สำหรับเด็กระดับเล็ก - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู ๓๑
เล่มที่ ๓๑
เรื่องที่ ๑ ตู้พระธรรม
เรื่องที่ ๒ วัดญวนในประเทศไทย
เรื่องที่ ๓ วรรณคดีท้องถิ่น
เรื่องที่ ๔ พรรคการเมืองไทย
เรื่องที่ ๕ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
เรื่องที่ ๖ ซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย
เรื่องที่ ๗ ดาวหาง
เรื่องที่ ๘ ระบบสุริยะ
เรื่องที่ ๙ อัลไซเมอร์
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๑ / เรื่องที่ ๖ ซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย / สำหรับเด็กระดับเล็ก

 สำหรับเด็กระดับเล็ก ฟังเสียงอ่าน => บันทึกเสียง
เด็กๆ คงเคยได้เห็นภาพไดโนเสาร์ในภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือหนังสือการ์ตูน เป็นสัตว์รูปร่างแปลกประหลาด คอยาว หางยาว เดิน ๔ เท้าบ้าง ๒ เท้าบ้าง บางตัวมีขนาดใหญ่มากกว่าช้างหลายเท่า บางตัวก็มีขนาดย่อมลงมา ในชีวิตจริงของโลกปัจจุบัน ไม่มีสัตว์ชนิดนี้หลงเหลืออยู่แล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ทราบได้ว่าในยุคดึกดำบรรพ์เมื่อประมาณ ๒๐๐ ล้านปีมาแล้ว ไดโนเสาร์ เป็นสัตว์ที่มีอยู่โดยทั่วไปในหลายทวีป ก่อนที่มันจะสูญพันธุ์หมดสิ้นไปเมื่อประมาณ ๖๕ ล้านปีที่ผ่านมา
หลักฐานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าไดโนเสาร์เคยมีชีวิตอยู่ในโลก และมีรูปร่างลักษณะอย่างไร ได้มาจากการศึกษา ซากของมันที่ปรากฏอยู่ในที่ต่างๆ โดยเป็นชิ้นส่วนของโครงกระดูกบ้าง เป็นรอยเท้าที่ประทับอยู่บนแผ่นหินบ้าง หลังจากการศึกษาอย่างละเอียดแล้ว นักวิทยาศาสตร์สามารถกำหนดรูปร่างลักษณะของไดโนเสาร์ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร และนำมาแสดงให้เราเห็นในพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยา หรือในสิ่งพิมพ์ และสื่อต่างๆ

นอกจากไดโนเสาร์ ยังมีซากของสัตว์และพืชอีกนานาชนิด ที่ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตอยู่บนโลก ปัจจุบันอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว หรือมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจากเดิม ซากของสิ่งมีชีวิตในอดีตอันยาวนาน ที่ปรากฏหลักฐาน หรือร่องรอย ให้เราเห็น อยู่ในปัจจุบัน เรียกกันว่า ซากดึกดำบรรพ์ ถือเป็นสิ่งมีค่าในการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในอดีต
หากเราพบซากดึกดำบรรพ์ ไม่ว่าจะเป็นเปลือกหอย หรือกระดองของสัตว์น้ำที่แทรกอยู่ในเนื้อของหินปูน หรือไม้กลายเป็นหิน ที่ทับถมอยู่ในชั้นหิน ควรดีใจว่า เราได้พบสมบัติล้ำค่าของโลกแล้ว ต้องรักษาไว้ให้ดีที่สุด และหากเราได้มีโอกาสศึกษา เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ ด้วยแล้ว เราจะยิ่งตระหนักในคุณค่า และความสำคัญของสิ่งเหล่านั้น มากขึ้น
หัวข้อถัดไป