หางเครื่อง - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 33
เล่มที่ ๓๓
เรื่องที่ ๑ สุนทรภู่
เรื่องที่ ๒ เพลงลูกทุ่ง
เรื่องที่ ๓ คลอง
เรื่องที่ ๔ วิวัฒนาการของมนุษย์
เรื่องที่ ๕ เซลล์เชื้อเพลิง
เรื่องที่ ๖ เปลือกโลกและหิน
เรื่องที่ ๗ อาหารกับโรคเรื้อรัง
เรื่องที่ ๘ การแพทย์แผนไทย
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๓ / เรื่องที่ ๒ เพลงลูกทุ่ง / หางเครื่อง

 หางเครื่อง
หางเครื่อง

วงดนตรีลูกทุ่งในปัจจุบันถือว่าหางเครื่องมีความสำคัญที่จะขาดไม่ได้ และมีการแข่งขันสูงทางด้านความสวยงามวิจิตรตระการตา ในระยะแรกเพลงลูกทุ่งยังไม่มีหางเครื่องเหมือนดังเช่นปัจจุบัน หางเครื่องในอดีตหมายถึงเครื่องดนตรีพวกฉิ่ง ฉาบ กรับ กลอง ลูกแซ็ก ไม้แต๊ก แทมบูรีน ที่ใช้เคาะให้จังหวะอยู่ด้านหลังของวงดนตรี เนื่องจากการแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งสมัยแรก ใช้เวลา ๓ - ๔ ชั่วโมง มีรีวิวประกอบเพลงไม่มากนัก จึงให้คนในวงที่ว่างงานอยู่ออกมาช่วยตีเครื่องเคาะให้จังหวะต่างๆ ประกอบการร้อง ของนักร้องหน้าเวที และช่วยให้จังหวะเพลงเด่นชัดขึ้น เรียกกันว่า "เขย่าเครื่องเสียง" หรือ "เขย่าหางเครื่อง"


หางเครื่องเป็นองค์ประกอบสำคัญของวงดนตรีลูกทุ่งที่จะขาดเสียมิได้ และเป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ของแต่ละวงด้วย

จินตนา  ดำรงค์เลิศ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึง หางเครื่อง โดยนำมาจากหนังสือ "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค ๒" ตอนหนึ่งมีใจความว่า ในตอนแรกผู้ที่ออกมาเขย่าหางเครื่อง มีทั้งหญิงและชาย บางครั้งเป็นตัวตลกประจำวง ต่อมา จึงพัฒนาขึ้น โดยใช้หญิงสาวสวยๆ ออกมาเขย่าหางเครื่อง แต่ยังไม่ออกลีลาเต้น การแต่งกายสุดแล้วแต่เจ้าตัวจะใส่ ต่อมาช่วง พ.ศ. ๒๕๐๙ - ๒๕๑๐ ผู้ที่ออกมาเขย่าหางเครื่องประกอบจังหวะการร้องเพลงลูกทุ่ง มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ๔ - ๗ คน การแต่งกายเหมือนกันโดยใช้ชุดเดียวตลอดการแสดง วงดนตรีสุรพล  สมบัติเจริญ และวงสมานมิตร  เกิดกำแพง มีหางเครื่องเป็นที่กล่าวขวัญ ต่อมาวงดนตรีของศรีนวล ภรรยาของสุรพล  สมบัติเจริญ ได้จัดผู้เต้นระบำประกอบเพลงโดยใช้ผู้เต้นประมาณ ๑๐ คน มีลีลาการเต้นแบบระบำฮาวาย หลังจากนั้น วงดนตรีลูกทุ่งก็ได้มีการแข่งขันด้านหางเครื่อง การแสดงของวงดนตรีใหญ่ๆ จะมีหางเครื่องเต้นประกอบทุกเพลง และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายทุกเพลง จำนวนผู้เต้นประมาณ ๑๕ - ๑๖ คน แต่ถ้าเป็นเพลงเด่นจะมีถึง ๔๐ คน


วงดนตรีลูกทุ่งวงใหญ่ๆ จะมีหางเครื่องจำนวนมาก เป็นสีสันบนเวทีและดึงดูดผู้ชม

หลัง พ.ศ. ๒๕๑๐ หางเครื่องเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของวงดนตรีลูกทุ่ง นับเป็นสีสันบนเวที และดึงดูดผู้ชม โดยวงดนตรีลูกทุ่งของเพลิน  พรหมแดน เป็นวงแรกๆ ที่มีการปฏิวัติหางเครื่องในช่วงที่วงขาดทุน และเริ่มเสื่อมความนิยม โดย เพลิน  พรหมแดน และภรรยา เดินทางไปศึกษาการแสดงคาบาเรต์ในยุโรป และนำแฟชั่นใหม่ๆ จากต่างประเทศ ทั้งเสื้อผ้า ขนนก มาเป็นองค์ประกอบ ของเครื่องแต่งกาย และเพิ่มจำนวนผู้เต้นขึ้นเป็นจำนวนร้อย ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างมาก วงดนตรีเพลิน  พรหมแดน กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง

จากยุคทองของเพลงลูกทุ่งจนกระทั่งปัจจุบัน หางเครื่องเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแสดงวงดนตรีลูกทุ่งที่ขาดไม่ได้ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นการแข่งขันกันระหว่างวงดนตรีในเรื่องความยิ่งใหญ่ ความพร้อมเพรียงของผู้เต้น และความสวยงามของเครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นการลงทุนอย่างมหาศาล
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป