สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 33
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๓ / เรื่องที่ ๒ เพลงลูกทุ่ง / สำหรับเด็กระดับเล็ก
สำหรับเด็กระดับเล็ก
ฟังเสียงอ่าน =>

 |
โอ๊บ โอ๊บ ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำพรำ กบมันก็ร้องงึมงำ ระงมไปทั่วท้องนา ฝนตกทีไร คิดถึงหัวใจของข้า แม่ดอกโสนบ้านนา น้องเคยเรียกข้าพ่อดอกสะเดา
|
 | รุ่งเพชร แหลมสิงห์
ร้องเพลง ฝนเดือนหก ไพเราะเหลือเกิน
ผู้ฟังฟังแล้วนึกถึงภาพท้องทุ่งที่ต้นข้าวเขียวขจีสุดสายตา ฝนโปรยพรำๆ
ละอองเย็นชื่นฉ่ำ เสียงกบร้องที่โน่น ที่นี่ ราวกับเรียกหาคู่
เหมือนหัวใจของหนุ่มลูกทุ่งคิดถึงน้องที่อยู่ไกล จนต้องร้องไห้โหยหา
เนื้อเพลงฝนเดือนหกท่อนแรกที่ยกมานำเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของเพลงลูกทุ่ง
ซึ่งเป็นเพลงไทยรูปแบบหนึ่ง เพลงลูกทุ่งมีทำนองง่ายๆ ไพเราะ ฟังเพลิน
บรรยายภาพชีวิตและธรรมชาติในชนบท ถ้อยคำภาษาที่แต่งเป็นเนื้อร้องนั้น
ส่งสัมผัสคล้องจอง และเปรียบเทียบกับธรรมชาติแวดล้อม ดังเช่น
ชายหนุ่มในเพลงนี้เรียกสาวคนรักว่า "แม่ดอกโสนบ้านนา" และสาวก็เรียกหนุ่มคนรักว่า "พ่อดอกสะเดา"
|  | นักร้องลูกทุ่งแต่ละคน
มีลีลาการร้องในแบบของตนเอง และสำเนียงการร้องแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น
นักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงนั้น มีมากมายหลายยุคสมัย
ที่คนรุ่นใหม่พอจะเคยได้ยินชื่อ เช่น สมยศ ทัศนพันธ์ ผ่องศรี
วรนุช พุ่มพวง ดวงจันทร์ สายัณห์ สัญญา มนต์สิทธิ์
คำสร้อย จินตหรา พูนลาภ จักรพรรณ์ อาบครบุรี
นักร้องลูกทุ่งที่หล่อหรือสวย และเสียงดี
จะมีผู้ฟังชื่นชอบและยกเป็นนักร้องในดวงใจ
โดยเรียกมิตรรักแฟนเพลงที่คอยติดตามมอบพวงมาลัยติดเงินรางวัล ครั้งละจำนวนมากนี้ว่า
"แม่ยก"
การจัดเวทีแสดงดนตรีลูกทุ่งนั้นนับว่าสวยงาม
ประดับด้วยดวงไฟหลากสี ทั้งนักร้องนักดนตรีแต่งชุดที่ออกแบบวิลิศมาหรา
จัดว่า เป็นหน้าเป็นตาของวง องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ คือ
หางเครื่องที่มีจำนวนมากกว่า ๑๐ คน ทั้งหนุ่มและสาว แต่งตัวนำสมัย
เต้นประกอบเพลงด้วยลีลาที่งดงาม และพร้อมเพรียง
การแสดงดนตรีและเพลงลูกทุ่งจึงเป็นที่นิยมของคนไทย
ช่วยสร้างความบันเทิงใจอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน |
|