สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 3
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓ / เรื่องที่ ๓ ฝ้าย / หนอนเจาะสมออเมริกัน
หนอนเจาะสมออเมริกัน
หนอนเจาะสมออเมริกัน (American
Bollworm, Family Noctuidae Order Lepidoptera)
ถิ่นแพร่ระบาด
พบในแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย ยกเว้นอเมริกา แต่บางตำรากล่าวว่า
ฮีลิโอทิส ฮีลิโคเวอร์พา (Heliothis helicoverpa)
ที่ทำลายฝ้ายในอเมริกาเป็นชนิดเดียวกัน
ในเมืองไทยพบระบาดทำความเสียหายทุกแห่งที่มีการปลูกฝ้าย
ลักษณะของแมลง
ไข่
มีลักษณะกลม คล้ายฝาชี มีร่องจากยอดถึงฐาน ๒๔ ร่อง
ไข่ตอนแรกจะมีสีขาวอมเหลือง เลื่อมแสงแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ก่อนฟักตัวเส้นฝ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๔-๐.๕ มิลลิเมตร
หนอน
ตามธรรมดามี ๕
ระยะ ระยะที่ ๑ และ ๒ จะมีสีเหลืองขาวอมเหลืองถึงสีน้ำตาลแดง
มีจุดดำเห็นทั่วไป ระยะต่อไปมีรูปลวดลายสีต่างๆ กัน หนอนระยะที่ ๑
ยาวประมาณ ๑ มิลลิเมตร และภายใน ๒๔ ชั่วโมง จะยาว ๒-๒.๕ มิลลิเมตร
หนอนระยะที่ ๒ ยาวประมาณ ๓.๕-๔.๕ มิลิเมตร หนอนระยะที่ ๓ ยาวประมาณ ๘-๘
มิลลิเมตร หนอนระยะที่ ๔ ยาวประมาณ ๑๗-๑๘ มิลลิเมตร หนอนระยะที่ ๕
ยาวประมาณ ๒๕-๓๐ มิลลิเมตร หนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ ๔๐ มิลลิเมตร
สีต่างกันมาก บางทีอาจเป็นสีเขียว น้ำตาลชมพู น้ำตาลแดง จนกระทั่งดำ
ดักแด้
มีสีน้ำตาลไหม้ ผิวเรียบ หัวท้ายกลม ยาวประมาณ ๑๔-๑๘ มิลลิเมตร
ตัวแก่
รูปร่างป้อม ยาวประมาณ ๑๘ มิลลิเมตร กางปีก ๔๐ มิลลิเมตร สีต่างกัน
จากสีเหลืองทึบ เทาอมเขียว จนกระทั่วสีน้ำตาล
มีวงกลมสีดำเห็นชัดอยู่ตรงกึ่งกลางปีกหน้า |
หนอนเจาะสมออเมริกัน | ชีวประวัติและนิสัย
หลังจากผีเสื้ออกจากดักแด้แล้ว ๒-๕ วัน จึงเริ่มผสมพันธุ์ ตัวเมีย
วางไข่ได้โดยไม่ผสมพันธุ์ แต่ไข่ไม่ฟักในเวลากลางวัน ผีเสื้อเกาะนิ่งๆ
และเริ่มเคลื่อนไหวหลังจากพระอาทิตย์ตก
อาหารของผีเสื้อเป็นจำพวกน้ำหวานชนิดต่างๆ
ไข่ส่วนมากพบบนด้านบนของใบถึงปี้ดอก วางไข่เดี่ยวๆ กระจัดกระจายทั่วไป
ตัวเมียตัวหนึ่งวางไข่ติดต่อกัน ๔-๘ วัน ตลอดชีวิตของผีเสื้อจะวางไข่ได้
๖๘๔-๒,๐๖๒ ฟอง
เมื่อหนอนฟักออกมา
มักจะกัดกินเปลือกไข่หมด ก่อนที่จะกินสมอฝ้าย
มันจะแทะกินทุกหนทุกแห่งของต้นฝ้าย จนกระทั่งพบตาดอก ดอก หนอนเล็กๆ
ไม่ค่อยจะเจาะกินสมอโต หนอนโตขึ้นชอบกินตาดอก และสมออ่อน
ส่วนหนอนโตเต็มที่จะกินทุกส่วน เช่น ตาดอก ตา สมออ่อน สมอแก่
การแทะกินสมอที่โตๆ ส่วนมากหัวของหนอนจะอยู่ในโพรงที่เจาะดอก
และสมอที่ถูกทำลายจะพบมูลของหนอนถ่ายออกมาเต็ม ระหว่างกลีบรอบสมอกับสมอ
หนอนเคลื่อนไหวเปลี่ยนที่กินอยู่เสมอ ถ้าอยู่รวมกัน มันจะกัดกันเอง
และจะกินตัวที่บาดเจ็บ ถ้าขาดอาหาร หนอนจะอพยพไปหากินไกลๆ
โดยคลานไปตามพื้นดิน
หนอนตัวโตเต็มที่จะทิ้งตัวจากต้นพืชลงดิน แล้วเข้าดักแด้ในดิน หรือรอยแตกระแหง ซึ่งลึกประมาณ
๑-๗ นิ้ว
ผีเสื้อออกจากดักแด้จะคลานขึ้นมาบนดิน
ชีพจักร
ศึกษาที่ห้องทดลองบางเขน ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ อุณหภูมิ ๒๕-๒๗ องศาเซลเซียส
ระยะไข่ ๒ - ๓ วัน
ระยะหนอน ๑๔ - ๑๗ วัน
ระยะดักแด้ ๑๐ - ๑๒ วัน
ระยะผีเสื้อ ๑๗ - ๑๘ วัน
ระยะอายุขัย ๓๔ - ๕๐ วัน
ชีพจักรนี้ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของสภาพดินฟ้าอากาศ
อุณหภูมิ ความชื้น ในแต่ละสิ่งแวดล้อม ชีพจักรอาจแตกต่างกันมาก
พืชอาศัย
ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มะเขือเทศ ยาสูบ ถั่วต่างๆ และยังมีพืชอื่นๆ
อีกมากมายหลายชนิด เป็นอาหารให้หนอนเจาะสมออเมริกันขยายพันธุ์ตลอดปี |
หนอนเจาะสมออเมริกันกำลังทำลายดอกฝ้าย | ศัตรูธรรมชาติ
ขณะนี้มีแมลงวันชนิดหนึ่งพบทำลายหนอนเจาะสมออเมริกัน เป็นแมลง
ในวงศ์แทไคนิดี (Family Tachinidae) สกุลทาชินา (Tashina sp.)
การทำลายและความเสียหาย
หนอนเจาะสมออเมริกันจะกินใบฝ้าย ถ้าอาหารที่มันชอบ เช่น ตาดอก ดอก สมออ่อน
มีไม่เพียงพอ ถ้าเป็นตาดอก หนอนจะกินข้างในหมดเหลือแต่ส่วนนอก
หนอนจะเคลื่อนไหวกัดกินไปเรื่อยๆ โดยกินไม่ค่อยหมด
นิสัยนี้เพิ่มความเสียหายยิ่งขึ้น เพราะสมอที่ถูกเจาะแล้ว
เชื้อรา และบัคเตรีจะทำลายที่รอยแผลต่อไป
ความเสียหายจะมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการระบาด และเวลาเข้าทำลาย
หนอนเข้าทำลายตั้งแต่ตอนต้นฤดู และมีปริมาณการระบาดสูง
ความเสียหายจะรุนแรงมาก ในทางตรงกันข้ามถ้าหนอนเข้าทำลายล่า และปริมาณน้อย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็น้อยด้วย
ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๙ หนอนชนิดนี้เกิดเพียงบางปี
และเป็นเฉพาะแห่ง ความเสียหายอยู่ในระดับต่ำมาก
แต่หลังจากนั้นหนอนค่อยระบาดเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง
พบแทบทุกแห่งที่มีฝ้าย ทำความเสียหายอย่างร้ายแรง
จนเป็นเหตุให้การส่งเสริมขยายเนื้อที่ปลูกต้องล้มเหลว
ดังจะเห็นว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อที่ปลูกฝ้ายเหลือเพียง
ร้อยละ ๑๐ - ๒๐ ของเนื้อที่ปลูกปีก่อน ซึ่งมีเกือบถึง
ล้านไร่ โดยเฉพาะเขตสุโขทัยแหล่งฝ้ายใหญ่และเก่า
ที่สุด ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อที่ปลูกประมาณ ๒ แสนไร่
ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เหลือเพียงประมาณ ๔ หมื่นไร่เท่านั้น
|
|