สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู ๓๑
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๑ / เรื่องที่ ๖ ซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย / ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทย
ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทย
ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทย
ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทยมีหลากหลายเกือบทุกประเภท ได้แก่
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ปะการัง หอย ไทรโลไบต์ สัตว์มีกระดูกสันหลัง
เช่น เต่า ไดโนเสาร์ ปลา จระเข้ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ส่วนซากพืชพบหลายชนิด มีทั้งส่วนของลำต้น ใบ และละอองเรณู
นอกจากนี้ยังมีร่องรอยของสัตว์ดึกดำบรรพ์ เช่น รอยเท้า
และรอยทางเดินของไดโนเสาร์ รูและรอยชอนไชของหนอน
ซากดึกดำบรรพ์เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย คือ ซากไทรโลไบต์ มีอายุราว
๕๐๐ ล้านปี พบที่เกาะตะรุเตา ส่วนซากดึกดำบรรพ์ ที่มีอายุใหม่ ได้แก่
ซากหอยนางรมยักษ์ ที่พบจากชุดดินกรุงเทพฯ มีอายุเพียง ๕,๕๐๐ ปี

แหล่งซากดึกดำบรรพ์ เกาะตะรุเตา อ.ละงู จ.สตูล
ในที่นี้จะกล่าวถึงซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทยเพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง
โดยเรียงลำดับ ตามอายุทางธรณีวิทยาจากเก่าสุด ไปหาใหม่สุด ดังนี้ |

ไทรโลไบต์ ซึ่งมีอายุราว ๕๐๐ ล้านปี พบที่เกาะตะรุเตา |
ซากดึกดำบรรพ์ในมหายุคพาลีโอโซอิก
๑.
แหล่งซากดึกดำบรรพ์เกาะตะรุเตา อำเภอละงู จังหวัดสตูล
แหล่งซากดึกดำบรรพ์เกาะตะรุเตา
อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสตูลไปทางทิศตะวันตก ราว ๔๕ กิโลเมตร
เป็นบริเวณที่มีซากดึกดำบรรพ์ อายุเก่าแก่ ที่สุดในประเทศไทย
มีการสะสมตัวตั้งแต่
ยุคแคมเบรียนตอนปลาย ต่อเนื่องมาจนถึงยุคออร์โดวิเชียนตอนต้น ราว ๕๐๐ -
๔๗๐
ล้านปี มาแล้ว
ได้พบซากดึกดำบรรพ์ในชั้นหินดินดาน และหินทรายจากหลายบริเวณ บนเกาะตะรุเตา
ได้แก่ อ่าวตะโละโต๊ะโป๊ะ อ่าวตะโละอุดัง และอ่าวมะละกา
เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ไทรโลไบต์ บราคิโอพอด นอติลอยด์
และร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์
|
ไทรโลไบต์
เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทรโพดา (Arthropoda) พวกเดียวกับกุ้ง ปู
ที่เรียกชื่อว่า ไทรโลไบต์ เนื่องจากลำตัวแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ
ส่วนแกนลำตัว และอีก ๒ ส่วนด้านข้างลำตัว
รูปลักษณะคล้ายกับแมงดาทะเลปัจจุบัน แต่มีขนาดเล็กกว่า
ตั้งแต่ขนาดไม่กี่มิลลิเมตร จนถึง ๙๐ เซนติเมตร
ไทรโลไบต์อาศัยอยู่ในทะเลตื้น และตามแนวปะการัง
พบแพร่หลาย ในมหายุคพาลีโอโซอิกตอนต้น สูญพันธุ์ไปเมื่อปลายยุคเพอร์เมียน
ไทรโลไบต์ที่พบบนเกาะตะรุเตา มีบางชนิด เป็นชนิดใหม่ที่เพิ่งพบในโลก เช่น Parakoldinioidia
thaiensis, Thailandium solum และ Eosaukia
buravasi
|
บราคิโอพอด
เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ในไฟลัมบราคิโอโพดา (Brachiopoda)
ส่วนใหญ่เป็นพวกเกาะติดที่ (sessile)
ตามหิน หรือวัตถุ ที่อยู่บนพื้นทะเลบริเวณน้ำตื้น มีลักษณะคล้ายหอยกาบคู่
เช่น หอยแครง แต่ต่างกันที่เปลือกทั้ง ๒ ฝา ที่มีขนาดไม่เท่ากัน
แต่ฝาเดียวกันจะมีลักษณะด้านซ้าย และด้านขวาสมมาตรกัน เปลือกมีขนาดประมาณ
๒ - ๗ เซนติเมตร พบแพร่หลายมาก ในมหายุคพาลีโอโซอิก
บราคิโอพอดที่พบบนเกาะตะรุเตามีไม่มากนัก และมีขนาดเล็ก เช่น สกุล อะพีออร์ทิส
(Apheorthis sp.) |

แบรคิโอพอดพบในชั้นหินทรายสีแดง
ที่เกาะตะรุเตา |
นอติลอยด์
เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ในไฟลัมมอลลัสกา (Mollusca) หรือสัตว์จำพวก หอย
ชั้นเซฟาโลโพดา (Cephalopoda) กลุ่มเดียวกับปลาหมึกในปัจจุบัน
พบแพร่หลาย ในมหายุคพาลีโอโซอิก ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงชนิดเดียว คือ
หอยนอติลุส เป็นสัตว์กินเนื้อ ลำตัวแบ่งเป็นห้องๆ
โดยมีผนังกั้นห้อง ส่วนใหญ่ลอยอยู่บนผิวน้ำ
ทำให้พบได้ทั้งบริเวณทะเลตื้นและทะเลลึก
|
ซากหอยขมที่พบอยู่ในวงศ์
Viviparidae เป็นหอยน้ำจืดสกุล Viviparus sp.
และจากการค้นพบซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ในบ่อเหมืองถ่านหิน
ซึ่งอยู่ในแอ่งสะสมตะกอนเดียวกับชั้นสะสมตัวของหอยดังกล่าว
ทำให้ทราบอายุที่แน่นอนของชั้นสุสานหอยว่า สะสมตัวเมื่อราว ๓๗ - ๓๓.๕
ล้านปี มาแล้ว |
 สุสานหอยแหลมโพธิ์ ต.ไสไทย อ.เมืองฯ จ.กระบี่ อายุประมาณ ๓๗ - ๓๓.๕ ล้านปี |
๓.
แหล่งซากดึกดำบรรพ์ปลา บ้านหนองปลา อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
ตั้งอยู่บริเวณบ้านหนองปลา
ตำบลน้ำเฮี้ย อยู่ห่างจากอำเภอหล่มสัก ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๗
กิโลเมตร สถานที่พบ เป็นบ่อขุด เพื่อเก็บน้ำชลประทาน
กว้างประมาณ ๔๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๒๐ เมตร ลึกประมาณ ๔ เมตร
เป็นหินโคลนสีเทาขาว อยู่ในยุคนีโอจีน ปัจจุบันน้ำท่วมหมดแล้ว
 แหล่งซากดึกดำบรรพ์ปลา บ้านหนองปลา อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
ซากดึกดำบรรพ์ปลาที่พบในแหล่งนี้มี
อย่างน้อย ๑๑ ชนิด คือLeiocassis
siamensis, Mystacoleucus sp., Bangana sp. ในจำนวนนี้มี ๖ ชนิด
ที่เป็นการค้นพบใหม่ในโลก คือ
Hypsibarbus
antiquus, Proluciosoma pasakensis, Hemibagrus major, Cetopangasius
chaetobranchus, Parambassis
goliath และ
Parambassis paleosiamensis ทั้งหมดเป็นปลาน้ำจืดมีอายุสมัยไมโอซีน
อาศัยตามหนองน้ำและบึงใกล้ฝั่ง
 ซากปลาน้ำจืดที่พบที่บ้านหนองปลา
๔.
แหล่งไม้กลายเป็นหิน อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก
แหล่งไม้กลายเป็นหิน
อำเภอบ้านตาก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดตากไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๑๕
กิโลเมตร ในพื้นที่เขตป่าสงวน แม่สลิด -
โป่งแดง พบไม้ทั้งต้นกลายเป็นหิน
ขนาดใหญ่หลายต้นอยู่ในชั้นกรวด ลำต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๘ เมตร
ยาวมากกว่า ๒๐ เมตร มีอายุประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ ปี
ประเทศไทยพบไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อยู่ในมหายุคซีโนโซอิก และมีโซโซอิก
 แหล่งไม้กลายเป็นหินที่ อ.บ้านตาก จ.ตาก อายุประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ ปี
ไม้กลายเป็นหินเป็นซากดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง
เกิดจากสารละลายแร่เข้าไปแทนที่เนื้อเยื่อ และเส้นใยของซากต้นไม้
กิ่งไม้ที่ตก หรือทับถม รวมกับชั้นหินตะกอน และชั้นตะกอนประเภทน้ำพา
มักพบในชั้นหินทรายหรือในชั้นกรวด
การแทนที่นี้บ่อยครั้ง จะยังคงสภาพโครงสร้างภายในเนื้อไม้เดิม เช่น
วงปี โครงสร้างเซลล์และรูปร่างภายนอก ของต้นไม้ไว้อย่างสมบูรณ์
แร่หรือสาร ที่เข้าไปแทนที่นั้น โดยทั่วๆ
ไป เป็นสารละลายอุณหภูมิปกติของสารประกอบซิลิกา (SiO2)
ทำให้เกิดเป็นแร่ควอร์ต ที่แสดงรูปผลึก หรือแร่โอพอล (opal)
และแร่คาลซิโดนี (chalcedony) ที่มีเนื้อละเอียดมาก ไม่แสดงรูปผลึก
กระบวนการแทนที่ของซิลิกาในเนื้อไม้ เรียกในภาษาอังกฤษว่า petrification
นอกจากนั้น
ยังอาจมีกระบวนการธรณีเคมี ในขั้นตอนต่างๆ เกิดร่วมด้วย เช่น
เนื้อไม้บางส่วนที่กลายเป็นถ่านหินอาจมีแร่ไพไรต์ (FeS2) เกิดอยู่ด้วย
๕.
แหล่งซากหอยนางรมยักษ์ วัดเจดีย์หอย จังหวัดปทุมธานี
วัดเจดีย์หอยตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อเงิน
อำเภอลาดหลุมแก้ว อยู่ห่างจากตัวจังหวัดปทุมธานี
ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๒๒ กิโลเมตร
พบเปลือกหอยทะเลหลายชนิดสะสมตัว ปนกับซากไม้ผุในตะกอนดินเหนียวทะเล
ที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม มีสีเทาถึงเทาปนเขียว ซากหอยที่พบ มีหลายชนิด เช่น
หอยแครง หอยกาบ หอยสังข์ และหอยลาย ซากหอยที่พบมากที่สุด
เป็นหอยนางรมยักษ์ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าCrassostrea
gigas เมื่อนำซากหอยนี้ไปหาอายุ
ด้วยวิธีกัมมันตภาพรังสีคาร์บอน ๑๔ พบว่ามีอายุประมาณ ๕,๕๐๐ ปี
 แหล่งซากหอยนางรมยักษ์ที่วัดเจดีย์หอย ต.บ่อเงิน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี
ซากหอยเหล่านี้เป็นหอยที่อาศัยอยู่ในทะเลใกล้ชายฝั่ง
ในที่ราบน้ำขึ้นถึง หรือหาดเลน ที่มีป่าชายเลนขึ้นปกคลุม น้ำกร่อย
ค่อนข้างตื้น และมีน้ำขึ้นน้ำลงประจำทุกวัน แสดงให้เห็นว่า
ในอดีตบริเวณวัดเจดีย์หอยเคยเป็นชายทะเลมาก่อน โดยพบว่า
น้ำทะเลท่วมที่ราบลุ่มภาคกลาง ไปจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อประมาณ
๖,๐๐๐ ปี ที่แล้ว ต่อมาทะเลโบราณลดระดับลง
และเริ่มถอยร่นออกไปในช่วงประมาณ ๕,๗๐๐ - ๕,๐๐๐
ปีที่ผ่านมา
เมื่อน้ำทะเลถอยร่นออกไป จึงพบซากหอยอยู่ในบริเวณนี้ |
|