
ลายจำหลักประดับกระจกที่ตกแต่งส่วนต่างๆ ของตู้ฐานสิงห์ |
สำหรับตู้ฐานสิงห์นั้น
ส่วนใหญ่จะทำเป็นฐานจำหลักประดับกระจก
ส่วนที่เป็นลายหน้ากระดานมักทำเป็นลายประจำยามลูกฟักก้ามปู
เรียงลำดับชั้นฐานด้วยลายบัวหลังสิงห์ ปากสิงห์ และเท้าสิงห์
ลายทั้งหมดประดับด้วยกระจกสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว และสีน้ำเงิน
โดยส่วนใดที่ไม่ประดับกระจกสี ก็จะลงรักปิดทองทึบ
องค์ประกอบของลายจำหลักประดับกระจก
แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันชาญฉลาดของช่างไทยโบราณ
ที่ตกแต่งส่วนต่างๆ ของตู้ ให้มีความผสมผสานกัน ระหว่างกระจกสี และลายทอง
ซึ่งดูกลมกลืนงดงามได้สัดส่วน อย่างน่าอัศจรรย์ใจ |
ขาตู้อีกประเภทหนึ่งคือ
ตู้เท้าคู้
ซึ่งส่วนใหญ่ไม่นิยมตกแต่งลวดลาย มักลงรักทึบเพียงอย่างเดียว
๒.
การตกแต่งด้วยภาพเคล้ากระหนก
ตามที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า
ช่างนิยมตกแต่งตู้พระธรรมด้วยลายกระหนกซึ่งส่วนมากทำเป็นเถากระหนก
โดยเริ่มต้นโคนเถาจากขอบล่างของตู้ และพุ่งยอดเถาขึ้นสู่ขอบบน
เปรียบเสมือนพันธุ์ไม้เลื้อย
ถ้าลักษณะไม้มียอดอ่อนสะบัดพลิ้ว แบบเปลวเพลิงต้องลม จะเรียกว่า
ลายกระหนกเปลวเครือเถา ถ้าลวดลายนั้นมีลักษณะเหมือนทรงของใบฝ้ายเทศ
เรียกว่า ลายกระหนกใบเทศ หรือถ้าเหมือนรวงข้าว เรียกว่า ลายกระหนกรวงข้าว
หากในระหว่างเถากระหนก เขียนภาพสัตว์จำพวกลิง กระรอก และนก
ที่เกาะหรือไต่ตามกิ่งก้านของลายกระหนก
ซึ่งสะท้อนภาพความเป็นไปตามธรรมชาติ ของไม้เถาไม้เลื้อย
เรียกตามศัพท์ช่างว่า ลายกระหนกเครือเถาเคล้าภาพสัตว์
นอกจากนี้
ยังมีภาพเคล้ากระหนก ที่แสดงถึงความรู้ความสามารถของช่างไทย
ในการสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นเอกลักษณ์ ของความเป็นชาติอีกหลายลักษณะ
โดยภาพเหล่านั้นช่างจะเขียนคละไปกับลวดลาย ถ้าเป็นภาพสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
จะแสดงด้วยตัวภาพหรือรูปร่าง
แต่หากเป็นภาพคนจะประกอบด้วยเครื่องแต่งกาย และกิริยาท่าทางอันเป็นแบบฉบับ
หรือเป็นไปตามจารีตประเพณี ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป
เพราะเป็นเหมือนกิริยาท่าทางในการแสดงบทบาท และอารมณ์ ของตัวละคร
ในนาฏศิลป์ไทยที่เป็นแบบฉบับ
อิริยาบถดังกล่าวใช้แทนอาการเคลื่อนไหวที่ให้ความรู้สึกบ่งบอกอารมณ์
ประกอบกับองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งช่างสามารถเขียนให้เห็นสภาพป่าเขา บ้านเมือง
พระราชวัง ชนชั้นสูง กษัตริย์ เทวดา ชนชั้นสามัญ ภิกษุ ลิง ยักษ์ สัตว์ป่า
สัตว์หิมพานต์ ทำให้ผู้ดูสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า เป็นภาพอะไร
ถ้าเป็นภาพเล่าเรื่อง ก็จะรู้ว่า เรื่องอะไร อยู่ในตอนใดของเรื่อง
ภาพเคล้ากระหนกที่มักปรากฏอยู่ตามตู้พระธรรม ได้แก่ ภาพต่างๆ ดังนี้
๑.
ภาพบุคคลเต็มเนื้อที่
นิยมเขียนเป็นภาพเทพารักษ์ เทพทวารบาล หรือเซี่ยวกาง
ยืนบนแท่นหรือนาคบัลลังก์ โดยมีลายช่อกระหนก หรือช่อดอกไม้เป็นพื้นหลัง |

ภาพบุคคลในเรื่องรามเกียรติ์ ในอิริยาบถท่าต่อสู้ เรียกว่า ภาพจับ |
๒.
ภาพจับ
เป็นภาพบุคคลในเรื่องรามเกียรติ์ในอิริยาบถต่างๆ
กันด้วยท่าโลมและท่าต่อสู้ โดยจับกันเป็นคู่ และจับเป็นหมู่ ๓ ตน ๔ ตน
หรือมากกว่านั้นก็มี เช่น ภาพพระรามกำลังรบกับทศกัณฐ์
หนุมานรบกับยักษ์หลายตน และหนุมานโลมนางสุวรรณมัจฉา |
๓.
ภาพเล่าเรื่อง
ภาพเคล้ากระหนกที่เป็นภาพเล่าเรื่องที่ตู้พระธรรม
ช่างมักเขียนเรื่องเหมือนกับเรื่องที่ใช้เขียนภาพจิตรกรรม
ฝาผนังตามโบสถ์วิหารทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นภาพพุทธประวัติ ทศชาติ
วรรณกรรมชาดก และรามเกียรติ์
การเขียนภาพเล่าเรื่อง บนตู้พระธรรม
มีทั้งแบบตัดทอนมาเขียนเรื่องเดียวทั้งตู้
และแบบเขียนหลายเรื่องรวมอยู่ในตู้เดียว
ซึ่งตำแหน่งของภาพแยกสัดส่วนกันชัดเจน สามารถเข้าใจภาพได้ถูกต้อง
ภาพในท้องเรื่องที่นำมาเขียนประดับตู้มักจะเลือกตอนที่สำคัญ
หรือตอนที่เห็นซ้ำๆ กันในภาพจิตรกรรม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
ไม่จำกัดว่าจะต้องใช้ทุกตอน
แล้วผูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างมีกฎเกณฑ์ในการแสดงออกของตัวภาพที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างเช่น ภาพพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นประธานของเรื่อง
ช่างจะสร้างให้เป็นภาพที่ผสมผสานกันระหว่างลักษณะสมจริงกับพุทธลักษณะ
อันเป็นอุดมคติที่ระบุไว้ในคัมภีร์พุทธลักษณะ กับเน้นให้เห็นพุทธบารมี
โดยช่างจะสร้างภาพให้มีกรอบประภามณฑล รอบพระวรกาย หรือรอบพระเศียร
หรือมีรัศมีรูปเปลวเหนือพระเศียร ส่วนตัวภาพอื่นๆ
ช่างจะทำให้มีรูปร่างลักษณะ อย่างอุดมคติกึ่งสมจริง
โดยที่ไม่แสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของตัวภาพทางใบหน้า
แต่สื่อความหมายแสดงพฤติกรรมต่างๆ ด้วยกิริยาท่าทาง ดังตัวอย่างต่อไปนี้ |