ดาวหาง คือ ก้อนน้ำแข็งสกปรก ซึ่ง
เฟรด แอล. วิปเปิล (Fred L. Whipple) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันได้เสนอไว้
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ และปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ส่วนมากก็เห็นด้วยเช่นนั้น
ที่เรียกว่า เป็น ก้อนน้ำแข็งสกปรก เพราะประกอบด้วยน้ำแข็งและก้อนหินขนาดต่างๆ ปนกันจำนวนมาก รวมทั้งแก๊สหลายชนิดที่อยู่ในสถานะของแข็ง
|
 ลักษณะของดาวหางที่แตกต่างกัน | ดาวหาง ถูกดวงอาทิตย์ดึงไว้ด้วยแรงโน้มถ่วง
จึงเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์คล้ายดาวเคราะห์ หรือดาวเคราะห์น้อยทั้งหลาย
นักดาราศาสตร์เรียกดาว ที่เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ว่า บริวารของดวงอาทิตย์
โลกของเราเป็นดาวเคราะห์ ที่เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์รอบละ ๑ ปี
โลกจึงเป็นบริวารดวงหนึ่งของดวงอาทิตย์
ดวงอาทิตย์ และบริวารทั้งหมด ของดวงอาทิตย์ รวมกัน เรียกว่า ระบบสุริยะ
ดังนั้น ดาวหางจึงอยู่ในระบบสุริยะ วงโคจรของโลก รอบดวงอาทิตย์
และวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงอื่นเป็นวงรี แต่ไม่รีมากเท่ากับวงโคจรของดาวหาง
กล่าวคือ เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ในระยะดาวพุธ หรือดาวศุกร์
หรือโลกแล้ว ดาวหางส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ไกลออกไป จนเลยวงโคจรของดาวพลูโต
หลังจากนั้น จึงวกกลับมา ในเวลาหลายพันปี หรือยาวนานกว่านั้น
แต่ดาวหางบางดวง โคจรรอบดวงอาทิตย์ ๑ รอบโดยใช้เวลาน้อยกว่านี้ เช่น ดาวหางเอ็งเก เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์รอบละเพียง ๓.๓ ปี เท่านั้น |
โครงสร้างของดาวหาง
ลักษณะที่ปรากฏของดาวหางที่แปลกที่สุด
คือ มีหางยาวชี้ไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ คนไทยจึงเรียกว่า ดาวหาง
ส่วนชาวตะวันตกเรียกว่า comet ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า coma
(ภาษากรีกว่า kome) แปลว่า เส้นผม ดาวหางมีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับดาวเคราะห์
หรือบริวารของดาวเคราะห์ ขณะที่เห็นเป็นดาวหางนั้นจะประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ
ส่วนที่เป็นของแข็ง กับส่วนที่เป็นแก๊สและฝุ่น ส่วนที่เป็นของแข็ง
เรียกว่า ใจกลางหัว
หรือนิวเคลียส (nucleus) ซึ่งเล็กมาก อาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง ๑ - ๔๐
กิโลเมตรเท่านั้น จึงไม่สามารถมองเห็นได้จากโลก
แม้จากกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ แต่ในขณะที่ดาวหางเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์
ความร้อนจะทำให้น้ำแข็งที่อยู่ผิวนอก ของใจกลางหัวกลายเป็นไอ เรียกว่า การระเหิด จะมีฝุ่นชิ้นเล็กๆ และก้อนหินขนาดต่างๆ กระเด็นออกไป พร้อมแก๊สหลายชนิดด้วย สิ่งเหล่านี้กระจายออกไปอยู่โดยรอบนิวเคลียส กลายเป็น หัว หรือ โคม่า
(coma) ของดาวหาง หัวของดาวหางจึงเป็นแก๊สและฝุ่น
เฉพาะใจกลางหัวเท่านั้นที่เป็นของแข็ง
หัวมีเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นแสนกิโลเมตร
จึงโตพอ ที่จะสังเกตเห็นได้ในกล้องโทรทรรศน์ หรือถ้าอยู่ใกล้โลก
ก็เห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะฝุ่นสะท้อนแสงอาทิตย์มาเข้าตาเรา
ไฮโดรเจนซึ่งเป็นแก๊สเบาที่สุดและขยายตัวเร็วกว่าแก๊สอื่นๆ
กลายเป็นเมฆไฮโดรเจนอยู่รอบหัว มีขนาดโตกว่าเส้นผ่าศูนย์กลาง ของดวงอาทิตย์
แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
นักดาราศาสตร์ตรวจพบเมฆไฮโดรเจนได้ ในแสงอัลตราไวโอเลต
|
 ลักษณะของดาวหางที่แตกต่างกัน | พลังงานจากดวงอาทิตย์ในรูปของลมสุริยะ
และพลังงานของการแผ่รังสีจะผลักให้แก๊สและฝุ่นในหัวของดาวหาง ไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ กลายเป็น
หาง
หางของดาวหางยาวมากเป็นหลายสิบล้านกิโลเมตร
บางดวงมีหางยาว มากกว่าระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์
วัตถุที่อยู่ในหาง สะท้อนแสงอาทิตย์และเรืองแสง
เราจึงมองเห็นหางของดาวหางได้ แต่ทั้งหัว เมฆไฮโดรเจน และหางบางมาก
จึงสามารถมองทะลุเห็นดาวอื่น ที่อยู่เบื้องหลังได้ |
หางของดาวหางมี ๒ ลักษณะ คือ หางฝุ่น และ หางแก๊ส หรือ หางพลาสมา
หางฝุ่นเป็นหางโค้งและสะท้อนแสงอาทิตย์ มองเห็นได้ชัด มีสีขาวเหลือง
ส่วนหางแก๊สเป็นหางตรงและเรืองแสง
มีสีน้ำเงินเนื่องจากไอออนของคาร์บอนมอนอกไซด์ ดาวหางจึงไม่สว่างเพราะการเผาไหม้ แม้จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากก็ตาม
แต่ดาวหางก็ยังปรากฏให้เราเห็นได้
เพราะดาวหางสะท้อนแสงและเรืองแสงจากพลังงานของดวงอาทิตย์
|
 ลักษณะของดาวหางที่แตกต่างกัน | มวลส่วนใหญ่ของดาวหางอยู่ที่ใจกลางหัวซึ่งเป็นของแข็ง
แต่เมื่อเทียบกับโลกแล้วอาจมีมวลเพียงหนึ่งในร้อยล้านของโลก
แม้ว่า จะเล็กมาก เมื่อเปรียบเทียบกับโลก หรือดวงจันทร์ ก็สามารถคำนวณได้ว่า ดาวหางมีมวลเป็นแสนล้านตันเลยทีเดียว นับว่า มากพอๆ
กับดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก ดังนั้น หากดาวหางดวงใหญ่มาชนโลก
ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่โลก ได้มากมายมหาศาล |
ความแตกต่างระหว่างดาวหางกับดาวเคราะห์น้อย
ดาวหาง และดาวเคราะห์น้อย เป็นวัตถุขนาดเล็ก ที่เป็นเศษเหลือ จากการสร้างดาวเคราะห์
บางดวงเป็นวัตถุอันตรายที่อาจชนโลกได้
แต่มีความแตกต่างกัน ในเรื่องตำแหน่งที่อยู่ ทางโคจร องค์ประกอบ และขนาด |
 ลักษณะของดาวหางที่แตกต่างกัน | องค์ประกอบทางเคมีของดาวหาง
จากการศึกษาวิเคราะห์ฝุ่นของดาวหางฮัลเลย์โดยยานอวกาศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ พบว่า ฝุ่นในหางของดาวหางฮัลเลย์มี ๓ ประเภท คือ
ประเภทแรก เกือบทั้งหมดเป็นธาตุคาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) ออกซิเจน (O) และ ไนโตรเจน (N) ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า อนุภาคชอน (CHON)
ประเภทที่ ๒ มีแร่ธาตุซิลิเกต เหมือนในหินที่เป็นเปลือกโลก ดวงจันทร์ ดาวอังคาร และอุกกาบาตส่วนใหญ่
ประเภทที่ ๓ มีมากที่สุด เป็นส่วนผสมของ ๒ ประเภทแรก |
ส่วนโมเลกุลของแก๊สที่อยู่รอบใจกลางหัวดาวหางฮัลเลย์
เป็นไอน้ำประมาณร้อยละ ๘๐ เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ประมาณร้อยละ ๑๐
เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณร้อยละ ๓ - ๕ และเป็นพอลิเมอร์ของฟอร์มาลดีไฮด์ ร้อยละ ๒ - ๓ ที่เหลือเป็นแก๊สอื่นๆ ที่มีปริมาณน้อย |
 การแผ่รังสีจะผลักให้แก๊สและฝุ่นในหัวของดาวหางพุ่งไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ กลายเป็นหาง |
ใจกลางหัวของดาวหางฮัลเลย์
มีความหนาแน่นเพียงประมาณ ๐.๒๕ กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร
ส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็งและฝุ่น มีรูพรุนมากมาย
แก๊สที่อยู่ในสถานะของแข็งอย่างอื่น อาจเป็นน้ำแข็งแห้ง
(คาร์บอนไดออกไซด์แข็ง) แอมโมเนียแข็ง มีเทนแข็ง
ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของอนุภาคชอนในหางฝุ่น
|
 หัวของดาวหางฮัลเลย์มีลักษณะคล้ายมันฝรั่ง |
จากภาพถ่ายโดยยานอวกาศจอตโต
(Giotto) ขององค์การอวกาศยุโรป พบว่า
บริเวณใจกลางหัวของดาวหางฮัลเลย์ มีพื้นผิวที่ดำมาก ดำกว่าถ่านหิน
อาจเป็นสารอินทรีย์สีคล้ายแอสฟัลต์ (asphalt)
โดยมีแก๊สและฝุ่น พุ่งออกมาจากเพียงบางจุด ที่มีรอยแตกของพื้นผิว |