สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู ๓๑
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๑ / เรื่องที่ ๖ ซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย / การเกิดซากดึกดำบรรพ์
การเกิดซากดึกดำบรรพ์
การเกิดซากดึกดำบรรพ์
ซากสิ่งมีชีวิตมีโอกาสกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ได้น้อยมาก
การที่สิ่งมีชีวิตที่ตายไปแล้ว ยังคงหลงเหลือซากหรือร่องรอย
ที่แปรสภาพเป็นซากดึกดำบรรพ์ได้
ต้องมีกระบวนการที่สำคัญ ๒ ประการ คือ ประการแรก
ซากสิ่งมีชีวิตจะต้องถูกตะกอนปิดทับกลบฝังอย่างรวดเร็ว หลังจากล้มตายลง
จนทำให้ซากไม่ถูกทำลายสูญหายไป และประการที่ ๒
จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ทำให้ซากดึกดำบรรพ์คงรูปอยู่ได้
ก่อนที่ซากดังกล่าว จะปรากฏขึ้นบนพื้นดินอีกครั้ง
จากการกัดเซาะหรือการยกตัวของเปลือกโลก |
ซากแมลงในชั้นหิน |
เมื่อสิ่งมีชีวิตล้มตายลง
ส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อจะผุพังย่อยสลายหายไป
คงเหลือแต่ส่วนที่เป็นโครงสร้างแข็ง เช่น เปลือกหอย กระดูก
ที่ถูกทับถมอยู่ในชั้นตะกอน
สารละลายแร่จากน้ำใต้ดินจะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในโพรงเปลือกหอยหรือโพรงกระดูก
ทำให้ชิ้นส่วนเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงสีไปจากธรรมชาติดั้งเดิม
และเสริมสร้างความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
หากน้ำใต้ดินมีแร่ซิลิกาสูง แทรกซึมเข้าไปแทนที่ ในเนื้อไม้
จะทำให้ได้ไม้ที่กลายเป็นหิน บางครั้งอาจมีแร่ชนิดอื่นเข้าไปแทนที่แร่เดิม
โดยที่โครงสร้างเดิมยังไม่เปลี่ยน เช่น แร่แมกนีเซียมหรือแร่เหล็ก
เข้าไปแทนที่แร่แคลเซียม หรือมีการจัดรูปผลึกใหม่ให้คงที่
เช่น เปลือกหอย โดยทั่วไปเป็นแร่อะราโกไนต์
ซึ่งเป็นสารแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีรูปผลึกไม่คงตัว
เปลี่ยนไปเป็นแร่แคลไซต์ ซึ่งเป็นสารแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีรูปผลึกคงตัว
นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการคาร์บอนไนเซชัน (carbonization)
ซึ่งเป็นกระบวนการแปรเปลี่ยนซากสิ่งมีชีวิตบางชนิด เป็นคราบคาร์บอนสีดำมัน
แสดงรอยพิมพ์สิ่งมีชีวิตดังกล่าว เช่น รอยพิมพ์ใบไม้
หรือแมลงในชั้นหินดินดาน หรือหินทราย |
ซากดึกดำบรรพ์นอกจากเป็นโครงสร้างแข็งของสิ่งมีชีวิตที่หลงเหลืออยู่แล้ว
บางครั้ง ก็พบซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิต
ที่ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มได้เช่นกัน เช่น รอยพิมพ์ของแมลง ในชั้นหิน
หรือในบางสภาวะแวดล้อมพบส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อ เช่น
ซากช้างแมมมอท ที่ถูกฝังอยู่ในชั้นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก
ซากไดโนเสาร์ที่กลายเป็นมัมมี่ในทะเลทราย
เนื่องจากอากาศแห้ง ทำให้ซากไม่เน่าเปื่อย หรือซากแมลงที่พบอยู่ในอำพัน
นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยการดำรงชีวิตของสัตว์ เช่น รอยเท้าสัตว์ รอยกัดแทะ
มูลสัตว์ รูหรือรอยชอนไช แนวทางเดินของสัตว์
ซึ่งจัดเป็นซากดึกดำบรรพ์เช่นกัน |
ซากดึกดำบรรพ์สามารถพบได้ในหินตะกอน
เช่น หินดินดาน หินทราย หรือหินปูน ทั้งที่พบโดยธรรมชาติ
จากการกัดเซาะของน้ำ ลม หรือบริเวณที่มีทางน้ำไหลผ่าน หรือริมชายฝั่งทะเล
และในบริเวณที่มีการกระทำของมนุษย์ เช่น การตัดถนน การขุดเหมืองถ่านหิน
หรือการระเบิดภูเขาทำเหมืองหิน ในการสำรวจหาซากดึกดำบรรพ์
หากรู้อายุหินในบริเวณนั้นโดยคร่าวๆ จากแผนที่ธรณีวิทยา
จะทำให้คาดคะเนได้ว่า ควรจะพบ ซากดึกดำบรรพ์อะไรได้บ้าง เช่น
ไดโนเสาร์ในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีหินทราย และหินดินดาน
ซึ่งเกิดจากการตกทับถมตามหนองบึง หรือทางน้ำโบราณ
มีอายุอยู่ในช่วงมหายุคมีโซโซอิก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ครองโลก
หรือถ้าต้องการค้นหาซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเล
ควรหาบริเวณที่มีภูเขาหินปูน
เนื่องจากหินปูนเป็นแหล่งสะสมของตะกอนทางเคมี ของสารคาร์บอเนต
ที่เกิดจากโครงสร้างของเปลือกหอย ปะการัง และสัตว์ทะเลหลายชนิด |
ซากสัตว์เลื้อยคล้านที่อาศัยในทะเล อยู่ในชั้นหินปูน พบที่ จ.พัทลุง |
|