สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 32
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๒ / เรื่องที่ ๑ ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์ / สำหรับเด็กระดับเล็ก
สำหรับเด็กระดับเล็ก
ฟังเสียงอ่าน =>

| เด็กๆ เคยสังเกตหรือไม่ว่า
เวลาที่พระสงฆ์ทำพิธีสวดมนต์ระหว่างการประกอบพิธีทางศาสนา
ไม่ว่าพิธีนั้นจะเป็นพิธีทำบุญ พิธีเฉลิมฉลองในโอกาสต่างๆ
หรือแม้แต่ในพิธีสวดศพ หรือเผาศพ ในบางช่วงของการสวดมนต์
พระสงฆ์จะยกสิ่งที่คล้ายพัด ที่มีด้ามยาว
ซึ่งอาจจะวางอยู่ที่พื้นด้านหน้าของแต่ละรูป
หรืออาจตั้งเสียบอยู่ที่แท่นวาง ขึ้นมาใช้บังหน้าไว้
แต่บางช่วงการสวด ก็จะไม่ยกมาบังหน้า เด็กๆ
สงสัยบ้างไหมว่า สิ่งที่คล้ายพัดด้ามยาวที่พระสงฆ์ใช้คืออะไร
มีที่มาอย่างไร และเหตุใดพระสงฆ์จึงนำมาใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา
โอกาสและการใช้เป็นอย่างไร
สิ่งที่มีลักษณะคล้ายพัดด้ามยาวที่พระสงฆ์ใช้บังหน้าในขณะสวดมนต์ประกอบพิธีทางศาสนานั้น
เรียกว่า ตาลปัตร แปลว่า พัดใบตาล มีที่มาจากใบตาล
ซึ่งเป็นต้นไม้ประเภทเดียวกับต้นมะพร้าว แต่มีใบใหญ่และกว้างกว่าใบมะพร้าว
ชาวบ้านนำใบตาลนี้ มาตัดแต่งเป็นพัด และใช้โบกลมหรือบังแดด
เป็นของใช้ปกติของชาวบ้านในประเทศอินเดีย และลังกา
มาตั้งแต่ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว ต่อมา พระสงฆ์ได้นำพัดใบตาลนี้มาใช้
โดยถือไปด้วยเมื่อเวลาแสดงธรรม เมื่อชาวบ้านเห็นพระใช้พัดใบตาล
ซึ่งเป็นของที่ไม่คงทนและไม่สวยงาม จึงคิดหาสิ่งอื่นที่คงทนและสวยงาม เช่น
ผ้าไหม ผ้าแพร ไม้ไผ่สาน งาสาน สุดแต่กำลังศรัทธาของแต่ละคน
แล้วประดิษฐ์ตกแต่งให้มีความวิจิตรงดงามมากขึ้น พัดใบตาลจึงเปลี่ยนแปลงไป
จนมีลักษณะอย่างที่พระสงฆ์ใช้ในปัจจุบันนี้ |  | ส่วนเหตุที่พระสงฆ์ใช้ตาลปัตร บังหน้าเวลาสวดทำพิธีนั้น
มีอธิบายไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาว่า
เพื่อไม่ให้ผู้มาฟังธรรมเห็นอากัปกิริยาของพระสงฆ์ที่อาจจะไม่ได้ระมัดระวังขณะที่สวด
และเพื่อไม่ให้พระสงฆ์มองผู้มาฟังธรรม เนื่องจากจะทำให้ไม่มีสมาธิได้
ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ พระสงฆ์ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
การใช้ตาลปัตร ของพระสงฆ์ในการประกอบพิธีที่เป็นพิธีมงคลต่างๆ
พระสงฆ์จะใช้ตาลปัตร เฉพาะเมื่อตอนให้ศีล (คือ ตอนเริ่มพิธี)
และตอนอนุโมทนา (ให้พร) แก่ผู้มาฟังธรรมหรือเจ้าภาพของงานเท่านั้น
ในการสวดตามปกติจะไม่ใช้ตาลปัตร แต่หากเป็นงานศพ
พระสงฆ์จะใช้ตาลปัตร ในขณะสวดพระอภิธรรมด้วย
นอกจากตาลปัตร ที่พระสงฆ์ทั่วๆไปใช้แล้ว
ยังมีตาลปัตร พิเศษที่มีลักษณะแตกต่างจากตาลปัตร ทั่วไป
ซึ่งมีความวิจิตรงดงาม เพราะมีการประดิษฐ์ตกแต่งเป็นพิเศษ
และมีลักษณะเฉพาะ ตาลปัตร ชนิดนี้ เรียกว่า พัดยศ
พัดยศ เป็นของที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานแก่พระสงฆ์พร้อมกับการตั้งสมณศักดิ์
(ตำแหน่งชั้นยศของพระ) และพัดยศจะใช้เฉพาะงานพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน
เช่น ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา หรือพิธีที่เนื่องในพระเจ้าแผ่นดิน
ซึ่งส่วนราชการจัดขึ้น เช่น งานเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ
พระอารามต่างๆ และเฉพาะพระสงฆ์
ที่ได้รับพระราชทานพัดยศเท่านั้นที่จะใช้พัดยศได้
|  | สำหรับการแต่งตั้งพระสงฆ์ให้มีสมณศักดิ์
ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณแล้ว
พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพิจารณาจากพระสงฆ์
ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก (พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
และทำคุณประโยชน์ทางด้านพุทธศาสนจักร สมณศักดิ์
ชั้นสูงสุดของพระสงฆ์ คือ
สมเด็จพระสังฆราช และมีสมณศักดิ์
ชั้นรองๆ ลงมา เช่น สมเด็จพระราชาคณะ
และพระราชาคณะ ซึ่งยังแบ่งเป็นชั้นต่างๆ ย่อยลงไปอีก |
|