โฮมินอยด์สมัยไมโอซีนตอนต้น - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 33
เล่มที่ ๓๓
เรื่องที่ ๑ สุนทรภู่
เรื่องที่ ๒ เพลงลูกทุ่ง
เรื่องที่ ๓ คลอง
เรื่องที่ ๔ วิวัฒนาการของมนุษย์
เรื่องที่ ๕ เซลล์เชื้อเพลิง
เรื่องที่ ๖ เปลือกโลกและหิน
เรื่องที่ ๗ อาหารกับโรคเรื้อรัง
เรื่องที่ ๘ การแพทย์แผนไทย
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๓ / เรื่องที่ ๔ วิวัฒนาการของมนุษย์ / โฮมินอยด์สมัยไมโอซีนตอนต้น

 โฮมินอยด์สมัยไมโอซีนตอนต้น
โฮมินอยด์สมัยไมโอซีนตอนต้น

ที่สำคัญ ได้แก่

โพรคอนซุล (Proconsul)

เป็นโฮมินอยด์สมัยไมโอซีนกลุ่มแรก และกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีการค้นพบ ค้นพบครั้งแรกโดย แมรี ลีกกี (Mary Leaky) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ต่อมา ก็มีผู้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ของโพรคอนซุลอีกในช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐ โดยเฉพาะในเขตประเทศเคนยาและยูกันดา ในทวีปแอฟริกา

ตัวอย่างชิ้นส่วนกะโหลกของโพรคอนซุล
ตัวอย่างชิ้นส่วนกะโหลกของโพรคอนซุล

โพรคอนซุลอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกาเมื่อ ๒๓ - ๑๗ ล้านปีมาแล้ว มีลักษณะผสมระหว่าง ลิงมีหางกับลิงไม่มีหาง ขาหน้ายาวกว่าขาหลังเล็กน้อย แสดงว่า มีการเคลื่อนไหวแบบเดินด้วยข้อนิ้ว (knuckle walking) อาศัยอยู่บนต้นไม้ แต่บางครั้ง ก็ลงมาเดินที่พื้นดิน อาหารหลักของโพรคอนซุล คงจะเป็นผลไม้ เนื่องจากพบว่า ฟันของโพรคอนซุลมีส่วนเคลือบฟันค่อนข้างบาง แสดงว่า กินอาหารที่นุ่ม ไม่แข็งมากนัก

โพรคอนซุล มีขนาดสมองใหญ่กว่าลิงไม่มีหางเล็กน้อย มีผู้ค้นพบกะโหลกเพศเมีย ที่มีปริมาตรสมองประมาณ ๑๖๗ ลูกบาศก์เซนติเมตร หน้ายื่นออกมาพอสมควร กระดูกเหนือเบ้าตาโปนขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นลักษณะที่พบในลิงไม่มีหางทุกชนิดในปัจจุบัน มีความแตกต่างระหว่างเพศผู้ และเพศเมีย อย่างชัดเจน ฟันมีลักษณะคล้ายกับฟันของลิงไม่มีหางในทวีปแอฟริกาปัจจุบัน เคยมีผู้เสนอว่า โพรคอนซุลเป็นบรรพบุรุษของชิมแปนซี และกอริลลา

อะโฟรพิเทคัส (Afropithecus)

เป็นลิงไม่มีหางสมัยไมโอซีนตอนต้นอีกสกุลหนึ่งที่พบในทวีปแอฟริกาตะวันออก เช่น ประเทศเคนยา รวมทั้งในเขตประเทศซาอุดีอาระเบียปัจจุบัน ซึ่งในอดีตเป็นส่วนหนึ่ง ของทวีปแอฟริกา กำหนดอายุอยู่ระหว่าง ๒๐ - ๑๗ ล้านปี มาแล้ว นักวิชาการตั้งชื่อซากดึกดำบรรพ์ที่พบในซาอุดีอาระเบียว่า เฮลิโอพิเทคัส (Heliopithecus)

นักวิชาการบางคนเชื่อกันว่า อะโฟรพิเทคัส มีวิวัฒนาการมาจาก อียิปโตพิเทคัส เพราะลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกันมาก เพียงแต่ อะโฟรพิเทคัส มีขนาดรูปร่างใหญ่กว่าเท่านั้น

อะโฟรพิเทคัส มีการปรับตัวทางร่างกายให้เข้ากับอาหารที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น ฟันและขากรรไกรที่ใหญ่หนา และชั้นสารเคลือบฟันก็หนา แสดงว่า ต้องมีการบด และเคี้ยวอาหารที่แข็ง นักวิชาการสันนิษฐานว่า สภาพแวดล้อมที่ อะโฟรพิเทคัส อาศัยอยู่ คือ เป็นป่าโปร่งปนทุ่งหญ้าเหมือนกับสภาพแวดล้อมของโพรคอนซุล แต่มีสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งกว่า และมีพืชพรรณหลากหลายกว่า

โมโรโตพิเทคัส (Morotopithecus)

เป็นลิงไม่มีหางสมัยไมโอซีนตอนต้น อายุประมาณ ๒๑ - ๒๐ ล้านปีมาแล้ว พบซากดึกดำบรรพ์ในประเทศยูกันดา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๖ มีลักษณะคล้ายกับลิงไม่มีหาง สมัยไมโอซีนตอนต้นที่พบในที่อื่นๆ เช่น มีฟันเรียงกันเป็นแถวคู่ขนาน ฟันหน้าซี่กลางค่อนข้างแคบ

โมโรโตพิเทคัส มีน้ำหนักตัวประมาณ ๔๐ กิโลกรัม หรือหนักพอๆ กับชิมแปนซีตัวเมีย ลักษณะการเคลื่อนย้ายคงจะคล้ายกับอุรังอุตัง เพราะกระดูกส่วนเข่าและไหล่ หนาเกือบเท่ากัน แสดงว่า โมโรโตพิเทคัส เดินสี่ขา กล่าวกันว่า โมโรโตพิเทคัส เป็นตัวแทนของโฮมินิดส์ที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีลักษณะร่างกายที่พัฒนาขึ้นใหม่ ร่วมกับลิงไม่มีหางและมนุษย์
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป