การเตรียมใบลานจารหนังสือ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 32
เล่มที่ ๓๒
เรื่องที่ ๑ ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์
เรื่องที่ ๒ หุ่นกระบอกไทย
เรื่องที่ ๓ หนังสือโบราณของไทย
เรื่องที่ ๔ สิทธิมนุษยชน
เรื่องที่ ๕ เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
เรื่องที่ ๖ ชีวสนเทศศาสตร์
เรื่องที่ ๗ การยศาสตร์
เรื่องที่ ๘ นาโนเทคโนโลยี
เรื่องที่ ๙ โรคออทิซึม
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๒ / เรื่องที่ ๓ หนังสือโบราณของไทย / การเตรียมใบลานจารหนังสือ

 การเตรียมใบลานจารหนังสือ
ต้นลาน
ต้นลาน

ลานเส้น มีขนาดใหญ่ กลาง เล็ก สำหรับสานเครื่องใช้ต่างๆ
ลานเส้น มีขนาดใหญ่ กลาง เล็ก
สำหรับสานเครื่องใช้ต่างๆ

ขนอบ
ขนอบ
การเตรียมใบลานจารหนังสือ

ใบลานที่นำมาใช้จารหนังสือมีการจัดเตรียมหลายขั้นตอน ลาน เป็นต้นไม้ป่า ที่มีมากในแถบจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว สระบุรี ลพบุรี ขอนแก่น ในสมัยก่อน การเดินทางไปตัดลานในป่าแต่ละครั้ง ผู้เดินทางจะต้องทำพิธีเซ่นสรวงบูชา ทำนองเดียวกับการคล้องช้าง หรือการหาของป่าทั่วไป เพราะต้องเสี่ยงภัยอันตราย และขึ้นอยู่กับโชค หรือเคราะห์ด้วย คราวใดมีโชคดี ก็จะเดินทางไปพบลาน ที่มีขนาดตามต้องการ หากถึงคราวโชคร้าย พบแต่ลานที่แก่เกินขนาด ก็จะไม่ได้ลานกลับมา ดังนั้น ผู้มีอาชีพหาลานจึงต้องมีความรู้ความชำนาญพอสมควร

การคัดเลือกลานมาใช้จารหนังสือ ขั้นแรกต้องเข้าใจธรรมชาติของใบลานก่อนว่า เนื้อใบลานมีเส้นใยติดกันเป็นพืดขวางไปมาซ้อนกันประมาณ ๓ - ๔ ชั้น หากเป็นใบแก่มากๆ เส้นใยก็จะยิ่งเหนียวมากขึ้น และเมื่อแห้งก็จะกรอบ เปราะ หรือหักเดาะได้ง่าย ทั้งยังจารหนังสือได้ยากอีกด้วย ดังนั้น ใบลานที่มีคุณภาพดี มีขนาดพอเหมาะสำหรับการจารหนังสือมากที่สุด คือ ใบที่ไม่แก่จัด อย่างที่เรียกว่า ขนาดเพสลาด คือ ใบอ่อนที่สองซึ่งเพิ่งจะเริ่มคลี่ใบออก เป็นระยะที่เส้นใยของใบลาน ไม่เหนียวมากนัก ผิวใบลานจะเนียนและนิ่ม ไม่กรอบแตกง่าย มีอายุการใช้งานได้นาน การตัดใบลานคราวหนึ่งๆ จะตัดได้เพียง ๒ ใบ คือ ตอนแรกตัดใบอ่อนที่เพิ่งจะคลี่ใบก่อน จากนั้นก็เดินทางตัดต้นต่อๆ ไป ประมาณ ๑ เดือนจึงจะเดินทางย้อนกลับ เที่ยวกลับ ก็แวะตัดใบอ่อนที่เหลือซึ่งเพิ่งจะคลี่ใบได้ขนาดพอดี เมื่อทอนใบลานลงจากต้นแล้ว ตัดปลายใบออก จะได้ลานยาวประมาณ ๕๐ - ๗๕ เซนติเมตร แล้วแยกลานออกจากกัน ด้วยวิธีสาดลานขึ้นไปบนท้องฟ้า ปล่อยให้ตกลงเกลื่อนพื้น แล้วทิ้งไว้ให้ตากแดดตากน้ำค้างบนพื้นนั้นประมาณ ๓ วัน ๓ คืน จึงเก็บรวมไว้เป็นมัดใหญ่ ในมัดหนึ่งๆ มีจำนวนลานประมาณ ๒,๐๐๐ ใบ เรียกว่า "ซองหนึ่ง" และเนื่องจาก ลานเหล่านี้มีขนาดไม่เท่ากัน จึงเรียกว่า "ลานรวม"

เนื่องจากลานรวมมีขนาดไม่เท่ากัน ก่อนที่จะนำไปใช้จารหนังสือหรือทำประโยชน์อย่างอื่น ต้องคัดเลือกให้ได้ขนาดเท่าๆ กัน ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ขนาดของลานที่จะใช้ มีชื่อเรียกแตกต่างกัน ได้แก่ ลานหนังสือ ลานหนึ่ง ลานสอง ลานสาม ลานสี่ ลานห้า ลานหก ลานจิ๋ว ลานเส้น และลานตลาด

ลานหนังสือ มีขนาดหน้าลานกว้างมากกว่าลานอื่นๆ โดยทั่วไปมีขนาดกว้าง ประมาณ ๖ - ๘ เซนติเมตร ส่วนลานหนึ่ง ลานสอง ลานสาม ลานสี่ ลานห้า ลานหก และลานจิ๋ว จะมีขนาดหน้าลานกว้างมากน้อย ลดหลั่นกันลงไปตามลำดับ โดยเฉพาะลานจิ๋ว เป็นลานที่มีหน้าลานแคบมากที่สุด

ลานเส้น เป็นลานที่มีสีขาวสะอาด นำมาตัดซอยเป็นเส้น กว้างประมาณ ๑ - ๒ เซนติเมตร เพื่อนำไปใช้สานเครื่องใช้ต่างๆ

ลานตลาด เป็นลานที่ไม่ได้ใช้จารหนังสือ แต่มีวิธีการจัดเตรียมเช่นเดียวกับลานหนังสือ เว้นแต่เมื่อเวลาแทงลาน อาจจะเรียงใบลานซ้อนกันหลายๆ ใบได้ โดยใช้ขนอบลานสองเป็นแบบ แทงลานให้เป็นรู ๒ รู เมื่อแทงลานแล้ว จึงตัดลาน ให้เป็นแผ่นเล็กๆ นำไปใช้ประโยชน์ เช่น เป็นแผ่นรองสีผึ้ง

เมื่อคัดเลือกลาน ตามขนาดที่ต้องการได้แล้ว นำมาเจียนก้านออก ลานที่เจียนก้านแล้ว จะมีลักษณะเป็นแผ่นบาง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวมากกว่าความกว้างหลายเท่าตัว โดยเฉลี่ยกว้างประมาณ ๔ - ๘ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๕๐ - ๗๕ เซนติเมตร เรียงใบลานที่เจียนก้านแล้วซ้อนกัน ๒๐ - ๓๐ ใบ ขดม้วนให้กลม ใช้ก้านลาน หรือเชือกมัดไว้ แล้วนำลานไปแช่น้ำนาน ๑ คืน หรืออาจนานถึง ๒๔ ชั่วโมง แต่บางท้องถิ่นในภาคเหนือของประเทศไทย เช่น ที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ นิยมนำใบลานต้มในน้ำซาวข้าว ซึ่งชาวพื้นเมืองเรียกว่า "น้ำข้าวมวก" ต้มให้เดือด แล้วจึงนำออกผึ่งหรือตากให้แห้ง ขณะตากใบลานต้องตั้งสันลานขึ้น เมื่อลานแห้ง หน้าลานจะไม่บิดงอ และควรตากให้ถูกแดดและน้ำค้างประมาณ ๑ - ๒ วัน วิธีต้ม และตากลานแบบนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้เนื้อลานเหนียวและนิ่มเท่านั้น ยังทำให้ใบลานขาวขึ้นอีกด้วย

ใบลานที่แห้งสนิทดีแล้วต้องคลี่ออกจากม้วน เช็ดทำความสะอาดทีละใบ ก่อนที่จะนำมาแทงลาน ซึ่งใช้ขนอบเป็นพิมพ์ สำหรับแทงลานโดยเฉพาะ ขนอบที่กล่าวถึงนี้ ทำด้วยไม้ มีรูปร่างและขนาด เท่ากับลานชนิดต่างๆ ใช้ประกับเป็นขอบของใบลานด้านหน้า และด้านหลัง รวม ๒ อัน เช่น ขนอบลานหนังสือ ขนอบลานหนึ่ง ขนอบลานสอง ขนอบลานสาม นำใบลานที่แห้งแล้ว ประมาณ ๑๐ - ๒๐ ใบ เรียงซ้อนกัน และประกับด้วยขนอบตามขนาดที่ต้องการ แล้วมัดรวมกันให้แน่น ใช้มีดที่มีความคมมากๆ ตัดลานให้เสมอ และได้ระดับกับขนอบทั้งสี่ด้าน แบบขนอบที่ใช้ตัดลาน ในปัจจุบัน นิยมใช้ขนอบลานสอง เป็นแบบ เมื่อตัดลานแล้ว ใช้ก้านลาน หรือที่นิยมเรียกว่า "ไม้กลัด" ร้อยลานเข้าด้วยกัน ตามรูที่เจาะไว้ให้ได้กับหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนใบลานประมาณ ๕๐๐ ใบ จัดลานในกับให้เรียงเสมอกันทั้ง ๔ ด้าน แล้วมัดเป็น ๓ ตอน ก่อนที่จะใช้ขนอบประกับหน้าหลัง พร้อมทั้งมัดรวมให้แน่นอีกครั้งหนึ่ง อาจนำไปอัดด้วยควง ซึ่งเป็นเครื่องอัดใบลาน ให้แน่นมากขึ้นอีกก็ได้

เมื่อมัดลานแน่นดีแล้ว ถ้าไม่ทิ้งไว้ให้แห้งเอง ก็ต้องนำไปอบในเตาอบ เป็นวิธีเร่งให้ลานแห้งเร็วขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลานขึ้นรา เตาอบลานนิยมก่อด้วยอิฐ มีช่องใส่ไฟอยู่ตอนล่าง และมีท่อส่งความร้อนผ่านไปทั่วเตา โดยใส่ไฟแกลบในเตาตอนเช้าเพียงครั้งเดียว แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แกลบคุกรุ่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมอด ความร้อนจะระอุอยู่ในเตาเรื่อยไป จนรุ่งขึ้นอีกวันจึงใส่ไฟเพิ่มอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไฟมอดดับจนเตาเย็นแล้ว จึงเปิดเตา เพื่อนำลานออก

ใบลานแต่ละกับที่แห้งแล้ว ขอบลานจะไม่เรียบเสมอกันทุกลาน ฉะนั้น จึงต้องนำลานทั้งกับ มาไสด้วยกบไสไม้ ให้ขอบลานเรียบเสมอกันทั้ง ๔ ด้าน ก่อนที่จะแกะลานออกจากกับ แล้วทำความสะอาดลานทีละใบ โดยใช้ทรายละเอียดที่คั่ว หรือตากแดดให้ร้อนจัด โรยลงบนใบลาน แล้วใช้ลูกประคบซึ่งทำด้วยผ้าห่อสำลีหรือนุ่น มัดให้เป็นก้อนกลมขนาดใหญ่ พอจับได้ถนัดมือ ขัดไปมาให้ผิวหน้าลานเรียบเกลี้ยง แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาดใบลานจนทั่ว ต่อจากนั้น จึงใช้เหล็กแหลมเผาไฟ เจาะตามช่อง หรือรอยรูที่แทงไว้ในตอนแรก แล้วจัดใบลานเข้าผูก ใบลานผูกหนึ่ง มีลานประมาณ ๒๔ ใบ ซึ่งเป็นลานที่พร้อมจะใช้จารหนังสือได้ทันที แต่ถ้าจะนำลานนี้ ไปพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สมัยใหม่ ต้องนำลานไปลนไฟให้ขึ้นมัน การลนไฟต้องใช้ลานด้านมัน วางบนถ่านไฟอ่อนๆ ให้ใบลานผ่านไฟเพียงด้านเดียวตลอด ทั้งหน้าลาน แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดลานทั้งสองด้านให้สะอาดขึ้นมันทั่วกัน แล้วเข้าผูกไว้เตรียมพร้อม เพื่อนำไปใช้ตามความต้องการต่อไป
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป