สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 32
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๒ / เรื่องที่ ๓ หนังสือโบราณของไทย / การเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานแบบดั้งเดิม
การเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานแบบดั้งเดิม
คัมภีร์ใบลาน ฉบับชาดทึบ
คัมภีร์ใบลาน ฉบับทองทึบ |
การเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานแบบดั้งเดิม
คัมภีร์ใบลานแต่ละเรื่อง
จะมีความสั้นยาวของเนื้อเรื่องไม่เท่ากัน
จำนวนผูกจึงมีมากน้อยต่างกัน บางเรื่องอาจจะจบเพียง ๕ ผูก
แต่บางเรื่องอาจมีถึง ๒๐ - ๓๐ ผูกก็ได้ หนังสือใบลานเรื่องหนึ่งๆ
จะมีจำนวนผูกเท่าใดก็ตาม นับรวมเป็นคัมภีร์หนึ่ง
หนังสือใบลานที่จัดเรียงลำดับเลขที่ผูก ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องแล้ว
ต้องมีไม้ประกับ ๒ อัน ขนาบหน้า - หลัง ไม้ประกับนี้
จะทำหน้าที่หุ้มคัมภีร์อยู่ด้านนอกปกใบลาน เพื่อให้ลานแข็งแรง ไม่บิด หัก
เดาะ หรือฉีกขาดได้ง่าย
ไม้ประกับคัมภีร์ส่วนใหญ่ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น
ไม้สัก ไม้จันทน์ ขนาดของไม้ประกับต้องกว้างยาวเท่ากับหน้าลาน
และหนาประมาณ ๑ - ๒ เซนติเมตร หรือมากกว่านั้นก็มี
โดยนำคัมภีร์ใบลานที่มีไม้ประกับแล้ว เข้าเครื่องอัดให้แน่น
แล้วใช้กบไสขอบลานทั้ง ๔ ด้าน ให้เรียบเสมอกัน ทั้งไม้ประกับ และใบลาน
เมื่อทำความสะอาดแล้ว ถ้าต้องการจะตกแต่งคัมภีร์ใบลาน
และไม้ประกับให้สวยงาม ก็ต้องทำในขั้นตอนนี้ หากไม่ทำ ก็จัดว่า
ได้คัมภีร์ใบลาน ที่สำเร็จสมบูรณ์ในส่วนวิธีการจารใบลานแล้ว
โดยเรียกคัมภีร์ใบลานและไม้ประกับที่ไม่มีการตกแต่งว่า "ฉบับลานดิบ ไม้ประกับธรรมดา"
ส่วนคัมภีร์ที่มีการตกแต่ง ซึ่งนิยมทำให้เข้าชุดกัน ทั้งตัวคัมภีร์ใบลาน
และไม้ประกับ โดยตกแต่งใบลานที่ปกหน้า ปกหลัง ขอบคัมภีร์ (ขอบลานทั้ง ๔
ด้าน) และไม้ประกับหน้า
- หลัง การตกแต่งนิยมทำด้วยกรรมวิธีทางศิลปกรรมไทยแบบต่างๆ ได้แก่
ลายรดน้ำ ประดับมุก ประดับกระจก ซึ่งประกอบด้วยสีและลวดลาย ที่งดงาม
การตกแต่งคัมภีร์ใบลานเป็นลักษณะเฉพาะ ที่นำมาใช้
ประกอบการเรียกชื่อฉบับของคัมภีร์ด้วย ทั้งนี้
เพราะเนื้อเรื่องในคัมภีร์ใบลานส่วนใหญ่ จะมีการจารคัดลอกซ้ำๆ
กันหลายครั้ง และทุกครั้งที่มีการสร้างคัมภีร์ขึ้นใหม่
สิ่งที่จะช่วยแยกลักษณะของคัมภีร์ใบลาน เพื่อให้เห็นความแตกต่างกัน คือ
ส่วนที่เป็นใบปกหน้า ปกหลังของคัมภีร์ และไม้ประกับคัมภีร์เท่านั้น เช่น
ตกแต่งปิดทองทึบทุกส่วน เรียกว่า "คัมภีร์ใบลานฉบับทองทึบ" ถ้าขอบลานด้านข้างทางยาวทาชาด ตรงกลางปิดทองทึบขนาบสองข้าง และส่วนอื่นๆ ที่เหลือก็ปิดทองทึบ เรียกว่า "ฉบับล่องชาด"
ถ้ามีการตกแต่งปกลานหน้าหลัง เป็นลายต่างๆ เช่น ลายกรวยเชิง ลายเทพนม
ด้วยกรรมวิธีทางช่างที่เรียกว่า ลายรดน้ำบนพื้นรักสีดำ
จะเรียกชื่อฉบับของคัมภีร์นั้นว่า "ฉบับล่องชาดรดน้ำดำ"
ส่วนไม้ประกับก็จะเรียกตามลักษณะการตกแต่งเช่นเดียวกัน เช่น
ไม้ประกับประดับมุก ไม้ประกับประดับกระจก ไม้ประกับลายรดน้ำ
หากไม้ประกับนั้นไม่มีการประดับตกแต่งใดๆ จะเรียกว่า "ไม้ประกับธรรมดา"
คัมภีร์ใบลานที่มีไม้ประกับขนาบอยู่หน้า
- หลังแล้ว ต้องมัดไว้ด้วยเชือก หรือลาน ถักเป็นเข็มขัด ๒ ช่วง หรือ ๓ ช่วง
เพื่อไม่ให้แตกมัด และยังต้องมีผ้าห่อคัมภีร์อีกชั้นหนึ่ง
เพื่อป้องกัน ไม่ให้คัมภีร์ใบลานสกปรกได้ง่าย หรือชำรุดฉีกขาดเร็วขึ้น
ผ้าที่ใช้ห่อคัมภีร์นิยมใช้ผ้าที่มีคุณภาพดี เช่น ผ้าปูม ผ้าตาด ผ้าไหม
หรือผ้าลาย ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามฐานะของผู้สร้างคัมภีร์ด้วย
นอกผ้าห่อคัมภีร์มีฉลาก คือ ป้ายบอกชื่อคัมภีร์ หรือชื่อเรื่อง
ของหนังสือใบลาน ฉลากนี้จะเสียบไว้ที่หน้ามัดคัมภีร์ วัสดุที่ใช้ทำฉลาก
มีหลายชนิด ได้แก่ ไม้ ทองเหลือง งา หรือบางทีพบว่า มีการตกแต่งประดับฉลาก
ให้ดูงดงามด้วยลวดลาย โดยนิยมเรียกชื่อฉลากตามวัสดุที่ใช้ว่า "ฉลากไม้ ฉลากงา ฉลากทองเหลือง" และยังมีฉลากที่ทำด้วยเส้นไหมทอยกดอก เป็นลายรูปตัวอักษรชื่อคัมภีร์ เรียกว่า "ฉลากทอ"
นอกจากนี้
คนไทยโบราณยังได้สร้างกากะเยียขึ้น ไว้เป็นอุปกรณ์ ใช้เฉพาะสำหรับเป็นที่วางคัมภีร์ใบลาน เพื่อการอ่าน หรือแปลหนังสือใบลาน
กากะเยียทำด้วยไม้ ๘ อัน กลึงให้เป็นแท่งกลมยาว เส้นรอบวงเท่ากันทุกอัน
ประมาณ ๔ - ๗ เซนติเมตร แบ่งไม้เป็น ๒ ชุด ชุดละ ๔ อัน
โดยทั่วไปไม้ชุดที่ยาวมากกว่าจะมีขนาดยาวประมาณ ๔๕ - ๕๐ เซนติเมตร
เฉพาะไม้ชุดยาว ๔ อัน ให้เจาะรูตรงกันที่ปลายด้านหนึ่ง
และตรงกลางอีกที่หนึ่ง ส่วนไม้ชุดสั้นอีก ๔ อัน เจาะรูที่ปลายทั้ง ๒ ด้าน
ให้ตรงกัน ใช้เชือกหรือด้ายร้อยไม้ชุดยาวตรงกลาง แล้วมัดหลวมๆ
รวมไว้ด้วยกันก่อน แล้วใช้เชือกหรือด้ายอีกเส้นหนึ่งร้อยไม้ทั้ง ๘ อัน
ให้เรียงไขว้กัน เมื่อกางออกมีรูปทรงเหมือนโต๊ะสี่เหลี่ยมโดยมีไม้ชุด ๔
อัน ทำหน้าที่เป็นขาตั้งไขว้กัน เส้นเชือกหรือด้ายซึ่งร้อยอยู่ที่ปลายไม้
จะขึงตึงขนานไปกับไม้ชุดสั้นทั้ง ๔ ด้าน ซึ่งใช้เป็นที่รองรับใบลาน
|
|