สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 33
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๓ / เรื่องที่ ๖ เปลือกโลกและหิน / บทนำ
บทนำ
อาจกล่าวได้ว่า
โลกของเราเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตมากมาย
เมื่อเปรียบเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะ ปัจจุบัน
ความก้าวหน้าทางวิทยาการ
ทำให้มนุษย์เข้าใจเรื่องราวที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่เมื่อเปรียบเทียบความรู้
ในเรื่องสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัวเราบนพื้นผิวโลก
กับสิ่งไม่มีชีวิตลึกลงไปใต้ผิวโลกแล้ว
เรายังมีความรู้เกี่ยวกับใต้พื้นผิวโลกน้อยมาก
และยิ่งลึกลงไปใต้พื้นผิวโลกมากเท่าใด นักวิชาการก็ยิ่งให้ความกระจ่าง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้น้อยลงตามลำดับ ทั้งนี้ เพราะเรื่องราวใต้พื้นผิวโลก
เป็นสิ่งที่มนุษย์มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือ
ชนิดที่สลับซับซ้อน และมีราคาแพงเข้ามาช่วยตรวจสอบ แต่ข้อมูลที่ได้มานี้
ก็เป็นเพียงส่วนน้อย ของโลก คือ ลึกลงไปเพียงไม่เกิน ๑๐๐ กิโลเมตร
จากผิวโลก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรัศมีของโลก ประมาณ ๖,๓๗๐ กิโลเมตร
จะเห็นได้ว่า ยังมีสิ่งที่เราไม่ทราบอีกมากเกี่ยวกับใต้พื้นผิวพิภพ
เรื่องราวที่นักวิชาการด้านธรณีวิทยาได้รวบรวมไว้ส่วนใหญ่เป็นเพียงชั้นนอกสุดของโลก
ที่เรียกว่า เปลือกโลก (crust) ซึ่งห่อหุ้มส่วนที่เรียกว่า เนื้อโลก
(mantle) และ แก่นโลก (core) เอาไว้ อย่างไรก็ตาม
เปลือกโลกเป็นส่วนที่มนุษย์ให้ความสำคัญ
เพราะเป็นแหล่งสะสมทรัพยากรแร่ที่มีค่า ไม่ว่าจะเป็นแหล่งแร่โลหะ
แหล่งถ่านหิน หรือแหล่งปิโตรเลียม
และเป็นจุดเริ่มต้นที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาเรื่อยมา
จนเกิดเป็นสาขาวิชาหนึ่ง เรียกว่า ธรณีวิทยา (geology)
ซึ่งหมายถึง วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับโลก โดยครอบคลุมถึงประวัติของโลก
สสารที่เป็นองค์ประกอบของโลก และสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลก
คำนี้มีความหมายใกล้เคียงกับอีกคำหนึ่ง คือ คำว่า วิทยาศาสตร์โลก
หรือพิภพศาสตร์ (earth science) ซึ่งรวมธรณีวิทยา และศาสตร์อื่นๆ ได้แก่
ปฐพีวิทยา (pedology - วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับดิน) อุทกวิทยา (hydrology -
วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับน้ำ) และอุตุนิยมวิทยา (meteorology -
วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอากาศ) เข้าไว้ด้วยกัน |
|