ทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 3
เล่มที่ ๓
เรื่องที่ ๑ ข้าว
เรื่องที่ ๒ ข้าวโพด
เรื่องที่ ๓ ฝ้าย
เรื่องที่ ๔ ยางพารา
เรื่องที่ ๕ ทรัพยากรป่าไม้
เรื่องที่ ๖ ผลิตผลป่าไม้
เรื่องที่ ๗ การทำไม้
เรื่องที่ ๘ วัชพืช
เรื่องที่ ๙ วัวควาย
เรื่องที่ ๑๐ ช้าง
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓ / เรื่องที่ ๕ ทรัพยากรป่าไม้ / ทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย

 ทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย
ทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ใบกว้าง การจำแนกประเภทป่าไม้จึงไม่อาจดำเนินรอยตามแบบ ของซีกโลกตะวันตก ซึ่งแบ่งป่าไม้ออกเป็นประเภทตระกูลสน หรือไม้เนื้ออ่อน ซึ่งมีใบเรียวแคบเหมือนเข็ม และป่าใบกว้าง แต่ได้จำแนกประเภทของป่า โดยถือลักษณะของใบเป็นเกณฑ์ว่า เป็นประเภทที่ไม่ทิ้งใบ คือ เป็นป่าดงดิบ (evergreen) และป่าประเภททิ้งใบ หรือผลัดใบ (deciduous) เช่น ป่าเต็งรัง
ป่าประเภทผลัดใบ (ป่าเต็ง รัง) จังหวัดสุโขทัย
ป่าประเภทผลัดใบ (ป่าเต็ง รัง) จังหวัดสุโขทัย
ป่าไม้ที่สำคัญของประเทศไทย พอจะจำแนกออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ และป่าประเภทที่ผลัดใบ
จากป่าทั้ง ๒ ประเภทพอจะจำแนกออกเป็นชนิดใหญ่ๆ ได้ดังนี้

๑. ป่าดงดิบ

ป่าชนิดนี้ขึ้นอยู่ทั่วไปในทุกภาคของประเทศตามท้องที่ที่มีฝนตกชุก และท้องที่ที่มีความชุ่มชื้นมาก แต่ที่มีขึ้นอยู่มากที่สุด ได้แก่ ทางภาคตะวันออก และภาคใต้ มีเนื้อที่ป่าทั้งหมดประมาณ ๑๑ ล้านเฮกตาร์

พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กะบาก ยมหอม อบเชย ตะเคียน ยาง ชุมแพรก ตะแบก กันเกรา อินทนิล บุนนาค พันจำ ก่อ พญาไม้ มังตาล กำยาน หลุมพอ เคี่ยม ฯลฯ

๒. ป่าผลัดใบผสมหรือเบญจพรรณ

(Mixed decidouous forests) ขึ้นอยู่ทั่วไปทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ ๖ ล้านเฮกตาร์ ทางภาคเหนือมีไม้สักขึ้นปะปนอยู่ทั่วไปในป่าชนิดนี้ ทางภาคกลางคงมีอยู่บ้างในบางท้องที่ เช่น ที่กาญจนบุรี ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเคยมีไม้สักขึ้นอยู่บ้างในจังหวัดขอนแก่น หนองคาย และนครพนม แต่ปัจจุบันนี้มีเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย
ป่าเบญจพรรณ อำเภองาว จังหวัดลำปาง
ป่าเบญจพรรณ อำเภองาว จังหวัดลำปาง
พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สัก กว้าว มะค่าโมง ปันแถ ยมหิน เกล็ดดำ เกล็ดแดง ตะแบก ประดู่ ปอ มะกอก แค ปู่เจ้า ตีนนก โมก แดง ฯลฯ นอกจากนี้ ยัง มีไม้ไผ่ชนิดต่างๆ อีกด้วย

๓. ป่าแดง (Dry dipterocarp forests)

ขึ้นอยู่ทางภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีป่าชนิดนี้มากที่สุดคือ มีอยู่ร้อยละ ๗๐-๘๐ ของป่าชนิดต่างๆ หรือประมาณ ๑๐ ล้านเฮกตาร์

พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กว้าว เหียง กราด พลวง ซาก กะบก ตะแบกนา อินทนิล เต็ง รัง ประดู่ พยอม มะค่าแต้ รกฟ้า สมอแดง ก่อชนิดต่างๆ ฯลฯ
๔. ป่าเลนน้ำเค็ม (Mangrove forests)

ขึ้นอยู่ในที่ดินเลนริมทะเล และตามปากน้ำใหญ่ๆ ซึ่งมีน้ำทะเลขึ้นถึง ในจังหวัดภาคตะวันออกและภาคใต้มีเนื้อที่ประมาณ ๓๖๘,๐๐๐ เฮกตาร์

พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ แสม โกงกาง ประสัก ตีนเป็ด หลุมพอทะเล ตะบูน ฯลฯ
ป่าเลนน้ำเค็ม
ป่าเลนน้ำเค็ม
๕. ป่าสน (Pine forests)

ขึ้นอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณตั้งแต่ ๒๐๐ เมตรขึ้นไป มีอยู่มากทางภาคเหนือ ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีขึ้นอยู่บ้าง มีเนื้อที่ประมาณ ๑๓๖,๐๐๐ เฮกตาร์

พรรณไม้ที่สำคัญมีเพียง ๒ ชนิด คือ ไม้สนสองใบ และสนสามใบ ส่วนไม้เนื้ออ่อนชนิดอื่นยังไม่มีความสำคัญในขณะนี้

ต้นสนเหล่านี้ บางทีก็ขึ้นอยู่ในป่าสนล้วน และในบางแห่งก็จะขึ้นปะปนกับไม้ก่อ เหียง พลวง เต็ง และรัง
ป่าพรุ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
ป่าพรุ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
๖. ป่าบึงหรือป่าพรุ (Fresh water swamp forests)

ขึ้นอยู่ในที่ที่มีน้ำจืดขังอยู่ตลอดปี ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคกลางและภาคใต้ แต่ก็มีเนื้อที่ไม่มากนัก เพียงประมาณ ๗๙,๐๐๐ เฮกตาร์

พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ถ่อน กระทุ่มน้ำ กระโดน กระเบา ก้านเหลือง อินทนิลน้ำ เที๊ยะ กันเกรา โสก



๗. ป่าชายหาด (Beach Forests)

มีขึ้นอยู่เป็นเนื้อที่เพียงเล็กน้อยไม่สู้จะมีความสำคัญเท่าใดนัก

พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ หูกวาง สนทะเล โพทะเล หยีทะเล และกระทิง

๘. ป่าหญ้า (Savanna)

เป็นป่าหญ้าที่ขึ้นอยู่ในที่ราบ อาจมีต้นไม้เล็กๆ หรือไม้ปล้อง ไม้ล้มลุกอื่นๆ ขึ้นอยู่บ้าง ซึ่งไม่มีความสำคัญในทางการค้าแต่อย่างใด คงใช้ประโยชน์ในทางอ้อมเท่านั้น
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป