สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 32
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๒ / เรื่องที่ ๑ ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์ / ลักษณะพัดยศตามลำดับชั้นสมณศักดิ์
ลักษณะพัดยศตามลำดับชั้นสมณศักดิ์
ลักษณะพัด
ยศตามลำดับชั้นสมณศักดิ์
โดยที่พัดยศเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์
ซึ่งเปรียบเสมือนตำแหน่งบรรดาศักดิ์ ของฝ่ายอาณาจักรหรือฝ่ายข้าราชการ
ที่ได้ทำความดีความชอบในหน้าที่การงาน
และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ลำดับต่างๆ โดยมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์
เป็นเครื่องประกอบตามชั้นยศพัดยศก็เช่นเดียวกัน
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเลื่อมใสศรัทธาพระสงฆ์
ที่มีความรู้พระไตรปิฎกแตกฉานมีความสามารถในภาษาบาลีสันสกฤต
เป็นผู้ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และได้ทำคุณประโยชน์แก่พระศาสนา
ก็จะพระราชทานสมณศักดิ์พร้อมพัดยศให้พัดยศจึงมีลักษณะแตกต่างจากตาลปัตรธรรมดาที่พระ
สงฆ์ทั่วไปใช้อยู่
พัดยศของสมณศักดิ์บางชั้นมีลักษณะเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
ด้านข้างเป็นแฉกๆบางชั้นมีลักษณะกลม ขอบพัดเป็นหยักๆ อีกทั้งสี
วัสดุที่ทำ การตกแต่ง และชื่อเรียก ยังแตกต่างกันตามลักษณะของพัด
ซึ่งประกอบสมณศักดิ์แต่ละชั้นดังนี้ |
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงฉายกับพัดแฉก
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างถวายเป็นพิเศษ
|

พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
๑. พัดยศพระราชาคณะ
๒. พัดยศพระราชาคณะชั้นธรรม เป็นพัดของเก่าที่เป็นของพระราชาคณะ
ซึ่งเป็นพระราชวงศ์
๓. พัดยศพระราชาคณะชั้นสามัญ |
๑.
พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
ตัวพัดมีลักษณะเป็นแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
เป็นพัดยศสำหรับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ เช่น
- พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่เป็นพัดยศตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก พื้นพัดเป็นตาดเงิน สลับลูกคั่นตาดทอง
ปักดิ้นเลื่อม และทองแล่ง ใจกลางปักเป็นช่อใบเทศ ยอดงาเป็นฉัตร ๓
ชั้น พัดยศเล่มนี้ เป็นพัดประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอย่างธรรมดา
ถ้าเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกที่มีวุฒิพิเศษ
ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้ทำพัดยศที่มีเครื่องประดับที่งดงาม
และมีเครื่องหมายแสดงวุฒินั้น
พระราชทานเป็นการยกย่องเกียรติยศเพิ่มขึ้น
- พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่เป็นพัดยศตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ
ชั้นสุพรรณบัฏ พื้นตาดเหลือง
มีลูกคั่นสลับเป็นริ้วด้วยตาดสีน้ำเงินอ่อนและขาว ปักลายกระหนก
ด้วยดิ้นเลื่อม และทองแล่ง ใจกลางเป็นตาดเหลืองปักลายใบเทศ
- พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่เป็นพัดยศตำแหน่งพระราชาคณะ
ถ้าเป็นชั้นหิรัญบัฏ เป็นพื้นโหมดเหลืองสลับริ้วลูกคั่น ตาดสีแดง
ขาว น้ำเงินอ่อน ปักลวดลาย ด้วยดิ้นเลื่อม และทองแล่ง
ใจกลางเป็นโหมดเหลืองปักลายใบเทศ
- พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ของพระราชาคณะลำดับรองๆ ลงไป ได้แก่
พระราชาคณะชั้นธรรม พระราชาคณะชั้นเทพ พระราชาคณะชั้นราช
และพระราชาคณะชั้นสามัญ พื้นพัดแตกต่างกัน เช่น พื้นโหมดขาว
พื้นแพรต่วน พื้นกำมะหยี่ การปัก และการตกแต่งก็จะแตกต่างกันด้วย
๒.
พัดแฉกเปลวเพลิง
ตัวพัดมีลักษณะคล้ายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่มีแฉกคล้ายเปลวเพลิง
เป็นพัดยศสำหรับพระครูสัญญาบัตร ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด
หรือเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก เช่น
- พัดพระครูเจ้าคณะจังหวัดชั้นเอก พื้นสักหลาดแดง
ตรงกลางสลับสีขาบเขียวม่วงปักดิ้น
- พัดแฉกเปลวเพลิงพระครูเจ้าคณะจังหวัดชั้นโท
พื้นสักหลาดแดงล้วนปักดิ้น
๓.
พัดพุดตาน
ตัวพัดมีลักษณะเป็นวงกลม ขอบพัดหยักเป็นแฉกๆ คล้ายกลีบบัวบาน
เป็นพัดยศสำหรับพระสงฆ์ตำแหน่งพระครูสัญญาบัตรลงไปถึงพระปลัด เช่น
- พัดพระครูของสมเด็จพระราชาคณะ พื้นกำมะหยี่เหลืองสลับกำมะหยี่แดง
ลวดใหญ่ปักทองแล่ง ลวดเล็กปักดิ้นด้าน ลายปักดิ้นมันและเลื่อมเงิน
- พัดพระครูของพระราชาคณะชั้นเทพ ชั้นราช พื้นสักหลาด
การปักและลวดลาย จะแตกต่างกัน
๔.
พัดหน้านาง
ตัวพัดมีลักษณะรูปไข่คล้ายรูปหน้าสตรี คือ
มีลักษณะอย่างตาลปัตรพระทั่วไปในปัจจุบัน
เป็นพัดยศระดับพระครูฐานานุกรม (คือ พระสงฆ์ที่พระราชาคณะเป็นผู้ตั้ง)
พัดยศเปรียญ และพัดนักธรรม เช่น
- พัดพระครูสมุห์ (ฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ตลอดถึงของ
พระราชาคณะชั้นราช) ถ้าเป็นฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
และสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ และพระราชาคณะ ชั้นหิรัญบัฏ
เป็นพื้นกำมะหยี่แดงล้วน ถ้าเป็นฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นธรรม
ชั้นเทพ และชั้นราช จะเป็นพื้นสักหลาดแดงล้วน
ลวดลายการปักเหมือนกันหมด คือ กระหนก และลวดลายปักไหมทอง
ใบและดอกปักดิ้น
- พัดพระครูสมุห์ ฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราชเป็นพื้นอัตลัด
(ผ้าที่ทอด้วยไหม ควบทองแล่ง และเงินแล่ง) สีแดงสลับดำประดับเลื่อม
ถ้าเป็นพระครูสมุห์ฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นสามัญ
ไม่ประดับเลื่อม
|
|