หลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อดาวหาง - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู ๓๑
เล่มที่ ๓๑
เรื่องที่ ๑ ตู้พระธรรม
เรื่องที่ ๒ วัดญวนในประเทศไทย
เรื่องที่ ๓ วรรณคดีท้องถิ่น
เรื่องที่ ๔ พรรคการเมืองไทย
เรื่องที่ ๕ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
เรื่องที่ ๖ ซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย
เรื่องที่ ๗ ดาวหาง
เรื่องที่ ๘ ระบบสุริยะ
เรื่องที่ ๙ อัลไซเมอร์
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๑ / เรื่องที่ ๗ ดาวหาง / หลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อดาวหาง

 หลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อดาวหาง
หลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อดาวหาง

ดาวหางมีชื่อ ๒ อย่าง คือ ชื่อสามัญซึ่งตั้งตามชื่อผู้ค้นพบอย่างหนึ่ง และชื่อทั่วไป ที่เป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง หลักเกณฑ์การตั้งชื่อสามัญยังคงใช้หลักการเดิม คือ ใช้ชื่อสกุลของผู้ค้นพบมาเป็นชื่อสามัญของดาวหางดวงนั้น เช่น ดาวหางเวสต์ ค้นพบโดย เวสต์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ดาวหางเฮล-บอปป์ ค้นพบโดย อลัน เฮล (Alan Hale) และ โทมัส บอปป์ (Thomas Bopp) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ ดาวหางอิราส-อิรากิ-อัลคอก (IRAS-Iraki-Alcock) ค้นพบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยดาวเทียมอิราส ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลก ในช่วงคลื่นอินฟราเรด และอิรากิ (Iraki) นักดาราศาสตร์ชาวญี่ปุ่น กับจอร์จ อัลคอก (George Alcock) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ หากมีผู้ค้นพบมากกว่า ๓ คน ให้ใช้ชื่อเพียง ๓ คนแรก

ดาวหางเวสต์
ดาวหางเวสต์

มีดาวหางพิเศษ ๓ ดวง ที่มีชื่อสามัญตามชื่อของผู้คำนวณทางโคจรของดาวหาง แต่ละดวง ได้แก่ ดาวหางฮัลเลย์ คำนวณโดย เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ดาวหางเอ็งเก คำนวณโดย เอ็งเก (J. F. Enke) ชาวเยอรมัน และ ดาวหางครอมเมลิน คำนวณโดย ครอมเมลิน (Crommelin) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ

ส่วนสัญลักษณ์ของดาวหางได้เปลี่ยนจากแบบเดิมเป็นแบบใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๘ ก่อนหน้านั้น สัญลักษณ์ของดาวหาง บอกให้ทราบถึงปี และลำดับที่ค้นพบของดาวหางดวงนั้น หรือปีที่เห็นดาวหางเก่ากลับมาใหม่ เช่น 1982 i เป็นสัญลักษณ์ของดาวหางฮัลเลย์ บอกให้ทราบว่า พบในการกลับมาใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ (ค.ศ. ๑๙๘๒) i เป็นอักษรโรมันตัวที่เก้า หมายถึง เป็นดวงที่ ๙ ที่พบในปีนั้น เมื่อติดตามดาวหางจนทราบลำดับของการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในปีใด ดาวหางจะได้รับสัญลักษณ์ใหม่เป็น ค.ศ. ที่เข้าใกล้ และเลขโรมันที่บอกลำดับของการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ในปีนั้น เช่น ดาวหางฮัลเลย์เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดใน พ.ศ. ๒๕๒๙ (ค.ศ. ๑๙๘๖) เป็นดวงที่ ๓ จึงมีสัญลักษณ์ใหม่ว่า 1986 III

การที่ดาวหางดวงหนึ่งมีสัญลักษณ์หลายอย่างย่อมเป็นการไม่ประหยัด และเกิดความสับสน ดังนั้น สหภาพดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union) จึงมีมติให้ใช้สัญลักษณ์ ของดาวหางแบบใหม่ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นต้นมา ดาวหางจะมีสัญลักษณ์เพียงอย่างเดียว คล้ายการกำหนดสัญลักษณ์ของดาวเคราะห์น้อย โดยสัญลักษณ์จะบอกให้ทราบถึงวงโคจรของดาวหางที่แน่นอน คือ มีคาบสั้น (ระยะเวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์น้อยกว่า ๒๐๐ ปี) หรือคาบยาว (นานกว่า ๒๐๐ ปี) หรือเป็นดาวหาง ที่ไม่สามารถคำนวณทางโคจรได้ หรือเป็นดาวหางที่หายไปแล้วค้นพบใหม่ ทั้งนี้ ให้ใช้อักษรภาษาอังกฤษกำกับหน้าสัญลักษณ์ที่บอกปี เดือน และลำดับที่ค้นพบ

    C  หมายถึง   ดาวหางคาบยาว
    P  หมายถึง   ดาวหางคาบสั้น
    X  หมายถึง   ดาวหางที่ไม่สามารถคำนวณทางโคจรได้
    D  หมายถึง   ดาวหางที่หายไปแล้ว  แต่ค้นพบใหม่

ส่วนเดือนที่ค้นพบ ให้แบ่งเดือนแต่ละเดือนเป็นครึ่งเดือนแรก และครึ่งเดือนหลัง โดยแทนด้วย อักษรโรมันตัวใหญ่ตามลำดับ ตั้งแต่

    A  แทนครึ่งเดือนแรกของเดือนมกราคม  หรือ  ๑ - ๑๕   มกราคม
    B  แทนครึ่งเดือนหลังของเดือนมกราคม  หรือ   ๑๖ - ๓๑  มกราคม
    C  แทนครึ่งเดือนแรกของเดือนกุมภาพันธ์  หรือ   ๑ - ๑๕   กุมภาพันธ์
    D  แทนครึ่งเดือนหลังของเดือนกุมภาพันธ์  หรือ  ๑๖ - ๒๙  กุมภาพันธ์
    E  แทนครึ่งเดือนแรกของเดือนมีนาคม  หรือ   ๑ - ๑๕  มีนาคม
    F  แทนครึ่งเดือนหลังของเดือนมีนาคม  หรือ  ๑๖ - ๓๑  มีนาคม
    G  แทนครึ่งเดือนแรกของเดือนเมษายน  หรือ  ๑ - ๑๕  เมษายน
    H  แทนครึ่งเดือนหลังของเดือนเมษายน  หรือ ๑๖ - ๓๐  เมษายน
    J  แทนครึ่งเดือนแรกของเดือนพฤษภาคม  หรือ   ๑ - ๑๕   พฤษภาคม
    K  แทนครึ่งเดือนหลังของเดือนพฤษภาคม  หรือ   ๑๖ - ๓๑  พฤษภาคม
    L  แทนครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายน  หรือ   ๑ - ๑๕   มิถุนายน
    M  แทนครึ่งเดือนหลังของเดือนมิถุนายน  หรือ  ๑๖ - ๓๐  มิถุนายน
    N  แทนครึ่งเดือนแรกของเดือนกรกฎาคม  หรือ  ๑ - ๑๕   กรกฎาคม
    O  แทนครึ่งเดือนหลังของเดือนกรกฎาคม  หรือ  ๑๖ - ๓๑   กรกฎาคม
    P  แทนครึ่งเดือนแรกของเดือนสิงหาคม  หรือ  ๑ - ๑๕   สิงหาคม
    Q  แทนครึ่งเดือนหลังของเดือนสิงหาคม  หรือ  ๑๖ - ๓๑   สิงหาคม
    R  แทนครึ่งเดือนแรกของเดือนกันยายน  หรือ  ๑ - ๑๕  กันยายน
    S  แทนครึ่งเดือนหลังของเดือนกันยายน  หรือ   ๑๖ - ๓๐  กันยายน
    T  แทนครึ่งเดือนแรกของเดือนตุลาคม    หรือ  ๑ - ๑๕   ตุลาคม
    U  แทนครึ่งเดือนหลังของเดือนตุลาคม หรือ  ๑๖ - ๓๑   ตุลาคม
    V  แทนครึ่งเดือนแรกของเดือนพฤศจิกายน  หรือ  ๑ - ๑๕   พฤศจิกายน
    W  แทนครึ่งเดือนหลังของเดือนพฤศจิกายน  หรือ  ๑๖ - ๓๐  พฤศจิกายน
    X  แทนครึ่งเดือนแรกของเดือนธันวาคม  หรือ  ๑ - ๑๕  ธันวาคม
    Y  แทนครึ่งเดือนหลังของเดือนธันวาคม  หรือ  ๑๖ - ๓๑  ธันวาคม

ทั้งนี้ ยกเว้นไม่ใช้อักษร I และ Z

สำหรับลำดับที่ค้นพบให้แทนด้วยตัวเลข เช่น ดาวหางเฮล-บอปป์ มีสัญลักษณ์ว่า C/1995 O1 บอกให้ทราบว่า เป็นดาวหางคาบยาว พบใน ค.ศ. ๑๙๙๕ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ของครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม เป็นดวงแรก ดาวหางเฮียะกุตาเกะ (Hyakutake) มีสัญลักษณ์ว่า C/1996 B2 บอกให้ทราบว่า เป็นดาวหางคาบยาว ที่ค้นพบใน ค.ศ. ๑๙๙๖ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ในครึ่งหลังของเดือนมกราคม เป็นดวงที่ ๒

ดาวหางฮัลเลย์เป็นดาวหางคาบสั้น (ประมาณ ๗๖ ปี) และเป็นดาวหางคาบสั้นดวงแรกที่มีการคำนวณทางโคจร จึงมีสัญลักษณ์ว่า 1P/Halley นอกจากนี้ยังมีดาวหางเอ็งเก (2P/Enke) ดาวหางครอมเมลิน (31P/Crommelin) และดาวหางคาบสั้นอื่นๆ อีก
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป