สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 32
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๒ / เรื่องที่ ๗ การยศาสตร์ / ประโยชน์ของการยศาสตร์
ประโยชน์ของการยศาสตร์
ประโยชน์ของการยศาสตร์
ในวงการอุตสาหกรรม และในชีวิตประจำวัน การยศาสตร์ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ดังนี้
๑. เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน และเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
รายงานของสำนักงานสถิติแรงงาน
(Bureau of Labor Statistics) แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๒ ระบุว่า
การเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงาน ที่เพิ่มขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๙ - ค.ศ. ๑๙๙๐
นั้น ร้อยละ ๘๐ ได้แก่ ความพิการ เนื่องมาจากการบาดเจ็บเรื้อรัง
(cumulative trauma disorders) ซึ่งมีตั้งแต่ อาการเจ็บที่กล้ามเนื้อ
ไปจนถึงความพิการ เช่น
การสูญเสียการได้ยิน เนื่องจาก การทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดังมากเกินไป
อาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้ออาจเกิดขึ้น จากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ
ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น อาการเจ็บข้อมือ เนื่องจากการพิมพ์ดีด
หรือการทำงานอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง เป็นเวลานานๆ เช่น ต้องก้มหรือยื่นแขน เป็นเวลานาน ซึ่งการเคลื่อนไหวซ้ำๆ
หรือทำงานในท่าใดท่าหนึ่ง เป็นเวลานาน สามารถก่อให้เกิดการอักเสบ
การบวมของเอ็น ที่ข้อต่อ หรือเกิดการบาดเจ็บได้ นอกจากนี้
การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เป็นเวลานาน หรือบ่อยครั้ง
ก็ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้เช่นกัน เช่น
การยกของที่มีน้ำหนักมากบ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง
หรือการเจ็บป่วย ที่บริเวณหลัง
การอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ที่มีเสียงดัง เกินกำหนด
อาจทำให้สูญเสียการได้ยิน หรือถ้าอยู่ในสถานที่ ที่มีแสงน้อยเกินไป
อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวและล้าที่กล้ามเนื้อตาได้ ดังนั้น
นักการยศาสตร์จึงออกแบบสถานที่ทำงาน ให้มีการเคลื่อนไหว ประเภทที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้น้อยที่สุด
และสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ต่อการปฏิบัติงาน
โดยคาดว่า สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานนั้น จะก่อให้เกิดความสะดวกสบาย
ปราศจากความล้าทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
ซึ่งความล้าเหล่านี้ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดความผิดพลาด
และอุบัติเหตุต่างๆ
 อุปกรณ์ป้องกันเสียง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของแก้วหู ๒. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานระหว่างคนกับเครื่องจักร
หลักการทางการยศาสตร์นั้นสามารถนำมาใช้ในการออกแบบวิธีการทำงาน
เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน
นักการยศาสตร์จะทำการวิเคราะห์ภาระงาน และทักษะในการทำงาน
หลังจากนั้น จะนำหลักการต่างๆ มาประยุกต์ใช้
เพื่อหาวิธีการปฏิบัติงานที่เหมาะสม ทั้งต่อร่างกาย จิตใจ
และสังคมในที่ทำงาน นอกจากนี้
นักการยศาสตร์ยังต้องออกแบบช่วงเวลาในการทำงาน
ซึ่งจะก่อให้เกิดผลผลิตได้มากที่สุด โดยคำนึงถึงทักษะต่างๆ
ที่จำเป็น ในการปฏิบัติงาน
และออกแบบระบบการฝึกฝนทักษะที่จำเป็น ในการทำงานเหล่านั้นด้วย
 ถุงมือ และเข็มขัดพยุงหลัง ใช้สำหรับป้องกันการบาดเจ็บจากการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก โดยได้นำหลักการทางการยศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ๓. เพื่อออกแบบสารสนเทศที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของมนุษย์
นักการยศาสตร์ในกลุ่มนี้จะพยายามออกแบบวิธีการนำเสนอสารสนเทศ
(information) ต่างๆ ที่ง่ายต่อการรับรู้ของมนุษย์ เช่น สัญลักษณ์
หรือป้ายบอกทางต่างๆ ที่ง่ายต่อความเข้าใจ
หรือสร้างคู่มือในการทำงานที่ผู้อ่าน สามารถปฏิบัติตามได้โดยง่าย นอกจากนี้
นักการยศาสตร์ยังต้องคำนึงถึงรูปแบบในการนำเสนอ
หรือการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้
เพื่อให้เกิดความสะดวก ในการนำสารสนเทศไปใช้ประโยชน์
|  แปรงสีฟันที่มีการออกแบบให้เหมาะกับการแปรงฟัน | ๔. เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อการใช้
การนำหลักการยศาสตร์ไปใช้ในกลุ่มนี้
เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะสมต่อร่างกาย ความต้องการ
และความคาดหวังของผู้ใช้ เช่น ในการออกแบบแปรงสีฟัน
นักการยศาสตร์ต้องออกแบบด้ามจับ ให้มีความกว้างเพียงพอ และง่ายต่อการจับ
คอแปรงต้องโค้งงอ เพื่อซอกซอนเข้าสู่ทุกส่วนของช่องปาก
และปลายขนแปรงต้องมีรูปร่างเหมาะสม ต่อการสัมผัสผิวฟัน อีกตัวอย่างหนึ่งคือ
การออกแบบห้องโดยสารภายในรถยนต์ เช่น เก้าอี้นั่ง
ได้รับการออกแบบ ที่ทำให้ทุกคน ไม่ว่าจะสูง เตี้ย อ้วน ผอม
หรือหญิงตั้งครรภ์ สามารถเข้ามานั่ง และขับขี่ได้อย่างสะดวกสบาย
เบาะที่นั่งสามารถปรับให้เข้ากับท่าทาง และการนั่งของแต่ละบุคคลได้ง่าย
พวงมาลัยรถได้รับการออกแบบให้จับได้ถนัดมือ และใช้แรงน้อยลง
แม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ก็ได้รับการออกแบบ ให้ตรงตามหลักการยศาสตร์
เช่น การแสดงผลทางหน้าจอ ต้องง่ายต่อการใช้ และการเข้าใจการออกแบบแป้นพิมพ์และเมาส์ ต้องมีรูปร่างสอดคล้องกับหลักการทางการยศาสตร์
เพื่อไม่ก่อให้เกิดอาการเมื่อย หรือการบาดเจ็บของข้อมือ | กล่าวโดยสรุปคือ
การประยุกต์ใช้หลักการยศาสตร์นั้น
สามารถพบเห็นได้ทั่วไปใน ที่ซึ่งมีการทำงานร่วมกัน ระหว่างคนกับเครื่องมือ เครื่องใช้
และสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดความปลอดภัย ความสะดวกสบาย
และประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน ในระบบหนึ่งๆ |
|