
การปลงผมนาคในพิธีบวช |
ในขั้นตอนและรายละเอียดของพิธีมีลักษณะคล้ายคลึงกับทางฝ่ายเถรวาท
ตั้งแต่ขั้นตอนการปลงผมนาค ขานนาค รับศีล เปลี่ยนเครื่องทรง สวดมนต์
ถวายเครื่องอัฐบริขาร และถวายเพล จะมีข้อแตกต่างกันก็คือ
ในพิธีแบบมหายานอนัมนิกาย ไม่มีการใช้เครื่องดนตรีปี่กลอง
เหมือนในพิธีแบบเถรวาท
จะมีเพียงการเคาะจังหวะ ให้เป็นไปตามท่วงทำนองการสวดมนต์ ที่ใช้ภาษาญวน |
ในช่วงระหว่างเข้าพรรษากำหนดเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน
และออกพรรษาในเดือนกันยายน
พระสงฆ์วัดญวนจะต้องรักษาวินัยอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับการจำพรรษาของพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท
โดยเฉพาะในข้อบัญญัติ การละเว้นจากการไปค้างคืนที่อื่น
นอกจากมีกิจจำเป็นซึ่งได้ลาสัตตาหะแล้วเท่านั้น
|

ในพิธีบวชเป็นภิกษุสงฆ์ ผู้ที่จะบวชต้องจัดเตรียมเครื่องอัฐบริขารให้ครบตามจำนวนวินัย |
พิธีบวชเป็นพิธีกรรมที่สะท้อนความเชื่อในการถึงพร้อมซึ่งพระธรรมวินัย
โดยการที่ผู้มีจิตศรัทธา และประสงค์ จะให้บุตรเข้าพิธีบวช
นำบุตรไปมอบให้แก่เจ้าอาวาสวัด ที่ต้องการจะให้จำพรรษา
หรือไปมอบให้แก่พระภิกษุ ที่ต้องการให้เป็นพระอุปัชฌาย์
เพื่อให้ผู้ที่จะบวชได้ฝึกหัดขานนาค
และได้เรียนรู้ ที่จะเข้าสู่ขนบธรรมเนียม
ของการมีชีวิตในสถานภาพของบรรพชิต
ผู้ที่ต้องการบวชเป็นภิกษุสงฆ์
จะต้องจัดหาเครื่องอัฐบริขาร ให้ครบตามจำนวนวินัย เช่น ผ้าไตร
ตามแบบอนัมนิกาย บาตร ธมกรก (หม้อกรองน้ำ)
เข็มพร้อมทั้งกล่อง และด้ายเย็บผ้า มีดโกนพร้อมด้วยหินลับ ประคดเอว
และเครื่องอุปโภคอื่นๆ อันควรแก่สมณเพศ
ผู้ที่เข้ามาบวชในอนัมนิกายไม่ได้มีแต่ลูกหลานชาวญวน
ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยภาคกลาง และชาวไทยอีสาน
โดยเป็นผู้ที่รู้จัก และศรัทธาเลื่อมใส
ในความเชื่อที่ถือปฏิบัติของวัดญวนมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ
หรือเป็นผู้ที่วัดญวนแห่งนั้นๆ ให้ความอุปการะอยู่ พิธีบวชของวัดญวน
นอกจากจะมีการบวชในพรรษาแล้ว
ยังมีการบวชนอกพรรษา เช่นเดียวกับวัดทางฝ่ายเถรวาท และมีการบวชระยะสั้น ๓
-
๗ วัน หรือ ๑ - ๓ เดือน เช่น การบวชแก้บน และการบวชในช่วงฤดูร้อน |
พิธีกงเต๊ก
พิธีกงเต๊กเป็นพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ซึ่งเชื่อว่าเมื่อได้รับกุศลผลบุญนี้แล้ว จะทำให้พ้นทุกข์
และได้เสวยสุขในสวรรค์ เดิมการประกอบพิธีกรรม มีลำดับขั้นตอนต่างๆ ๑๔
ขั้นตอน และใช้เวลาในการประกอบพิธีกรรมถึง ๕ วัน ๕ คืน หรืออย่างน้อย ๒
วัน ๓ คืน ปัจจุบันมีการตัดลำดับพิธีลงบางขั้นตอน
เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และเพื่อให้พิธีเสร็จสิ้นลง ภายใน ๑
วัน ๑ คืน อย่างไรก็ตาม
การจัดพิธีขึ้นอยู่กับเจ้าภาพว่าต้องการให้จัดแบบครบถ้วนหรือไม่
โดยคณะสงฆ์แห่งวัดญวนก็จะจัดให้ตามที่ประสงค์

สิ่งของจำลองที่เผาอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ ในพิธีกงเต็ก
พิธีกงเต๊กยังสามารถประยุกต์ใช้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย
เรียกว่า กงเต๊กเป็น ซึ่งเป็นการทำพิธีกงเต๊ก เพื่อสร้างกุศลให้แก่ตนเอง
ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นการขอพรให้มีอายุยืนยาว มีความเป็นสิริมงคล
และเป็นการลบล้างชดใช้หนี้เวรหนี้กรรมที่ตนได้กระทำไว้ด้วยเจตนาก็ดี
ไม่เจตนาก็ดี และเป็นการทำบุญ เป็นอริยทรัพย์
ซึ่งในที่นี้มีความหมายเน้นหนักไปในเรื่องทรัพย์สิน
โดยมีการจำลองทรัพย์สินต่างๆ ที่ทำด้วยกระดาษ เช่น ตึกรามบ้านช่อง เงินทอง
สิ่งของต่างๆ ขึ้นเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งนั้นๆ เมื่อนำไปเข้าพิธีสวดแล้ว
ก็จะนำสิ่งเหล่านั้น เผาไปพร้อมกระดาษเงินกระดาษทอง ให้เหลือแต่เพียง
ขี้เถ้า เพราะเชื่อว่าทรัพย์สินเหล่านั้นจะไปปรากฏในปรโลก
ซึ่งตนเองจะได้ใช้เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว
พิธีกงเต๊กอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับก็กระทำในลักษณะเดียวกัน
และถือว่า เป็นการส่งสิ่งเหล่านั้น ไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเช่นกัน

การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในพิธีกงเต๊ก พิธีกงเต๊กนับเป็นพิธีที่มีความสำคัญและนิยมปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต
โดยได้รับการยกให้เป็นงานพิธีหลวงครั้งแรก
ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
(พระราชชนนีในรัชกาลที่ ๕) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ และจัดในฐานะพิธีหลวงต่อๆ
มาอีก เช่น เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
ใน พ.ศ. ๒๔๐๘ ในงานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ งานพระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
พระบรมราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓
และได้กลายเป็นประเพณี
ที่ต้องทำถวายในงานพระศพของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สืบต่อมา จนถึงปัจจุบัน
ค.
พิธีกรรมอื่นๆ
ได้แก่ พิธีทอดกฐิน และพิธีทอดผ้าป่า
วัดญวนจัดพิธีทอดกฐิน
และพิธีทอดผ้าป่าเช่นเดียวกับวัดฝ่ายเถรวาท โดยจัดในช่วงเทศกาลออกพรรษา
มีกำหนดภายใน ๓๐ วัน ซึ่งตรงกับช่วงเดือนกันยายนของทุกปี

พิธีทอดกฐินและพิธีทอดผ้าป่า ซึ่งมีขั้นตอนคล้ายเถรวาท
พิธีทอดกฐินจัดขึ้นโดยอาศัยความเชื่อตามตำนานสมัยพุทธกาลว่า
บุคคลใดตั้งใจ หรือศรัทธา
นำผ้าไตรจีวร มาถวายเป็นพระกฐินทาน ท่ามกลางหมู่สงฆ์
บุคคลนั้นก็จะได้ผลานิสงส์มากมายประมาณมิได้
ส่วนพิธีทอดผ้าป่า
จัดขึ้นในช่วงเวลาไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความสะดวก และความศรัทธาของเจ้าภาพ
หรืออาจจัดขึ้น ภายหลังพิธีกรรมใหญ่เสร็จสิ้นลง เช่น พิธีบวช |

พิธีทอดกฐินและพิธีทอดผ้าป่า ซึ่งมีขั้นตอนคล้ายเถรวาท |
พิธีกรรมต่างๆ
ข้างต้นยังคงเป็นพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติที่วัดญวนในปัจจุบัน
และสะท้อนถึงความเชื่อ ทางฝ่ายมหายานอนัมนิกาย
มีบางส่วนที่ได้ผนวกเอาความเชื่อ และวัตรปฏิบัติ ของทางฝ่ายเถรวาทเข้าไว้ด้วย |