สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู ๓๑
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๑ / เรื่องที่ ๘ ระบบสุริยะ / ดาวอังคาร
ดาวอังคาร
ดาวอังคาร (Mars)
ชาวโรมันในยุคโบราณมองเห็นดาวอังคารมีสีแดงดั่งเลือด
สีของดาวอังคาร ให้ความรู้สึกถึงพลังอำนาจ ความเข้มแข็ง และความฮึกเหิม
จึงขนานนามดาวอังคารว่าเป็น เทพแห่งสงคราม
 |
หุบเหวมาริเนอร์
เหยียดยาวใต้แนวศูนย์สูตรของดาวอังคาร (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL) |
เมื่อมนุษย์สังเกตดาวอังคารด้วยกล้องโทรทรรศน์ยุคแรกๆ
เห็นขั้วสีขาว และพื้นผิวสีคล้ำ เป็นหย่อมๆ
จึงจินตนาการว่า ดาวอังคารน่าจะมีชนชาติที่เจริญแล้ว อาศัยอยู่
จึงสามารถสร้างคลองชลประทานลำเลียงน้ำจากขั้วสีขาว
มาใช้ในการเพาะปลูก ที่เห็นเป็นสีมืดคล้ำบริเวณกลางดวง
คิดกันว่า ดาวอังคารน่าจะมีพืชและสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เช่นเดียวกับบนโลก
จึงเกิดจินตนาการถึงมนุษย์ชาวดาวอังคารในนิยายวิทยาศาสตร์ มาช้านาน
 | ภูเขาไฟโอลิมปัสบนดาวอังคาร (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL) |
จนเมื่อมนุษย์ส่งยานอวกาศจากโลก
ไปสำรวจดาวอังคาร ภาพถ่ายจากยานอวกาศ
เปิดเผยลักษณะของดาวอังคารมากขึ้น
ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ใช้ในการสำรวจ
โดยเฉพาะนับจากช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา
ยานอวกาศหลายลำถูกส่งขึ้นไปสำรวจดาวอังคาร ทั้งจากระดับสูง ด้วยยานโคจร
ทำหน้าที่คล้ายดาวเทียม สำรวจรอบดาวอังคารอยู่นานหลายปี
และด้วยยานขับเคลื่อน สำรวจพื้นผิวดาวอังคาร พบว่า
ดาวอังคารมีลักษณะพิเศษเฉพาะดวง มีทั้งความคล้าย
และความแตกต่างจากโลกหลายๆ
ด้าน
 | ยานมาร์ส
โกลบอล เซอร์เวเยอร์ ถ่ายภาพหลุมอุกกาบาตบนดาวอังคาร ใน พ.ศ. ๒๕๔๓
เห็นหินตะกอนทับถมเป็นชั้นหนา (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL) |
ดาวอังคารอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ย ๒๒๘ ล้านกิโลเมตร
และมีขนาดเล็กประมาณ ครึ่งหนึ่งของโลก
แต่เป็นดาวเคราะห์เพื่อนบ้าน ที่มีความคล้ายคลึงกับโลกหลายอย่าง เช่น
หมุนรอบตัวเองครบ ๑ รอบ ใช้เวลายาวกว่า ๑ วันของโลก ประมาณ ๔๕
นาทีเท่านั้น ระนาบศูนย์สูตรของดาวอังคารเอียงประมาณ ๒๕ องศา
กับระนาบทางโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งใกล้เคียงกับโลกที่เอียง ๒๓.๕ องศา
ทำให้ขั้วเหนือและใต้ของดาวอังคาร เอียงทำมุมกับดวงอาทิตย์อย่างสม่ำเสมอ
เกิดฤดูกาล ๔ ฤดู คล้ายบนโลก แต่เนื่องจาก ๑ ปี ของดาวอังคารยาวเป็น ๖๘๗
วัน เกือบเป็น ๒ เท่าของ ๑ ปีบนโลก ในฤดูหนึ่งๆ บนดาวอังคารจึงยาวประมาณ ๖
เดือนบนโลก แต่ดาวอังคารก็มีลักษณะแตกต่างจากโลก จนไม่อาจใช้สภาพบนโลก
อธิบายถึงวิวัฒนาการของดาวอังคารได้ มีลักษณะเด่น เช่น
ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์แห่งพายุฝุ่น
อุณหภูมิที่แปรเปลี่ยน และกระแสลมแรงจัด
จึงมักเกิดพายุฝุ่นฟุ้งกระจายในบรรยากาศ
ห่อหุ้มทั่วดวงอยู่เสมอ เมื่อพายุสงบ ฝุ่นตกลงปกคลุมพื้นผิว
และรวมตัวกับน้ำแข็งใต้ผิวดิน
ปรากฏลักษณะคล้ายกับดินเหลวข้นหนืด บริเวณใกล้ขั้วของดาวอังคาร
ครั้นเมื่อน้ำแข็งระเหิดเป็นก๊าซ จึงเกิดเป็นรูพรุนที่พื้นผิว นอกจากนั้น
พายุรุนแรงยังหอบดินทรายเคลื่อนที่ ทับถมจนเกิดเป็นเนินอยู่ดาษดื่น
และพายุทรายที่โหมกระหน่ำอยู่เสมอทำให้เกิดการสึกกร่อน ผุพังสลายตัว
พบหลักฐานของลานก้อนหิน และซากตะกอนทับถมเป็นชั้นๆ
ปรากฏอยู่ทั่วไป ตามผนัง ของหลุมอุกกาบาต หุบเหว และหน้าผาบนดาวอังคาร
 | ยานฝาแฝดชื่อ สปิริต กับออปพอทูนิตี ลงสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ และปฏิบัติการอยู่นานหลายปี (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL) |
บรรยากาศของดาวอังคารประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึงร้อยละ
๙๕ แต่บรรยากาศเบาบางมาก จนไม่สามารถเก็บกักความร้อนได้
อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยประมาณ -๔๐ องศาเซลเซียส
สิ่งที่มีผลต่อสภาวะอากาศของดาวอังคารอย่างมาก คือ ขั้วน้ำแข็ง
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็งแห้ง
หรือคาร์บอนไดออกไซด์แข็ง จับตัวเป็นสีขาวที่ขั้วทั้งสอง
เปลี่ยนขนาดและรูปร่าง ไปตามฤดูกาล ในฤดูร้อน
คาร์บอนไดออกไซด์แข็งระเหิดกลายเป็นก๊าซ ในบรรยากาศ
เหลือเพียงน้ำแข็งปริมาณที่ไม่มากนักจับอยู่ที่ขั้ว แต่ในฤดูหนาว
คาร์บอนไดออกไซด์จับตัวแข็ง แผ่อาณาเขตกว้างใหญ่เป็นขั้วสีขาว
เห็นชัดเจนด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กบนโลก
 | ดาวอังคารใกล้โลกที่สุด
ใน พ.ศ. ๒๕๔๖ ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮัลเบิล (ภาพอนุเคราะห์โดย
NASA/มหาวิทยาลัยคอร์เนล/สถาบันวิทยาศาสตร์อวกาศ สหรัฐอเมริกา) |
ดาวอังคารมีความกดอากาศต่ำมากจน
น้ำไม่สามารถอยู่ในสภาพเหลวได้อย่างเสถียร ไม่มีฝน
แต่มีน้ำอยู่ในสภาพแข็งตัวใต้ผิวดิน และอยู่ได้ตลอดปี
นักวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นมาก เมื่อยานอวกาศถ่ายภาพใน พ.ศ. ๒๕๔๓
พบร่องรอยที่ขอบหลุมอุกกาบาตคล้ายน้ำ เพิ่งถูกดูดซึมหายไปใต้ผิวดิน
 | ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แข็งตัวเป็นสีขาว ปกคลุมขั้วใต้ของดาวอังคาร (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL) |
ภูมิประเทศบนดาวอังคารแตกต่างกันระหว่างซีกเหนือกับซีกใต้
ขณะที่ซีกใต้เป็นพื้นที่เก่าแก่ ลักษณะเป็นที่สูง ขรุขระ
เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต มีหุบเหว หน้าผา เป็นร่องยาวคดเคี้ยวแตกสาขามากมาย
คล้ายเคยถูกกัดเซาะด้วยกระแสน้ำ แต่ซีกเหนือ เป็นพื้นที่อายุน้อยกว่า
มีหลุมอุกกาบาตไม่มากนัก
พื้นผิวปกคลุมด้วยลาวาจากภูเขาไฟ และซากตะกอนทับถม ที่ไหลมาจากซีกใต้
มีพื้นที่ราบกว้างใหญ่
ซึ่งมีระดับต่ำมาก จนเทียบได้กับระดับพื้นมหาสมุทรบนโลก
นักวิทยาศาสตร์จึงค่อนข้างมั่นใจว่า ครั้งหนึ่งดาวอังคารคงเคยมีสภาพอบอุ่น
ชุ่มชื้นคล้ายโลก และเคยมีทะเลมาก่อน
แต่ปัจจุบันหุบเหวและท้องทะเลล้วนแห้งผาก
จึงมีคำถามว่า แล้วน้ำเหือดแห้งหายไปได้อย่างไร
 | ภูมิประเทศบนดาวอังคารพื้นผิวสีแดง
เต็มไปด้วยก้อนหิน เห็นภูเขาอยู่ไกลๆ ถ่ายจากยานสปิริต เมื่อวันที่ ๑๒
มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL) |
ในอาณาเขตหนึ่งของอวกาศที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์พอเหมาะสม
จนเป็นอาณาเขตของดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตเกิดอยู่ได้นั้น
ดาวอังคารน่าจะเป็นดาวบริวารดวงหนึ่งที่อยู่ในอาณาเขตนี้เช่นเดียวกับโลก
แต่ด้วยเหตุใดเมื่อกาลเวลาผ่านมาหลายพันล้านปี
จึงทำให้ดาวอังคารกลายเป็นดาวเคราะห์ ที่มีสภาพแห้งแล้ง
เยือกเย็นเช่นในปัจจุบัน |
|