สำหรับเด็กระดับเล็ก - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 33
เล่มที่ ๓๓
เรื่องที่ ๑ สุนทรภู่
เรื่องที่ ๒ เพลงลูกทุ่ง
เรื่องที่ ๓ คลอง
เรื่องที่ ๔ วิวัฒนาการของมนุษย์
เรื่องที่ ๕ เซลล์เชื้อเพลิง
เรื่องที่ ๖ เปลือกโลกและหิน
เรื่องที่ ๗ อาหารกับโรคเรื้อรัง
เรื่องที่ ๘ การแพทย์แผนไทย
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๓ / เรื่องที่ ๘ การแพทย์แผนไทย / สำหรับเด็กระดับเล็ก

 สำหรับเด็กระดับเล็ก ฟังเสียงอ่าน => บันทึกเสียง
มนุษย์ทุกคนล้วนเกิด แก่ เจ็บ ตาย การเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตั้งแต่เราเกิดมาจนแก่เฒ่า และตายไป ในสมัยโบราณคนไทยได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา หรือบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น โดยการลองผิดลองถูก อาจเริ่มต้นจากการบีบนวดบริเวณที่เจ็บปวดตามร่างกาย แล้วสามารถทำให้ผ่อนคลายหรือหายจากความเจ็บปวดได้ หรือโดยการสังเกตผลจากการกินพืช ส่วนของพืช ผัก ผลไม้บางชนิด ตลอดจนสัตว์หรือส่วนของสัตว์ ซึ่งทำให้บรรเทาหรือหายจากความเจ็บป่วยได้ ประสบการณ์เหล่านี้ค่อยๆ ถูกสะสมไว้ แล้วถ่ายทอดสืบต่อกันมา จากคนรุ่นหนึ่ง สู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนมาถึงปัจจุบัน ความรู้ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เมื่อได้ผ่านการรวบรวม วิเคราะห์ สรุป และจัดให้เป็นระบบ หรือเป็นหมวดหมู่ กลายเป็นระบบการแพทย์แบบดั้งเดิมของคนไทย ซึ่งในสมัยก่อนเรียกกันว่า การแพทย์แผนโบราณ แต่ปัจจุบันนิยมเรียกเป็น การแพทย์แผนไทย
วิถีชีวิตของคนไทยในสมัยโบราณ หรือแม้กระทั่งในสังคมชนบทยุคปัจจุบันบางแห่ง ล้วนเกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย โดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ได้ สมาชิกในครอบครัวหนึ่งๆ อาจผูกพันกับการแพทย์แผนไทยตั้งแต่แรกเกิด ไม่ว่าจะเป็นการคลอดกับหมอตำแย ซึ่งเป็นสมาชิกในชุมชนที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำคลอด รวมทั้งการดูแลสุขภาพของมารดาและทารกหลังคลอด ซึ่งมีข้อพึงปฏิบัติ ข้อห้าม หรือข้อพึงระวัง สำหรับทั้งมารดาและเด็ก เช่น การให้มารดานอนใกล้ไฟในระยะหลังคลอดใหม่ๆ ที่เรียกกันว่า การอยู่ไฟ เมื่อเด็กเริ่มเติบโตขึ้น มีการเจ็บป่วย ก็มักดูแลรักษาด้วยการต้มยาหรือฝนยาให้กิน การกวาดลิ้นด้วยยา รวมถึงการระวังไม่ให้กินอาหารบางอย่างบางประเภท ในระหว่างเจ็บป่วย ความรู้เหล่านี้ ได้รับการเรียนรู้ และปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องทำงานในท้องไร่ท้องนา ก็มักมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ปวดเอว ปวดหลัง เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ หากอาการไม่รุนแรงมากนัก ก็มีการดูแลรักษากันเอง โดยหมอที่อยู่ในชุมชนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการนวด เพื่อให้ผ่อนคลายจากความเมื่อยล้า หรือการนวดโดยหมอนวด เพื่อบำบัดรักษาโรค หรืออาการบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น ปวดเอว หรือการประคบด้วยลูกประคบสมุนไพร เพื่อให้ผ่อนคลายจากความปวดเมื่อย รวมทั้งการใช้ยาสมุนไพร หรือการรักษา ด้วยวิธีการอื่นๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น

สิ่งเหล่านี้
ล้วนจัดเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญา
การแพทย์แผนไทยทั้งสิ้น 
หัวข้อถัดไป