ลักษณะสำคัญของพัดยศ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 32
เล่มที่ ๓๒
เรื่องที่ ๑ ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์
เรื่องที่ ๒ หุ่นกระบอกไทย
เรื่องที่ ๓ หนังสือโบราณของไทย
เรื่องที่ ๔ สิทธิมนุษยชน
เรื่องที่ ๕ เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
เรื่องที่ ๖ ชีวสนเทศศาสตร์
เรื่องที่ ๗ การยศาสตร์
เรื่องที่ ๘ นาโนเทคโนโลยี
เรื่องที่ ๙ โรคออทิซึม
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๒ / เรื่องที่ ๑ ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์ / ลักษณะสำคัญของพัดยศ

ลักษณะสำคัญของพัดยศ
ลักษณะ สำคัญของพัดยศ

พัดยศแต่ละชนิดมีลักษณะสำคัญแสดงความแตกต่าง ซึ่งเป็นเครื่องบอกชั้นยศ และคุณสมบัติพิเศษของพระสงฆ์ ที่ได้รับพระราชทานด้วย ดังนี้

๑. ยอดพัด

พัดยศประจำพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกซึ่งแต่ละพระองค์ที่ได้รับพระราชทานพัดยศ มีสมณศักดิ์สูงต่ำแตกต่างกัน โดยจะสังเกตได้ที่ยอดพัดที่ทำด้วยงาแกะเป็นรูปฉัตร ๗ ชั้น ๕ ชั้น ๓ ชั้นหรือแกะเป็นรูปพระมหามงกุฎ ส่วนยอดพัดของสมเด็จพระราชาคณะลงมา ถึงพระราชาคณะชั้นสามัญ จะแกะเป็นรูปบัวซ้อนเหมือนกันหมด

๒. ใจกลางพัด

หรือพื้นพัด หรือตัวพัด เป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งของพัดยศ ที่จะแสดงคุณสมบัติเฉพาะของผู้ที่ได้รับพระราชทาน คือ ถ้าเป็นพัดยศของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจะปักรูปและลวดลายเฉพาะไว้เพื่อเป็นการเฉลิมพระ เกียรติ เช่น รูปพระมหามงกุฎ รูปฉัตร หรือรูปพระราชลัญจกรประจำรัชกาลส่วนของสมเด็จพระราชาคณะลงมาถึงพระราชาคณะชั้นราช จะปักเป็นรูปใบเทศ
พัดหน้านาง พื้นกำมะหยี่แดงล้วน และปักไหมทอง เป็นพัดยศตำแหน่งพระครูฐานานุกรม
พัดหน้านาง พื้นกำมะหยี่แดงล้วน และปักไหมทอง เป็นพัดยศตำแหน่งพระครูฐานานุกรม
๓. ด้ามพัด

โดยทั่วไป ด้ามพัดของพระราชาคณะทำด้วยงา มีข้อแตกต่างกันตรงคอพัด (ส่วนเชื่อมต่อ ของตัวพัดกับด้ามพัด) คือ ถ้าเป็นของสมเด็จพระสังฆราชลงมาถึงพระราชาคณะชั้นเทพ คอพัดจะแกะเป็นรูปเทพนม ส้นพัด (ส่วนด้านล่างสุดของด้ามพัด สำหรับตั้งกับพื้น) แกะเป็นรูปบัวกลุ่มเหมือนกันหมด และด้ามพัดที่เป็นงาก็ยังแตกต่างกัน พัดยศสมเด็จพระสังฆราชขึ้นไป มักจะเป็นด้ามงาทั้งแท่ง แต่พัดยศตั้งแต่สมเด็จพระราชาคณะลงมา จะเป็นด้ามงาต่อ
หัว ข้อก่อนหน้า หัว ข้อถัดไป