ส่วนอวัยวะเพศของช้างตัวผู้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับม้า วัว ควาย
ผิดกันแต่ว่า มีขนาดใหญ่กว่า และอัณฑะของช้างนั้นอยู่ในช่องท้อง
ไม่ปรากฏให้เห็นข้างนอก การตั้งท้องของช้างมีระยะเวลาระหว่าง ๒๑-๒๒ เดือน เนื่องจากตัวของช้างมีลักษณะใหญ่
อ้วนกลมอยู่แล้ว ฉะนั้น ในระยะที่มันตั้งท้องจะสังเกตได้ยาก
บางทีเจ้าของจะทราบ ก็ต่อเมื่อช้างตกลูกออกมาแล้ว ดังนั้น
จึงต้องอาศัยสังเกตวิธีอื่นประกอบ เช่น เต้านมคัด มีน้ำนมไหล
หรือช้างไม่ยอมลุกนั่งตามคำสั่ง และไม่ยอมทำงาน ในกรณีที่ช้างอยู่เป็นฝูง
หรือเจ้าของช้างมีช้างหลายเชือก
แม่ช้างที่ท้องแก่จะหาเพื่อนช้างพังที่สนิท ไว้ช่วยเหลือในเวลาตกลูก
ช้างพังที่คอยช่วยเหลือนี้เรียกกันว่า "แม่รับ"
จะคอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา เมื่อช้างแม่ถึงกำหนดใกล้จะคลอดลูก
มักจะไปหาที่ ซึ่งมีหญ้าอ่อน หรือพื้นดินนุ่ม
เพื่อมิให้เป็นอันตรายแก่ลูกที่จะคลอดออกมา
เพราะช้างแม่ส่วนมากจะยืนคลอดลูก โดยย่อขาหลังต่ำลงมา
ลูกอาจจะตกลงพื้นดินในระยะสูงพอควร
ลูกซึ่งคลอดออกมาจะมีถุงใสๆ เป็นเยื่อบางๆ หุ้มอยู่
แม่รับจะเข้าไปช่วยฉีกถุงเยื่อที่หุ้มออกจากตัวลูกช้าง ถ้าไม่มีแม่รับ
แม่ช้างจะฉีกถุงเยื่อนั้นเอง เมื่อฉีกถุงเยื่อออกแล้ว
ตัวลูกช้างยังเปียกน้ำเมือกที่หล่อเลี้ยงอยู่
หลังจากนั้นลูกช้างจะนอนตะแคงนิ่งๆ มีการเคลื่อนไหวเฉพาะส่วนงวงและหู
หรือขาบ้างเล็กน้อย ประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง พอตัวแห้งก็ค่อยๆ
พยุงตัวยืนขึ้นเอง และเดินไปมาได้ช้าๆ
ในระยะนี้แม่รับจะคอยประคับประคองลูกช้างอยู่ตลอดเวลา ต่อมาอีกประมาณ ๑
ชั่วโมง ลูกช้างก็จะเข้าไปหาแม่ เพื่อกินนม ลูกช้างบางตัวที่แข็งแรง
พอคลอดออกจากท้องแม่ได้เพียงครู่เดียว ก็สามารถเดินเข้าไปหาแม่ได้
การเข้าไปหาแม่ในเวลารวดเร็วเช่นนี้
เคยมีลูกช้างได้รับอันตรายจากแม่ของมันเอง โดยกัดงวงของลูกช้างจนขาด
และถึงแก่ความตายมาแล้ว เพราะในระยะเพิ่งคลอดลูกใหม่ๆ เช่นนั้น
ยังปรับตัวไม่ทัน เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างเจ็บปวดจากการคลอด
และยังไม่มีสัญชาตญาณแห่งการรักลูก จึงอาจทำร้ายลูกได้
การที่ธรรมชาติบังคับให้ลูกช้างนอนนิ่งอยู่ ประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง
จึงเดินเข้าไปหาแม่ได้นั้น เป็นการทอดระยะเวลาให้แม่ช้างบรรเทาความเจ็บปวด
และเกิดสัญชาตญาณในการรักลูกขึ้นมา อย่างไรก็ดี ถ้ามีแม่รับอยู่ในระยะนี้
แม่รับจะคอยกันลูกช้างไม่ให้เข้าใกล้แม่ จนกว่าจะเห็นว่าปลอดภัยแล้ว
จึงยอมให้ลูกช้างเข้าใกล้แม่ได้ ลูกช้างเมื่อคลอดใหม่ๆ จะมีขนยาว หัวเล็ก
งวงสั้น มีความสูงประมาณ ๗๕ เซนติเมตร มีงวงยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร
และมีน้ำหนักประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัม แม่ช้างมีนมสองเต้า เช่นเดียวกับสัตว์ ๔
เท้า ที่ออกลูกครั้งละ ๑ ตัวทั้งหลาย การกินนมของลูกช้างนั้น
ใช้ปากดูดหัวนมโดยตรง โดยยกงวงให้สูงขึ้น
เพื่อให้ปากซึ่งอยู่ตอนล่างของงวงสัมผัสกับหัวนมได้
ไม่ใช้วิธีเอางวงดูดนมแล้วพ่นใส่ปาก อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน
ลูกช้างจะหย่านมแม่
เมื่ออายุประมาณ ๓ ขวบ ในระยะที่ยังกินนมอยู่นี้
ลูกช้างจะติดตามแม่อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ลูกช้างมีอายุได้ประมาณ ๑ ขวบ
แม่ช้างหรือแม่รับจะพาลูกช้างไปหัดกินหญ้าอ่อนๆ
และคอยช่วยเลี้ยงดูอยู่เสมอ บางทีจะเอาใจใส่ดูแลมากกว่าแม่แท้ๆ
เสียด้วยซ้ำ ลูกช้างในระหว่างที่ยังไม่หย่านมนี้ มีนิสัยซุกซนมาก ดังนั้น
จึงมักจะได้รับอันตรายจากไม้กลิ้งทับ ในขณะที่แม่กำลังทำงาน
หรือได้รับอันตรายจากงูพิษกัด เพราะไปเล่นกับงู
โดยไม่ทราบว่า งูนั้นเป็นอันตรายแก่ตัวของมัน
ลูกช้างอายุ ๓ เดือน แม่ช้างเชือกหนึ่งอาจจะมีลูกได้ ๓-๔ ตัว ตลอดชีวิตของมัน
โดยปกติแล้ว แม่ช้างจะตกลูกเพียงครั้งละ ๑ ตัว และจะมีลูกห่างกันประมาณ ๓
ปี ทั้งนี้แล้วแต่สภาพแวดล้อม เช่น
ช้างป่าที่มีชีวิตเป็นอิสระ ย่อมมีลูกได้สม่ำเสมอกว่าช้างบ้าน ที่ถูกจองจำ
และต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา
|
|