แมลงศัตรูฝ้ายและการป้องกันกำจัด
การปลูกฝ้ายในประเทศไทย
การป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด
ซึ่งอาจทำให้ได้ผลิตผลสูง หรือล้มเหลว ไม่ได้ผลเลยก็ได้
เพราะในด้านดินฟ้าอากาศของประเทศไทยเหมาะสมกับการปลูกฝ้ายเป็นอย่างมาก
แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เหมาะสำหรับการแพร่ขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูฝ้ายด้วย
ฉะนั้น การปลูกฝ้ายจะได้ผลิตผลสูงหรือไม่ได้เลย
จึงอยู่ที่ความสามารถในการป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูได้เพียงใด
จากการสำรวจของด้านกีฎวิทยาแจ้งว่า
แมลงศัตรูฝ้ายทั้งหมดมีประมาณ ๔๐ ชนิด
แต่ถึงขั้นที่ทำความเสียหายให้แก่ฝ้ายมีประมาณ ๒๐ ชนิด
และที่ทำความเสียหายถึงขั้นร้ายแรงมีเพียง ๓ ชนิด
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า
แมลงศัตรูฝ้ายมีความสำคัญต่อการปลูกฝ้ายเป็นอย่างยิ่ง
จึงจำเป็นจะต้องรู้เรื่องแมลงศัตรู และวิธีป้องกัน
และกำจัดให้มากเป็นพิเศษ
เพื่อความสะดวกแก่กสิกรผู้ปลูกฝ้าย
จะได้ทราบถึงแมลงศัตรู ที่เข้าทำลายต้นฝ้ายในไร่ตามระยะอายุของฝ้าย
จะได้สะดวกต่อการป้องกัน และกำจัดได้ทันท่วงที
ฝ้ายจะมีแมลงศัตรูเข้าทำลายตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงระยะแก่จนเก็บเกี่ยวได้
การระบาดของหนอนแต่ละชนิดอาจระบาดมากน้อยแตกต่างกัน แต่ละปี
แต่ส่วนมากแมลงที่เข้ารบกวนฝ้ายมีดังนี้ |

เพลี้ยอ่อนทำลายฝ้ายได้ทุกระยะ
ทำให้ใบหงิก เส้นใยสกปรก |
ระยะที่ ๑ คือ
ระยะตั้งแต่ปลูกไปจนถึงเริ่มปรากฏดอกอ่อน หรือปี้
จะมีศัตรูเข้าทำลายทั้งเป็นแมลง และสัตว์อื่นๆ เช่น หนูผี และกิ้งกือ
ที่เข้าขุดคุ้ยกินเมล็ดพันธุ์ฝ้ายที่ปลูกไว้
แต่ศัตรูที่สำคัญที่สุดในระยะหลังจากฝ้ายงอกแล้ว
จนถึงระยะที่เริ่มมีใบจริง ๓-๔ ใบ หรือมีอายุประมาณ ๑ เดือน ก็คือ
แมลงปากดูด ได้แก่ เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาว
ในแมลง ๔ ชนิดนี้
เพลี้ยจักจั่นจะทำความเสียหายให้แก่ต้นฝ้ายอ่อนได้มากกว่าชนิดอื่นๆ
เพราะต้นฝ้ายอ่อนถ้าถูกแมลงชนิดนี้เข้ารบกวนทำลายมากๆ แล้วอาจตายหมดได้
เพลี้ยจักจั่นจะเริ่มเข้าเกาะดูดน้ำเลี้ยงใต้ใบฝ้าย
ตั้งแต่ฝ้ายมีอายุประมาณ ๑๐ วัน ถัดจากนี้เมื่อฝ้ายมีอายุได้ ๑๔-๑๕ วัน
จะมีเพลี้ยอ่อนเข้าเกาะ และดูดน้ำเลี้ยงใต้ใบฝ้ายเช่นกัน
ความเสียหายจากการทำลายของเพลี้ยอ่อนโดยตรง มีไม่มากเหมือนเพลี้ยจักจั่น
แต่เนื่องจากเพลี้ยอ่อนเป็นตัวนำเชื้อโรคใบหงิก
ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงมาสู้ต้นฝ้าย
จึงนับได้ว่า เพลี้ยอ่อนก็เป็นศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่ง
เพลี้ยไฟนั้นทำความเสียหายให้แก่ฝ้ายน้อยกว่าแมลง ๒ ชนิดที่กล่าวแล้ว
เพราะส่วนใหญ่เป็นแต่เพียงทำลายยอดของต้นฝ้ายอ่อน
ทำให้ฝ้ายแตกกิ่งก้านมากขึ้นกว่าปกติ ส่วนแมลงหวี่ขาวอาจเข้าทำลายทุกระยะ
และเป็นตัวนำโรคไวรัส ซึ่งจะทำให้ผลิตผลลดลง
มูลของแมลงที่ถ่ายลงบนเส้นใย จะทำให้เส้นใยสกปรก |
ระยะที่ ๒ คือ
ระยะที่ฝ้ายมีอายุ ๓๐-๖๐ วัน ซึ่งเป็นระยะที่มีดอกอ่อนจนถึงดอกบาน
ระยะนี้ส่วนมากจะเป็นแมลงที่เข้าทำลายดอกอ่อน ดอกแก่จนถึงสมออ่อน
และเจ้ายอดต้นฝ้าย แมลงที่เข้าทำลายระยะนี้ที่ถือว่าสำคัญมี ๒ ชนิด คือ
หนอนเจาะสมอสีเขียวหรือที่เรียกว่า หนอนเจาะสมออเมริกัน
และหนอนเจาะสมอสีน้ำตาล หรือหนอนหลังขาวที่เรียกว่า หนอนสะไปนี หนอน ๒
ชนิดนี้ เป็นตัวทำลายผลิตผลฝ้ายมากที่สุด เพราะเข้าทำลายตั้งแต่ดอกอ่อน
ดอกแก่ สมออ่อน และสมอแก่ ฉะนั้นเป็นระยะที่สำคัญ ที่ต้องเอาใจใส่ป้องกัน
และกำจัดให้มากที่สุด |

ผีเสื้อหนอนอเมริกัน |
ระยะที่ ๓ เมื่อฝ้ายมีอายุ ๖๐ วันขึ้นไป
ซึ่งเป็นระยะที่ฝ้ายกำลังเจริญงอกงามเป็นสมออ่อน
ในระยะนี้นอกจากจะมีหนอนเจาะสมอทั้ง ๒ ชนิด ในระยะที่ ๒ เข้าทำลายแล้ว
ยังมีหนอนพวกทำลายใบเข้ารบกวนเป็นหนอนม้วนใบฝ้าย หนอนคืบ และหนอนกระทู้
หรือหนอนโพรดีเนีย แต่หนอน ๓ ชนิดหลังนี้ ไม่ทำความเสียหายแก่ผลิตผลฝ้าย
เหมือนหนอนเจาะสมอสีเขียว และหนอนเจาะยอดเจาะสมอ |

หนอนกระทู้ |
ระยะที่ ๔
เมื่อฝ้ายมีอายุ ๖๐ วันขึ้นไป จนถึงฝ้ายแก่แตกปุย
นอกจากจะมีแมลงศัตรูจากระยะที่ ๑-๓ เข้ารบกวนแล้ว
อาจมีหนอนเจาะสมอสีชมพูเข้ารบกวนดอกฝ้าย ที่กำลังจะบาน
โดยเข้าไปกัดกินเกสร หริอเจาะเข้าไปในรังไข่ ทำให้ดอก และสมออ่อนร่วง
แล้วยังเข้าทำลายสมอแก่ โดยเจาะเข้าไปกินเมล็ดฝ้าย
ทำให้ปุยฝ้ายในสมอเสียหายหมด |