สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู ๓๑
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๑ / เรื่องที่ ๗ ดาวหาง / สำหรับเด็กระดับเล็ก
สำหรับเด็กระดับเล็ก
 |
ในคืนที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง
ปราศจากแสงไฟฟ้าและแสงจันทร์รบกวน
ไม่มีฝุ่นควันหรือเมฆบดบัง
เราจะเห็นดาวเต็มฟ้า เป็นธรรมชาติที่ดูสวยงามยิ่งนัก
มีทั้งดาวดวงที่สว่างมากๆ โดดเด่น ท่ามกลางดาวที่สว่างรองลงไปจำนวนมาก
บางครั้ง ก็จะเห็นแสงวาบเคลื่อนที่เป็นทางยาวแล้วหายไป ซึ่งเรียกว่า ดาวตก
หรือ ผีพุ่งไต้
ดาวตก หรือผีพุ่งไต้ เป็นปรากฏการณ์ ที่เกิดในบรรยากาศโลก
แต่ดาวที่ส่องแสงระยิบระยับสวยงามทั้งหลายอยู่นอกโลกห่างไกลจากโลกมาก
เราจึงเห็นเป็นจุดสว่างเล็กๆ ส่วนใหญ่เป็นดาวแบบเดียวกับดวงอาทิตย์
ซึ่งเราเรียกว่า ดาวฤกษ์
มีดาวที่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นจุดสว่างค่อนข้างมากเพียง ๕ ดวง เท่านั้น
ที่เป็น ดาวเคราะห์
แบบเดียวกับโลก ได้แก่ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวเสาร์
ซึ่งมนุษย์นำชื่อดาวเคราะห์เหล่านี้มาตั้งเป็นชื่อวันในสัปดาห์
|
 |
ดาวฤกษ์
ดาวเคราะห์ ดาวตก หรือผีพุ่งไต้ มีให้เห็นทุกๆ คืน แต่นานๆ
หลายปีต่อครั้งหนึ่ง ในเวลากลางคืนดังกล่าว
เราอาจเห็นดาวที่ไม่เป็นจุดสว่าง หรือเป็นแสงแวบวับ
แต่เป็นดาวที่แปลกประหลาดมาก เพราะเป็นดาวที่มีหาง อยู่ท่ามกลางดาวอื่น
ดาวประหลาดนี้ คือ ดาวหาง ซึ่งมีลักษณะต่างๆ
กัน บางดวงมีหางยาวคล้ายไม้เรียว บางดวงคล้ายพัด หรือคล้ายไม้กวาด ดาวหางที่เห็นด้วยตาเปล่าชัดเจนมักจะเห็นในเวลาหัวค่ำทางทิศตะวันตกหรือตอนเช้าตรู่ทางทิศตะวันออก
เช่น ดาวหางอิเคยา-เซกิ
ที่เห็นตอนเช้าตรู่ทางทิศตะวันออก เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘
เป็นดาวหางที่ชาวญี่ปุ่นชื่อ อิเคยา
และ เซกิ
เป็นผู้ค้นพบ
|
 |
ดาวหางจะมีชื่อตามชื่อผู้ค้นพบดาวหางกับดาวเคราะห์มีลักษณะเหมือนกันอยู่
๒ อย่าง คือ ไม่มีแสงในตัวเอง แต่เห็นได้ เพราะสะท้อนแสงอาทิตย์อย่างหนึ่ง
และเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์อีกอย่างหนึ่ง
ดาวเคราะห์เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์
เกือบเป็นวงกลมแต่ดาวหางเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีมาก
เมื่อเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์จึงจะเห็นว่ามีหาง ถ้าอยู่ไกล
จะมองไม่เห็นเพราะยังไม่มีหาง เนื่องจากเป็นเพียงก้อนของแข็งเล็กๆ
ซึ่งอาจจะไม่กลมเหมือนโลก เช่น
ดาวหางฮัลเลย์
มีส่วนที่เป็นของแข็งเหมือนหัวมันฝรั่ง กว้างประมาณ ๘ กิโลเมตร ยาวประมาณ
๑๕ กิโลเมตร ดาวหางจึงมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับโลก |
 |
ดาวหางฮัลเลย์มีชื่อเสียงที่สุด
เพราะเป็นดาวหางที่ปรากฏให้ชาวโลกได้เห็นทุกๆ ประมาณ ๗๖ ปี
ตั้งแต่ก่อนคริสต์ศักราช เป็นต้นมา
ครั้งสุดท้ายได้เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อต้น พ.ศ. ๒๕๒๙
ก่อนหน้านี้ได้ปรากฏให้เห็นใน พ.ศ. ๒๔๕๓
อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ดาวหางฮัลเลย์จะกลับมาปรากฏให้เห็นอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๖๐๕
อาริสโตเติล
นักปราชญ์ชาวกรีกโบราณเชื่อว่า ดาวหางเกิดในบรรยากาศโลก
จะนำความแห้งแล้งและภัยพิบัติมาสู่โลก เช่น การเกิดสงคราม
การเสียชีวิตของบุคคลสำคัญในประเทศที่เห็นดาวหาง
ความเชื่อนี้แพร่กระจายไปทั่วโลก ต่อมา นักดาราศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ดาวหางอยู่ในอวกาศนอกโลก อยู่ไกลจากโลกมาก ดาวหางไม่ใช่สาเหตุของความแห้งแล้งในโลก ดาวหางไม่ได้ทำให้เกิดสงคราม
หรือการเสียชีวิตของบุคคลสำคัญ ความเชื่อร้ายๆ
เกี่ยวกับดาวหางจึงไม่ถูกต้อง
เพราะเป็นความเชื่อที่ไม่มีเหตุผลสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ ดาวหางเป็นดาวที่สวยงาม แต่โอกาสจะเห็นมีได้น้อย
จึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์บนฟ้า
เป็นดาวที่มีประโยชน์ต่อความเข้าใจเรื่องโลก และระบบสุริยะเป็นอย่างยิ่ง |
 |
|