การปลูกฝ้าย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 3
เล่มที่ ๓
เรื่องที่ ๑ ข้าว
เรื่องที่ ๒ ข้าวโพด
เรื่องที่ ๓ ฝ้าย
เรื่องที่ ๔ ยางพารา
เรื่องที่ ๕ ทรัพยากรป่าไม้
เรื่องที่ ๖ ผลิตผลป่าไม้
เรื่องที่ ๗ การทำไม้
เรื่องที่ ๘ วัชพืช
เรื่องที่ ๙ วัวควาย
เรื่องที่ ๑๐ ช้าง
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓ / เรื่องที่ ๓ ฝ้าย / การปลูกฝ้าย

 การปลูกฝ้าย
การปลูกฝ้าย

การปลูกฝ้ายที่กล่าวต่อไปนี้ ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงการปลูกฝ้ายในประเทศไทย ซึ่งฝ้ายที่ส่งเสริมให้กสิกรปลูกเป็นฝ้ายชนิดเฮอร์ซูทุม หลักการใหญ่ๆ ในการปลูกฝ้ายมีดังนี้
เมล็ดฝ้าย
เมล็ดฝ้าย
ที่ดิน

ควรเลือกที่ดินที่เหมาะสม ฝ้ายเป็นพืชดอน ไม่ต้องการน้ำขังแช่ราก ฉะนั้น พื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกฝ้ายจะต้องเป็นที่ระบายน้ำได้ดี แม้ว่าฝนจะตกหนักติดต่อกันหลายวัน น้ำก็จะต้องระบายออกได้ ที่ดินในสภาพที่ว่านี้ จึงต้องเป็นดินที่มีดินล่างระบายน้ำได้ดี เมื่อฝนตกลงมาก็ซึมลงไปได้รวดเร็ว เช่น ดินในท้องที่จังหวัดสุโขทัย และดินแถวอำเภอกำแพงแสน อำเภออู่ทอง หรือไม่ที่ดินนั้น จะต้องเป็นที่ลาดเนิน ซึ่งเมื่อฝนตกหนัก น้ำก็สามารถระบายออกได้โดยธรรมชาติ ถ้าที่ดินเป็นดินเหนียว การระบายน้ำไม่ดีก็ต้องยกร่องก่อนปลูก การที่ต้องเน้นหนักในเรื่องนี้ เพราะในประเทศไทยนั้น ระยะการปลูกฝ้ายอยู่ในระหว่างเดือนกรกฎาคมไปจนสิ้นฤดูฝน เรื่องคุณภาพของดินไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก เพราะปกติแล้ว ฝ้ายขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด ไม่ว่าดินร่วน ดินเหนียวหรือดินทราย ขอแต่ให้มีอินทรียวัตถุปนอยู่บ้าง และมีธาตุอาหารพืชอยู่พอควร ในที่ดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ ฝ้ายก็จะให้ผลิตผลเป็นที่พอใจ ถ้าปลูกฝ้ายในที่ดินอุดมสมบูรณ์มาก จะทำให้ต้นฝ้ายใหญ่โตเกินไป ทำให้เข้าไปปฏิบัติรักษา เช่น การพ่นสารเคมีป้องกัน และกำจัดแมลง และการเก็บเกี่ยวลำบากมาก สู้ดินที่มีความสมบูรณ์ปานกลางไม่ได้ ซึ่งอาจพูดได้ว่า ที่ดินที่ปลูกพืชอื่น เช่น ข้าวโพด ไม่ได้ผล แต่กลับเหมาะสำหรับการปลูกฝ้ายมาก
การเตรียมดิน

ได้แก่ การไถพรวนทำให้ดินร่วนซุย ซึ่งทำเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่อื่นๆ จะไถ ๒ หรือ ๓ ครั้ง ก็แล้วแต่สภาพพื้นที่ดิน ขอให้ดินนั้นร่วนซุยเป็นใช้ได้ การเตรียมดินควรเริ่มทำก่อนถึงกำหนดปลูกประมาณ ๑ เดือน โดยไถดะ ฆ่าหญ้าในครั้งแรก ทิ้งไว้ให้หญ้าตายก่อน ถึงวันปลูกจึงไถแปร และพรวนอีกครั้ง ก็จะใช้ปลูกฝ้ายได้ ถ้าหากปลูกไร่ใหญ่ต้องใช้เครื่องจักรกล เช่น เครื่องปลูก การพ่นสารเคมีป้องกัน และกำจัดแปลงเสมอ เพื่อให้เครื่องจักรกลทำงานได้สะดวก และมีประสิทธิภาพ
การปลูกฝ้ายเป็นแถว
การปลูกฝ้ายเป็นแถว ทำให้ดูแลรักษาสะดวก
ฤดูปลูก

ฤดูปลูกฝ้ายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่ต้องกำหนด เพราะปลูกฝ้ายก็เพื่อให้ได้ปุยฝ้ายสีขาวสะอาด ฉะนั้นจึงต้องกำหนดให้ฝ้ายไปแก่แตกปุยแตกสมอในเมื่อฝนหยุดแน่นอนแล้ว อายุของฝ้ายที่ปลูกเป็นอุตสาหกรรมโดยทั่วไป ตั้งแต่วันเริ่มงอกถึงวันแตกสมอ ใช้เวลาประมาณ ๑๒๐ วัน ถ้าปลูกฝ้ายต้นฤดูเกินไป ต้นฝ้ายจะงามก็จริง แต่เมื่อฝ้ายแตกสมอแล้ว ฝนยังไม่หยุด ทำให้ปุยฝ้ายเปียกเสียได้ และถ้าปลูกล่าเกินไปต้นฝ้ายก็จะเล็กได้ผลิตผลต่ำ ฉะนั้น ฤดูกาลสำหรับปลูกฝ้าย จึงต้องเลือกเอาเวลาที่จะให้ผลดีที่สุด เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นท้องที่ที่ฝนหมดเร็ว และดินไม่อุ้มน้ำนั้น จะต้องปลูกฝ้ายในระยะปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม จะให้ผลิตผลดี ในภาคเหนือ เช่น แพร่ น่าน และลำปาง ควรจะปลูกในต้นเดือนกรกฎาคม ในภาคกลางตอนเหนือ เช่น แถบสุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ สระบุรี และลพบุรี ปลูกได้ดีภายในเดือนกรกฎาคม ส่วนในภาคกลางตอนล่าง ตั้งแต่นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ลงไปถึงเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์นั้น ควรปลูกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม การที่ต้องกำหนดเวลาปลูกแตกต่างกันไปเช่นนี้ ก็เนื่องจากฤดูฝนหมดไม่เหมือนกัน
เมล็ดพันธุ์

ก่อนถึงเวลาปลูกจะต้องเตรียมเมล็ดพันธุ์ไว้ก่อนเมล็ดพันธุ์จะต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ไม่มีพันธุ์อื่นปะปน และเป็นเมล็ดใหม่ไม่ค้างปี เมล็ดฝ้าย ๑ กิโลกรัมจะมีจำนวน ๘,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ เมล็ด ฉะนั้น ไร่หนึ่งใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ ๒ กิโลกรัม แต่ควรมีเผื่อไว้ปลูกซ่อมบ้าง หากจะคลุกยาป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูก็ให้คลุกไว้ก่อนถึงเวลาปลูก ปกติเมล็ดฝ้ายที่ได้จากฝ้ายแก่ และเก็บรักษาดี จะมีความงอกไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๕ ในเวลา ๑ ปี
วัชพืชในไร่ฝ้าย
วัชพืชในไร่ฝ้าย
วิธีปลูก

การปลูกฝ้ายควรจะปลูกเป็นแถว ใช้ระยะปลูกระหว่างแถวห่างกันประมาณ ๑๐๐-๑๒๕ เซนติเมตร ระว่างหลุมห่างกัน ๕๐ เซนติเมตร ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่การปฏิบัติดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยว การปลูกจะปลูกเป็นหลุมๆ โดยใช้จอบขุดตื้นๆ ตามระยะที่กำหนดไว้ แล้วหยอดเมล็ดฝ้ายลงไป ๖-๗ เมล็ด/หลุม เอาดินกลบบางเพียง ๑ - ๑.๕ นิ้ว ก็ได้ หรือจะใช้ไถเปิดร่องก่อน แล้วโรยเมล็ดฝ้ายลงไปห่างๆ แล้ว จึงกลบดินก็ได้ ระวังอย่าขุดหลุมลึก หรือลงดินหนา ต้นฝ้ายจะงอกขึ้นไม่ได้ ถ้าดินมีความชื้นพอ หรือหลังจากปลูกมีฝนตกเพียง ๓-๔ วัน ต้นฝ้ายอ่อนก็จะงอกโผล่ขึ้นมา และเมื่อฝ้ายมีอายุได้ประมาณ ๒๐ วัน ต้องถอนให้ได้ตามระยะ ถ้าปลูกเป็นหลุมให้เหลือไว้ ๑-๒ ต้น อย่างทิ้งไว้มากกว่านี้ ผลิตผลจะต่ำลง การปลูกฝ้ายถ้าปลูกเป็นไร่ใหญ่อาจจะใช้เครื่องปลูก ซึ่งจะปลูกได้รวดเร็ว และมีระยะดีมาก

การปฏิบัติดูแลรักษา

การปฏิบัติทั่วๆ ไป ทำเช่นเดียวกับพืชไร่อื่นๆ คือ ต้องดายหญ้า พรวนดิน กสิกรส่วนมากดายหญ้าด้วยจอบอยู่แล้ว ฉะนั้น เมื่อดายหญ้าก็จะเป็นการพรวนดินไปในตัว ในขณะที่ดายหญ้า ควรจะถากเอาหญ้า และเศษดินมากลบโคนต้นฝ้ายไปตามแถวฝ้ายทุกครั้ง ปกตินั้นควรดายหญ้าฝ้ายครั้งที่ ๑ หลังจากปลูกประมาณ ๓ สัปดาห์ และดายหญ้าครั้งที่ ๒ เมื่อฝ้ายมีอายุ ๔๐-๔๕ วัน ในที่ที่มีหญ้าไม่มากนัก ดาย ๒ ครั้ง ก็พอ เพราะพอฝ้ายอายุได้ ๕๐- ๖๐ วัน ต้นฝ้ายจะโต ใบฝ้ายในแถวจะชิดกัน ทำให้แสงแดดส่องลงไม่ถึง ดินหญ้าก็จะขึ้นได้ลำบาก การดายหญ้า ถ้ากสิกรมีเครื่องพรวนสำหรับดายหญ้าก็ยิ่งดี จะทำให้การทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ในระหว่างหลุมก็จำเป็นต้องใช้แรงงานคนช่วยบ้าง สำหรับที่ที่มีหญ้าหนาแน่นจะต้องดายหญ้า ถึง ๓ ครั้ง
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป