สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู ๓๐
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๐ / เรื่องที่ ๓ ปราสาทขอมในประเทศไทย / ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕
ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕
ปรางค์แขก จ.ลพบุรี เป็นปราสาทที่เก่าที่สุดในภาคกลางของประเทศไทย
(ประมาณ
พุทธศตวรรษที่ ๑๕)
เป็นต้นเค้าของปราสาทที่มียอดเป็นทรงพุ่ม
|
ช่วงพุทธศตวรรษ
ที่ ๑๔ - ๑๕
ในช่วงระยะเวลานี้จัดเป็นช่วงแรกของศิลปะขอมสมัยเมืองพระนคร
ซึ่งเป็นศิลปะแบบพระโค บาแค็ง เกาะแกร์ และแปรรูป ตามลำดับ
หลักฐานปราสาทขอมในช่วงเวลานี้ ที่พบในประเทศไทยมีน้อยมาก
และส่วนใหญ่อยู่ในสภาพพัง เพราะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐ
การกำหนดอายุทำได้ค่อนข้างยาก สิ่งที่สามารถกำหนดอายุได้ดีที่สุดคือ
ทับหลัง รวมทั้งอาจมีศิลาจารึกที่กล่าวถึงการก่อสร้างไว้ด้วย
ตัวอย่างปราสาท ที่จัดอยู่ในช่วงระยะเวลานี้ ได้แก่ ปราสาทสระเพลง
ปราสาทโนนกู่ ปราสาทเมืองแขก ที่อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
ปราสาทสังข์ศิลป์ชัย ที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ และปรางค์แขก
ที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี ส่วนแหล่งอื่นๆ พบเฉพาะทับหลัง
แต่องค์ปราสาทพังทลายไปหมดแล้ว เช่น
ทับหลังที่พบในบริเวณเทวสถานพระนารายณ์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา
เป็นศิลปะแบบพระโค ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕
หลักฐานจากปราสาทพนมวัน
อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา น่าจะเป็นแหล่งหนึ่งที่เคยมีปราสาทขอม
ในช่วงระยะเวลานี้ เพราะได้พบทับหลัง และจารึก ที่กรอบประตู
กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์เขมร ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑
(พ.ศ. ๑๔๒๐ - ๑๔๓๒) และพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๔๓๒ - ๑๔๔๓)
โดยทับหลังชิ้นหนึ่งเป็นศิลปะแบบพระโค
และอีกชิ้นหนึ่งเป็นศิลปะแบบบาแค็ง
สำหรับศิลปะแบบเกาะแกร์ ได้พบหลักฐานทับหลังหลายชิ้นจากปราสาทหลายแห่ง
เช่น ที่ปราสาทเมืองแขก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา
และที่ปราสาทสังข์ศิลป์ชัย อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานสำคัญแห่งหนึ่ง
เป็นฐานปราสาทขนาดเล็กที่ก่อด้วยอิฐ
บริเวณปราสาทพนมรุ้ง จากลวดลายบนเสาประดับกรอบประตูและศิลาจารึก
แสดงให้เห็นว่า
บริเวณนี้เคยมีการสร้างปราสาทมาแล้วก่อนที่จะสร้างปราสาทพนมรุ้งขึ้นใน
ภายหลัง
ปรางค์แขก
จังหวัดลพบุรี
อยู่ที่อำเภอเมืองฯ
นับเป็นหลักฐานปราสาทขอมในภาคกลางที่สำคัญ
และเหลืออยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด ศาสนสถานแห่งนี้เป็นปราสาทอิฐ
๓
หลัง โดยมีปราสาทหลังกลางที่มีขนาดใหญ่เป็นประธาน
จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม แสดงให้เห็นถึงวิธีการก่อสร้าง
ที่สืบทอดมาจากในสมัยก่อนเมืองพระนคร กล่าวคือ
เป็นปราสาทที่ก่ออิฐแบบไม่สอปูน และยังไม่มีการเพิ่มมุมชัดเจน
ในขณะที่ในสมัยหลังจะทำเป็นแบบเพิ่มมุมแล้ว
การเข้ากรอบประตูศิลา ยังเลียนแบบเครื่องไม้ คือ
มีลักษณะเป็นเสาติดผนังปรากฏอยู่
แต่ที่ศาสนสถานแห่งนี้ไม่ได้พบหลักฐานอื่นๆ เช่น ทับหลัง
หรือลวดลาย ที่จะสามารถกำหนดอายุได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้
ที่ปรางค์แขกยังแสดงถึงความเป็นศิลปะพื้นเมืองที่ต่างไปจากศิลปะของขอม
คือ
การประดับลายปูนปั้นที่ฐานสูงขึ้นอย่างมาก
และเครื่องบนหลังคาก็เพิ่มมุมมากยิ่งขึ้น อันเป็นต้นเค้าของปราสาท
และปรางค์ที่มียอดเป็นทรงพุ่มในระยะต่อมา สันนิษฐานว่า
ปราสาทนี้อยู่ในช่วงประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๕
และจัดเป็นปราสาทขอมที่เก่าที่สุด ในภาคกลางของประเทศไทย
|
|