ความเป็นมาของวัดญวนในประเทศไทย
วัดญวนถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย
เมื่อมีการตั้งหลักแหล่งของชาวญวน ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
ของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ปลายสมัยธนบุรี
เป็นวัดทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานอย่างจีน
เนื่องจากชาวญวนเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจีนมานานนับพันปี
จึงมีการนับถือศาสนา ตลอดจนความคิดความเชื่อ ตามลัทธิอย่างจีน
และมีพิธีกรรมทางศาสนาคล้ายจีน แต่เนื่องจาก ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
คณะสงฆ์ญวนในประเทศไทย ไม่สามารถติดต่อกับคณะสงฆ์ญวนในเมืองญวนได้สะดวกนัก
อิทธิพลวัฒนธรรมทางศาสนาด้านแบบแผนการปฏิบัติ
จากแหล่งเดิมจึงคลายความเคร่งครัดลง
วัดญวนในประเทศไทยนับแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ได้ปรับระเบียบแบบแผนประเพณี พิธีกรรม
ตลอดจนวัตรปฏิบัติของสงฆ์ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางศาสนาในสังคมไทย เช่น
มีการบิณฑบาต การทำวัตรเช้าเย็น การถือวิกาลโภชนา
ทั้งยังมีการรับเอาประเพณีและพิธีกรรมแบบเถรวาทไปใช้หลายประการ เช่น
การบวช การเข้าพรรษา การทอดกฐิน การทอดผ้าป่า แต่ยังคงสวดมนต์เป็นภาษาญวน
เกิดเป็นอนัมนิกายในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุปถัมภ์และให้ความสำคัญแก่อนัมนิกาย
โดยโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดญวนตลาดน้อย
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า
วัดอุภัยราชบำรุง
และให้พระสงฆ์ญวนร่วมปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของอนัมนิกายในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาด้วย
ซึ่งยังคงปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน |
 การทำวัตรเช้าของพระสงฆ์ญวน |
พิธีกรรมที่ถือปฏิบัติในวัดญวน
๑. พิธีกรรมประจำปี
เป็นพิธีกรรมอันเนื่องด้วยความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าและคำสอนทางศาสนาที่มุ่งให้มีเมตตา
เสียสละ สร้างกุศลกรรม เพื่อให้เกิดความสุขความเจริญ พิธีกรรมเหล่านี้
ได้แก่ การบูชาดาวนพเคราะห์ การสรงน้ำพระพุทธรูป และหล่อเทียนพรรษา
การบริจาคทานทิ้งกระจาด และการถือศีลกินเจ
๒. พิธีกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของชีวิต
เป็นพิธีกรรมที่ยึดถือปฏิบัติในช่วงเวลาต่างๆ
ของชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคลและประโยชน์สุข ได้แก่ การบวช
การทำพิธีกงเต๊กอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
๓. พิธีกรรมอื่นๆ
ได้แก่ การทอดกฐิน การทอดผ้าป่า
|
 หอกลอง |
สถานที่ตั้งวัดญวนในประเทศไทย
วัดญวนในประเทศไทยมีหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ
และต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ เช่น วัดอุภัยราชบำรุง (ที่ตลาดน้อย)
วัดสมณานัมบริหาร (ที่สะพานขาว) วัดอนัมนิกายาราม (ที่บางโพ)
ในต่างจังหวัด เช่น วัดเขตร์นาบุญญาราม ที่จังหวัดจันทบุรี
วัดมหายานกาญจนมาสราษฎรบำรุง ที่จังหวัดยะลา วัดถาวรวราราม
และวัดถ้ำเขาน้อย ที่จังหวัดกาญจนบุรี
|
 หอระฆัง |
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของวัดญวนในประเทศไทย
วัดญวนในประเทศไทยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ผสมผสานระหว่างจีน
ญวน และไทย วัดญวนไม่นิยมสร้างโบสถ์ที่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์อย่างไทย
แต่มีการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิ หอกลอง และหอระฆัง
ซึ่งมีลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรมจีน ส่วนรูปเคารพที่เป็นสัญลักษณ์ของวัดญวน
คือ รูปท้าวมหาชมพู |
 ท้าวมหาชมพู |